ส่องกลยุทธ์ “Affiliate Marketing” ช่องทางเพิ่มยอดขาย ที่นักการตลาดไม่ควรมองข้าม
ส่องกลยุทธ์การตลาดต้นทุนต่ำ “Affiliate Marketing” ที่จะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบสามารถเพิ่มยอดขายบนร้านค้าออนไลน์ได้มากขึ้น สร้างโอกาสจากยอดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 55.5 ล้านคนทั่วประเทศ
ในปัจจุบันกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตได้ถูกโยกย้ายมาให้อยู่บนออนไลน์มากยิ่งขึ้น การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิต ธุรกิจร้านค้าต่างให้ความสำคัญสำหรับการมีหน้าร้านในโลกออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางการขาย แถมยังลดต้นทุนการมีหน้าร้านออฟไลน์ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อสนามขนาดใหญ่ขึ้น ผู้เล่นก็มากขึ้น การแข่งขันก็ย่อมเข้มข้นขึ้นไปด้วย
หนึ่งในกลยุทธ์การขายที่กำลังมาแรงมากในตอนนี้ ก็คือ “Affiliate Marketing” ที่หลายๆ ธุรกิจเลือกใช้ เพราะสามารถเพิ่มโอกาสการขายได้เป็นกอบเป็นกำแบบไม่ต้องลงทุนมาก เห็นได้จากตัวเลขเม็ดเงินของ Affiliate Marketing ในประเทศไทยปี 2563 สูงราว 224 ล้านบาท
- “Affiliate Marketing” คืออะไร?
ในจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 55.5 ล้านคนทั่วประเทศ และมีการใช้งานโซเชียลมีเดียสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 78% ของผู้ใช้งานทั้งหมด นอกจากจะเป็น “ผู้เสพ” คอนเทนท์แล้ว คนเหล่านี้ก็เป็น “ผู้ผลิตคอนเทนท์” ไปด้วยในตัว
นี่คือ “โอกาส” ที่ธุรกิจต่างๆ หยิบมาใช้เป็นหนึ่งในช่องทางการขายใหม่ เพราะ
เรามักจะคุ้นชินกับการรีวิวสินค้าในโซเชียลมีเดีย บางอย่างเราอาจจะยังไม่มีความต้องการซื้อ แต่เมื่อเห็นข้อความในโพสต์หรือทวีตรีวิว กลับรู้สึกมันจำเป็นหรือเราควรจะมีไปเสียอย่างนั้น เมื่อเราสนใจสินค้าในรีวิวพออ่านมาจนจบเราจะเห็นการแนบลิงค์ที่จะนำไปสู่หน้าการขายสินค้า ทำให้เรารู้สึกง่ายและสะดวก เพราะไม่ต้องไปตามหาสินค้าเอง แต่ความสะดวกที่ว่านี้แหละคือการตลาดของผู้ขาย หรือที่มีชื่อเรียกว่า “Affiliate Marketing”
กลยุทธ์การตลาดในรูปแบบดังกล่าว คือ การเพิ่มการมองเห็นสินค้าในโซเชียลมีเดีย เนื่องจากในหลายๆ ครั้งด้วยสินค้าที่มากมายในตลาด จึงต้องทำให้ผู้ซื้อรู้จักสินค้าของตนให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้า
เจ้าของสินค้าที่ใช้กลยุทธ์นี้มักจะทำงานร่วมกับ Influencer (โดยมากเป็น micro influencer) รวมถึง Content creator ซึ่งจะต้องทำการรีวิวและสร้างลิงค์ไว้เพื่อนำผู้ที่เข้ามาดูรีวิวสามารถคลิกไปยังหน้าต่างการซื้อสินค้าหรือหน้าเว็บใดๆ ที่เจ้าของสินค้าต้องการได้
เมื่อเกิดการซื้อขายสินค้าหรือมีกิจกรรมใดที่ผู้ว่าจ้างตั้งเป็นเป้าหมายไว้ ก็จะได้รับค่าตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งจะมี 3 ลักษณะหลักๆ คือ
Pay Per Sale (PPS) > จ่ายเงินเมื่อมีการขายสินค้าเกิดขึ้น โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขายสินค้า/บริการ หรือให้ผลตอบแทนเป็นตัวเงิน เช่น ขายสินค้าได้ 1 ออเดอร์ จะได้ค่าคอมมิชชั่นอยู่ที่ 20 บาท เป็นต้น
Pay Per Lead (PPL) > จ่ายเงินให้เมื่อมีคนมาสมัคร หรือ ลงทะเบียนผ่านลิงก์ เช่น สมัครบัตรเครดิต สมัครประกัน เป็นต้น
Pay Per Click (PPC) > จ่ายเงินให้เมื่อมีคนคลิกเข้าไป ไม่ว่าจะขายสินค้าได้หรือไม่ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าการรีวิวที่เป็น Affiliate Marketing นั้นจะเป็นการค้าไปเสียทั้งหมดจนเชื่อไม่ได้ เพราะหลายครั้งเราก็ได้รู้จักสินค้าใหม่จากการตลาดในลักษณะนี้ แต่สิ่งที่เราต้องทำเพิ่มเติมเมื่อเห็นการรีวิวคือ การหาข้อมูลเพิ่มเติมของสินค้านั้น ยิ่งเป็นสินค้ามีมูลค่าสูง เรายิ่งต้องมีข้อมูลเพื่อให้ไตร่ตรองให้มากขึ้น
สำหรับเจ้าของสินค้า การใช้กลยุทธ์นี้จะทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับทำการตลาดต่ำลง เพราะหากตกลงจะจ่ายเงินเมื่อมีการสั่งสินค้าจากลิงค์ ก็เท่ากับว่าจะเกิดต้นทุนทางการตลาดก็ต่อเมื่อมีการขายสินค้าได้แล้ว ซึ่งเป็นการรับประกันว่าต้นทุนตรงนี้จะนำมาซึ่งรายได้
- เทรนด์ “Affiliate Marketing” ในไทย
Affiliate Marketing นับเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยมีการใช้จ่ายในการการตลาดดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2563 มีการใช้จ่ายสูงถึง 2.1 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในปี 2564 นี้จะมีมูลค่าอยู่ที่ 2.24 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 6.6%
แม้ว่ากลยุทธ์ Affiliate Marketing จะพึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปี แต่ก็ได้ถูกนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในปีที่ผ่านมา มีการทำ Affiliate Marketing สูงถึง 224 ล้านบาท หรือกว่า 1% ของมูลค่าใช้จ่ายในการตลาดดิจิทัลทั้งหมด และในปีนี้ก็คาดว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นมากกว่านี้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์นี้ในไทยยังมีทิศทางที่สามารถเติบโตได้มากขึ้นไปกว่านี้ เนื่องจากมีฐานผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึง 55.5 ล้านคน หรือกว่า 79% ของประชากรไทย โดยในปี 2564 มีผู้ใช้ใหม่กว่า 1 ล้านคน และคาดว่าจะยังมีผู้ใช้ใหม่เพิ่มขึ้นอีก แม้จะไม่มากเท่าปีนี้ก็ตาม
นอกจากนั้น ข้อมูลทางสถิติจาก Google Trends โดยระหว่างปี 2558 ถึง 2563 มีการค้นหาเกี่ยวกับ Affiliate Marketing เพิ่มขึ้นถึง 200% จึงนับเป็นหนึ่งในช่องทางทำการตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการในไทย
อ้างอิง