“สกพอ.-ไอซีบีซี”ดึงทุนจีน เล็งโรดโชว์ดันความเชื่อมั่น
การลงทุนของนักธุรกิจจีนในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งภาครัฐมีแผนที่จะชักจูงการลงทุนจากนักธุรกิจจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) การสร้างความร่วมมือและส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับธนาคารซีไอบีซี เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2564 เพื่อเร่งรัดการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งเพิ่มโอกาสทางการเงินและการจูงใจเอกชนร่วมลงทุนนวัตกรรมใหม่ในอีอีซี
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สกพอ.และ ไอซีบีซี ในครั้งนี้ เป็นการต่อสัญญาความตกลงฉบับที่ 2 จากเดิมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมต่อกับนักลงทุนชาวจีนและสร้างความรับรู้เกี่ยวกับพื้นที่อีอีซี โดยในความร่วมมือครั้งนี้จะมีระยะเวลา 3 ปี เพื่อต่อยอดการลงทุนเดิมที่มีอยู่ นำไปสู่การสร้างความร่วมมือและสนับสนุนกิจกรรมเพิ่มเติมที่สำคัญๆ จากทั้งสองฝ่าย ได้แก่
1.การสร้างโอกาสทางธุรกิจ ส่งเสริมการลงทุน และอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในพื้นที่อีอีซี ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สถานการณ์ตลาด นโยบายที่สำคัญจากภาครัฐ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากภาคเอกชนที่มีศักยภาพ การสนับสนุนให้คำปรึกษาและให้บริการทางด้านการเงินของธนาคารไอซีบีซี รวมถึงสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
2.การส่งเสริมการลงทุนและสร้างโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ในพื้นที่อีอีซี ต่อยอดการลงทุนให้กับภาคเอกชนไทยผ่านการสนับสนุนของธนาคารไอซีบีซี อำนวยความสะดวกการให้คำปรึกษา และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนร่วมกัน กระชับความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนจีนและไทย เพื่อขยายโอกาสการลงทุนในพื้นที่อีอีซีได้อย่างต่อเนื่อง
“ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพให้นักลงทุนเกิดความคล่องตัว เพิ่มโอกาสการลงทุนเพื่อยกระดับการแข่งขัน โดยจะมีการร่วมกันพัฒนาการบริการทางการเงินมากกว่าการให้เงินกู้ อาทิ การออกกองทุนรวมตราสารทุน การประกันภัยเชิงธุรกิจ”
นอกจากนี้ จะช่วยเสริมศักยภาพขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ผลักดันให้ก้าวสู่พื้นที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นเทรนด์สำคัญของโลกเพิ่มแรงจูงใจและรองรับธุรกิจที่จะมาลงทุนต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการลงทุนภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 4 แกนธุรกิจ ได้แก่
1.อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์
2.อุตสาหกรรมดิจิทัล
3.Decarbonization ซึ่งครอบคลุมเรื่องยานยนต์สมัยใหม่หรือ EV ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Smart Mobility
4.อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงกับแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน (Green and Circular Economy)
“เทคโนโลยีจากจีนมีการพัฒนามาไกลตั้งแต่ที่เราเคยทำข้อตกลงกับอาลีบาบาเรื่องเทคโนโลยีการกระจายสินค้า จนปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวไปไกลถึงเรื่อง 5G Robotic การวิเคราะห์ Big Data จีโนมิกส์ โซลาร์เซลล์ เทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นการลงทุนในยุคใหม่ที่ไทยต้องการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ โดยตั้งเป้าให้อนาคตมีการจับกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี”
ทั้งนี้ สกพอ.ได้เล็งเห็นเทรนด์การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตที่เกิดขึ้นของนักลงทุนจีนรวมถึงบริษัทต่างชาติในจีน โดยในปี 2565 เมื่อจีนเริ่มเปิดประเทศแล้ว วางแผนว่าจะมีการรุกตลาดจีนมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือมาลงทุนในอีอีซี ซึ่งจะให้ความสำคัญกับสิทธิประโยชน์ในเรื่องที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ การอำนวยความสะดวกนักลงทุน การนำเข้าผู้เชี่ยวชาญ การพาผู้ติดตามเข้ามา
นอกจากนี้ จะมีการขยายสิทธิประโยชน์การลงทุนมากขึ้นในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ ได้แก่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา (EECmd) และเขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) เพื่อให้เกิดการลงทุนและเคลื่อนย้ายด้านเทคโนโลยีให้เร็วที่สุด
นายเสี่ยวปอ หลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารไอซีบีซี กับสกพอ.ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของธนาคารในการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ที่เป็นความร่วมมือต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 จากการที่ธนาคารไอซีบีซี ประเทศจีน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน โดยพร้อมจะทำหน้าที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน ส่งเสริมนักลงทุนที่มีศักยภาพให้เข้ามาร่วมลงทุนในพื้นที่อีอีซี
รวมไปถึงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่นักลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มบริษัทจากประเทศจีนที่มีความสนใจ ผ่านเครือข่ายของธนาคารไอซีบีซี ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน มีเครือข่ายสาขามากกว่า 16,000 แห่งทั่วประเทศจีนและเครือข่ายครอบคลุม 6 ทวีปทั่วโลก ทั้งยังมีฐานลูกค้า Corporate ณ เดือนมิถุนายน 2564 มากกว่า 9.24 ล้านราย รวมทั้งธนาคารจะให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้พื้นที่อีอีซี
พร้อมกันนี้ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เป็นธนาคารชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทย หรือ RMB Clearing Bank in Thailand จะทำให้ธนาคารมีศักยภาพในการให้บริการผลิตภัณฑ์และธุรกรรมเงินหยวนที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ พร้อมที่จะตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุนชาวจีนได้อย่างครบถ้วน
รายงานข่าวจากการนิคมอุตสาหกรรมประเทศไทย (กนอ.) ระบุว่า การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) มียอดขายและเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี 9 รวม 932.4 ไร่ ทั้งนี้ การลงทุนมีการชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบ แต่คาดว่าแนวโน้มหลังจากนี้จะเพิ่มขึ้น