สัญญาณการลงทุนฟื้น นิคมฯลุยดึงบริษัทต่างชาติ
ส.อ.ท. เผยแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี มาตรการส่งเสริมลงทุน หนุนไทยยังน่าลงทุนในสายตาต่างชาติ เอกชนมั่นใจเปิดประเทศยอดขายที่ดินนิคมฯ โตต่อเนื่องปี 65 ปีนี้คาดดีกว่าเป้าสูงสุด 20%
การเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.2564 ได้สร้างควมเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางเข้ามาเจรจาธุรกิจรวมถึงดูพื้นที่การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งต่างจากช่วงล็อคดาวน์ที่มีข้อจำกัดการเข้ามาดูพื้นที่การลงทุน
สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การเปิดประเทศช่วยกระตุ้นการลงทุนเมื่อนักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัวตามเงื่อนไข สามารถเข้ามาดูโครงการต่างๆ ส่งผลให้การเจรจาธุรกิจเป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยเสนอให้ภาครัฐขยายจำนวนประเทศที่เดินทางเข้ามาได้เพิ่มเติม
นอกจากนี้ การเปิดประเทศยังทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น จากตัวเลขการฉีดวัคซีนของประชากรในประเทศที่เพิ่มขึ้นและจำนวนผู้ป่วยที่ลดลง รวมถึงโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐที่ยังคงดำเนินการตามปกติโดยเฉพาะโครงการพัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อาทิ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา การพัฒนาด้านโลจิสติกส์
อย่างไรก็ตาม ทิศทางการลงทุนในปี 2565 มีเรื่องน่ากังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า และต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุนในสายตาของต่างชาติ เพราะมีลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคค่อนข้างมาก
จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นักลงทุนที่ติดต่อกันไว้แล้วเริ่มเดินทางเข้ามาได้ ทำให้การตัดสินซื้อและโอนที่ดินง่ายขึ้นโดยในปี 2564 คาดการณ์ว่ายอดขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยของดับบลิวเอชเอน่าจะเพิ่มขึ้น 10-20% กว่าเป้าที่เคยตั้งเอาไว้ที่ 750 ไร่
ทั้งนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และคอนซูเมอร์ โดยเกินครึ่งเป็นชาวจีนและที่เหลือเป็นสหรัฐและยุโรป ส่วนคาดการณ์ในปี 2565 มั่นใจว่ายอดขายที่ดินจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งดับบลิวเอชเอกำลังจัดทำประมาณการ
ขณะที่มุมมองของวิจัยกรุงศรี เผยว่า ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในปี 2564-2566 มีแนวโน้มเติบโต หลังจากหดตัวอย่างรุนแรง 6.1% ในปี 2563 ซึ่งเป็นไปตามการฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องโดยปี 2564 จะเติบโตถึง 2% และขยายตัวต่อเนื่องเป็น 4% และ 3% ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวไปในทิศทางเดียวกัน โดยยอดขายและเช่าที่ดินจะขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปี ด้วยปัจจัยสนับสนุน ดังนี้
1.ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งแผนทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวช่วยหนุนให้เกิดการเดินทางเพื่อธุรกิจมากขึ้น เช่น เดินทางเพื่อมาดูสถานที่ตั้งโรงงาน การเจรจาธุรกิจ การเซ็นสัญญา เป็นต้น
ทั้งนี้ การดูพื้นที่จริงถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการตัดสินใจลงทุนเพราะผู้ประกอบการต้องการศึกษาสภาพแวดล้อมโดยรอบ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้น จากที่สถิติในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่มีมูลค่าการลงทุนโยตรงจากต่างประเทศ 372,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 220% โดยส่วนใหญ่เป็นหมวดบริการและสาธารณูปโภค รองลงมาเป็นหมดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
2.ผู้ประกอบต่างชาติมีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตมาไทยมากขึ้น เป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และการปรับโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานให้มีความยืดหยุ่นต่อเหตุการณ์ไม่คาดฝัน (Resilient Supply Chain) อาทิ นักลงทุนจากจีนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมด้านไอที จากญี่ปุ่นมีกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและจากมาเลเซียกลุ่มฮาร์ดดิสก์
3.มาตรการกระตุ้นการลงทุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะสิทธพิเศษด้านภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุน และการปรับแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจน่าจะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น อาทิ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 13 ปี จากเดิม 8 ปี และลดหย่อนภาษี 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี และมาตรการจูงใจอื่นในช่วงโควิด-19 เช่น การขยายเวลาชำระคืนภาษี
ในขณะที่การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมีความคืบหน้าต่อเนื่องในรูปแบบ Smart Park เพื่อเพิ่มความทันสมัยด้านเทคโนโลยีการผลิต ระบบการขนส่ง ระบบการสื่อสาร ระบบพลังงาน ตลอดจนจนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนรายได้จากบริการสาธารณูปโภคที่มีความต่อเนื่องและแน่นอน เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของรายได้จากการขายที่ดิน
ทั้งนี้ รายได้ของผู้ประกอบการแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้ง ดังนี้ นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกมีแนวโน้มรายได้โตโดเด่นกว่าพื้นที่อื่น อีกทั้งคาดว่าความต้องการซื้อและเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมจะขยายตัวในเกณฑ์ดี ด้วยอานิสงค์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนอีอีซี ซึ่งดึงดูดความสใจของนักลงทุนไทยและต่างชาติ
ส่วนนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคกลางคาดว่ารายได้ยังเติบโตได้ดี จากการเก็บค่าสาธารณูปโภคและค่าเช่า ขณะที่การขยายตัวของพื้นที่ค่อนข้างจำกัดและกระจุกตัวในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา และสระบุรีเนื่องจากได้เปรียบด้านการขนส่ง