Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 22 November 2021
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในยุโรป และอุปทานที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มจากการระบายน้ำมันจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์จากสหรัฐฯ และจีน
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 74-81 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 76-82 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (22 - 26 พ.ย. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเล็กน้อย หลังตลาดได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในทวีปยุโรปที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ในขณะที่อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯและจีนมีการหารือเกี่ยวกับการปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองน้ำมันดิบเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อพยายามผ่อนคลายราคาน้ำมันดิบที่อยู่ระดับสูง อย่างไรก็ตาม ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันยังคงได้รับแรงหนุนจากการเปิดประเทศในทวีปเอเชีย และราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว ประกอบกับอุปทานก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่องจากปัญหาข้อพิพาทบริเวณชายแดนประเทศเบราลุส
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันในทวีปยุโรป สิ้นสุด ณ วันที่ 11 พ.ย.64 ปรับเพิ่มขึ้น 3.4 แสนราย หรือเพิ่มขึ้น 5% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในทวีปยุโรปมากกว่า 60% ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทั่วโลก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งส่งผลให้บางประเทศในยุโรป เช่น ออสเตรีย และ เยอรมันนี มีการเพิ่มมาตรการจำกัดกิจกรรมทางสังคมเพื่อลดอัตราการติดเชื้อในประเทศ กดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน
- ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการเปลี่ยนเชื้อเพลิงมาใช้น้ำมันแทนที่ก๊าซธรรมชาติ หลังราคาก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงจากอุปทานก๊าซธรรมชาติในยุโรปที่มีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง โดยได้รับผลกระทบจากการที่ประธานาธิบดีเบลารุสพิจารณาปิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ส่งไปยังยุโรป เพื่อตอบโต้สหภาพยุโรปที่ขู่จะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าต่อเบลารุส จากปมข้อพิพาทบริเวณชายแดนเบลารุสและโปแลนด์
- กำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยบริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 5 พ.ย.64 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 แท่นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ไปอยู่ที่ 450 แท่น นอกจากนี้สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหิน (Shale Oil) จะปรับเพิ่มขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จาก 8.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ย.64 สู่ 8.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ธ.ค.64
- สหรัฐฯ และจีนมีการหารือร่วมกันเพื่อพยายามผ่อนคลายราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงใน Virtual Summit เมื่อวันที่ 16 พ.ย.64 หลังกลุ่มโอเปคปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ให้เพิ่มกำลังผลิตมากกว่าข้อตกลงเดิม โดยสหรัฐฯ มีการขอให้จีนพิจารณาระบายน้ำมันจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อคลายความตึงตัวของตลาด ล่าสุดสำนักงานอาหารและปัจจัยสำรองแห่งชาติจีน เปิดเผยว่ากำลังเตรียมการระบายน้ำมันดิบออกจากคลังตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ
- สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2564 ซึ่งในรายงานฉบับประจำเดือน พ.ย.64 ปริมาณความต้องการทรงตัวจากฉบับเดือน ต.ค.64 โดย IEA คาดความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับกับปีก่อนหน้า แตะระดับเฉลี่ยที่ 96.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม IEA คาดว่าตลาดน้ำมันโลกกำลังเข้าสู่ภาวะเกินดุลจากอุปทานที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นจากกลุ่มโอเปคพลัสและสหรัฐฯ ในขณะที่การฟื้นตัวของอุปสงค์ถูกกดดันจากเชื้อโควิด-19 ในยุโรปที่กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง
- อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือน ต.ค.64 ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และแตะระดับสุงสุดในรอบมากกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 1990 ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดจึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดมากกว่า 16 เดือน จากการแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้การลงทุนในสัญญาถือครองน้ำมันดิบมีความน่าสนใจน้อยลง สำหรับนักลงทุนที่ถือครองค่าเงินสกุลอื่น
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีน ผลิตภัณฑ์มวลรวมสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 3 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมกลุ่มยูโรโซน เดือน พ.ย.64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหราชอาณาจักร เดือน พ.ย.64
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 - 19 พ.ย. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.69 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 76.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 3.28 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 78.89 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 81.07 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าคาด อย่างไรก็ตาม อุปสงค์น้ำมันยังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในเอเชียหลังมีการคลายล็อกดาวน์ในหลายประเทศ นอกจากนี้ราคาน้ำมันยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 12 พ.ย.64 ที่ปรับตัวลดลงกว่า 2.1 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล