"เฮลท์ลีด" รับเทรนด์สังคมสูงวัย ดัน "ยา-อุปกรณ์แพทย์" โต
เมื่อเมืองไทยเข้าสู่เทรนด์ "สังคมสูงอายุ-คนรักสุขภาพ" เพิ่มหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลักดันตลาดยามูลค่านับ “แสนล้าน” เติบโต ! ถือเป็นสตอรี่บวกของ “หุ้น เฮลท์ลีด” ไอพีโอน้องใหม่ธุรกิจร้านขายยาตัวแรก เตรียมระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai วันที่ 3 ธ.ค.นี้ !
เทรนด์สังคมผู้สูงอายุที่ทำให้ “ผลิตภัณฑ์ยาและอุปกรณ์การแพทย์” เป็นที่ต้องการมากขึ้น ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดเทรนด์รักสุขภาพมายิ่งขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจดูแลตัวเอง ผลักดันธุรกิจอาหารเสริม-วิตามินเติบโต !!
สะท้อนผ่าน มูลค่าตลาดยาในประเทศไทยจากปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นโรงพยาบาลภาครัฐ 60% โรงพยาบาลภาคเอกชน 20% และร้านขายยาอีก 20% หากคิดเป็นมูลค่าเฉพาะยาและเวชภัณฑ์ที่จำหน่ายผ่านร้านขายยา คิดเป็น 3.5 หมื่นล้านบาท และมีทิศทางการเติบโตขึ้นทุกๆ ปี !!
และด้วยความเข้มงวดของกฎหมายที่มากขึ้น มีการออกกฎหมายวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน ในปี 2562 ซึ่งระบุว่าร้านขายยาทุกร้านจะต้องมีเภสัชกรประจำเท่านั้น รวมถึงจะต้องมีสถานที่และอุณหภูมิในการเก็บรักษายาที่เหมาะสมตามข้อกฎหมายกำหนด ส่งผลให้มีร้านขายยาต้องปิดตัวลงกว่า 5,000 แห่ง ทำให้คู่แข่งลดจำนวนลงไปมาก ขณะที่ตลาดมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สารพัด “ปัจจัยบวก” กำลังส่งผลดีให้หุ้นน้องใหม่ไอพีโอ บมจ. เฮลท์ลีด หรือ HL เป็น “ธุรกิจร้านขายยาค้าปลีก” ในรูปแบบ Chain Store รายแรก เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ประกอบธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ลงทุนในบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท ไอแคร์ เฮลท์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจหลักคือ ธุรกิจร้านขายยา จำหน่ายยา เวชภัณฑ์ เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อุปกรณ์การแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ
และ 2.บริษัท เฮลทิเนส จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจหลัก คือ คิดค้น และพัฒนาร่วมกับทีมวิจัยภายนอก รวมทั้งว่าจ้างผู้ผลิต เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ภายใต้ 2 แบรนด์ อาทิ PRIME และ Besuto
เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 72 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 9.80 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ 37.57 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท โดยจะเปิดให้จองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 25-26 และ 29 พ.ย. 2564 และ คาดเข้าซื้อขาย (เทรด) วันแรก 3 ธ.ค. 2564
ก่อนเริ่มธุรกิจของย้อนอดีต “จุดเริ่มต้น” ของบริษัทเริ่มตั้งแต่ “ภญ.มัทยา พันธุกานนท์” ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เคยผ่านประสบการณ์เป็นอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความตั้งใจที่จะก่อตั้งร้านขายยาซึ่งเป็นที่พึ่งของชุมชน และเป็นแหล่งที่เภสัชกรสามารถฝึกวิชาชีพได้อย่างแท้จริง
จึงเปิดร้านขายยา “มัทยาเภสัช” ขึ้นในปี 2540 และได้จัดตั้งเป็นบริษัท ไอแคร์ เฮลท์ จำกัด ในปี 2552 และต่อมาในปี 2561 ครอบครัวของ ภญ.มัทยา ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นเดิมของ บริษัท เฮลทิเนส และกลายมาเป็น บมจ.เฮลท์ลีด (HL) ที่เป็นลักษณะ Holding Company
“ธัชพล ชลวัฒนสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เฮลท์ลีดหรือ HL เล่าสตอรี่การเติบโตให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า การเข้าระดมทุนในครานี้ ! ถือเป็น “การปลดล็อก” การดำเนินธุรกิจให้สร้างการเติบโตระดับสูง เนื่องจากเงินระดมทุนจะขยายขีดความสามารถในการลงทุนนี่คือ “ธงผืนใหญ่” ซีอีโอย้ำให้ฟังเช่นนั้น
สะท้อนผ่านเงินระดมทุนจำนวน 60 ล้านบาท เพื่อนำไป ขยายสาขาปีละ 4-5 แห่ง ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นหลัก บนทำเลที่ดีมีศักยภาพสร้าง “รายได้และกำไร” อย่างต่อเนื่อง จากนั้นบริษัทก็จะกระจายให้ครอบคลุมไปทั่วเขตปริมณฑลและตามหัวเมืองที่สำคัญ ส่วนใหญ่ขนาดพื้นที่ต่อสาขาอยู่ที่ประมาณ 80-150 ตารางเมตร
ดังนั้น เมื่อมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมี 25 สาขา ก็จะผลักดันยอดขายเติบโต ทำให้ความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น และที่เหลือจำนวน 619.26 ล้านบาท ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมแห่งอนาคต
“การเข้าระดมทุนจะช่วยเพิ่มโอกาสการเติบโตของ HL ได้อีกมาก เพราะทำให้มีแหล่งทุนเพิ่มศักยภาพในการขยายสาขาได้ต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตในอนาคต โดยบริษัทฯตั้งเป้าที่จะขยายสาขาปีละ 4-5 แห่งในพื้นที่ของกทม.เป็นหลัก จากนั้นก็จะกระจายให้ครอบคลุมไปทั่วเขตปริมณฑลตามหัวเมืองที่สำคัญ”
สำหรับ HL เป็น Holding Company ธุรกิจด้านสุขภาพ สอดคล้องไปกับเทรนด์ผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน และยังมีเทรนด์ยุค New Normal ที่ผู้บริโภคเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพ มีการรับประทานอาหารเสริมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็มีจำหน่ายอยู่ในร้านขายยาเช่นกัน
โดย ณ ปัจจุบัน HL มีผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ รวมกว่า 10,000 รายการ โดยจำหน่ายผ่านแบรนด์ “ร้านขายยา” ทั้งหมด 25 สาขา “ภายใต้ 4 แบรนด์” ประกอบด้วย “แบรนด์ iCare” จำนวน 10 สาขา ทำเลที่ตั้งของร้านหลักๆ อยู่ตามแหล่งชุมชนใกล้ตลาด โดยกลุ่มลูกค้าจะเป็นผู้บริโภครายย่อยทั่วไป
“แบรนด์ PharmaX” จำนวน 11 สาขา เริ่มต้นจะเป็นแหล่งฝึกงานของนักศึกษา ดังนั้น ลักษณะจะเป็นวิชาชีพมาก เนื่องจากจะมีการสอบถามอาการของคนมาซื้อยา อีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้บริษัทสามารถ “ปิดจุดอ่อน” ในเรื่องของการหา “เภสัชกร” ประจำสาขาของบริษัทไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสาขา 25 แห่ง แต่มีเภสัชกรประจำทั้งหมด 50 ราย และมีเภสัชกรสำรองที่มีรายชื่อไว้เรียกประมาณ 200 ราย “เพราะเป้าหมายที่วางไว้เมื่อมาร้านขายยาของเราต้องเจอเภสัชกรตลอดเวลา”
“แบรนด์ vitaminclub” จำนวน 3 สาขา หลักๆ จะเปิดสาขาอยู่ในห้างสรรพสินค้า ด้วยชื่อแบรนด์ก็บ่งบอกว่าจับตลาดผู้บริโภคที่ต้องการหาอาหารเสริมต่างๆ และ “แบรนด์ Super Drug” จำนวน 1 สาขา กลุ่มลูกค้าเน้นคนที่ต้องการซื้อสินค้าจำนวนมาก ในราคาที่ถูกกว่า โดยจุดเด่นของแบรนด์ดังกล่าวจะเป็นร้านที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ขายจำนวนมาก
สำหรับ “จุดแข็ง” ของการดำเนินธุรกิจ นั่นคือ บริษัทดำเนินธุรกิจนี้มากว่า 20 ปีแล้ว แม้จะมีคู่แข่งเข้ามาในธุรกิจนี้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่-รายเล็ก แต่ก็ไม่ได้เติบโตมากนัก หรือ เพิ่มสาขาได้เกิน 100 สาขา เนื่องจากบริษัทนั้นๆ ไม่มีเภสัชกร แต่ในส่วนของ HL มีเภสัชกรประจำที่ร้านขายยา หากเป็นร้านขนาดใหญ่จะมีมากถึง 3 ราย เนื่องจากบริษัทเป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัย มีบุคคลากรเข้าไปสอนในมหาวิทยาลัยอีกด้วย จึงทำให้บริษัทมีเภสัชกรที่เป็นคนจ่ายยาจริงๆ ตลอดเวลา
ท้ายสุด “ธัชพล” บอกไว้ว่า มีแหล่งเงินทุนซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการต่อยอดธุรกิจผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง ทำให้ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะยาว