"อนุสรณ์ ธรรมใจ"ชี้ผลกระทบโควิด"โอไมครอน"ต่อเศรษฐกิจไทยระยะสั้นยังจำกัด
อนุสรณ์ ธรรมใจ ประเมินผลกระทบโควิดสายพันธุ์โอไมครอนต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินไทยจำกัด หากป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในประเทศ ขณะที่ไทยและแอฟริการมีมูลค่าการค้าระหว่างกันไม่มาก มองประกาศห้ามผู้เดินทาง 8 ประเทศแอฟริกาเข้าไทย ถือว่าตัดสินใจถูกต้องทันต่อสถานการณ์
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึง ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งตัวลงอย่างรุนแรง ราคาน้ำมันในตลาดโลกทรุดตัวลงอย่างมากเช่นเดียวกัน
ภาวะดังกล่าวเป็นผลจากความวิตกกังวลว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนอาจส่งผลต่อการแพร่ระบาดเช่นเดียวกับสายพันธุ์เดลตา ซึ่งอาจทำให้หลายประเทศเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่อีกระลอกหนึ่ง ส่งผลต่อการเดินทางระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวและกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องหยุดชะงักครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
การระบาดระลอกใหม่ของเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนทำให้การกระเตื้องและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทยอาจไม่เกิดขึ้นอย่างที่คาดการณ์ไว้เดิม แต่ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดการเงินไทยอย่างจำกัดในระยะแรก หากทางการไทยสามารถควบคุมไม่ให้เข้ามาระบาดในประเทศได้และองค์การอนามัยโลกและประเทศต่างๆ ได้ร่วมมือกันในการจำกัดการแพร่ระบาดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ให้อยู่ในเฉพาะ 6 ประเทศในแอฟริกา
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน หากการกลายพันธุ์นี้ทำให้ไวรัสสามารถเอาชนะวัคซีนป้องกันการติดเชื้อที่เรามีอยู่ขณะนี้ทั้งหมดได้ นั่นอาจหมายถึงความหายนะทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงทางด้านสุขภาพในระดับสูงสุด และระบบการป้องกันการแพร่ระบาดในหลายประเทศต้องพังทลายลงทันทีหากปล่อยให้มีการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ในประเทศ
แต่หากสามารถป้องกันไม่ให้สายพันธุ์ใหม่ระบาดในประเทศไทยได้ จะมีผลกระทบจำกัดมาก เพราะไทยมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนกับประเทศในแถบแอฟริกาใต้ 8 ประเทศน้อยมาก
โดย 8 ประเทศที่มีการแพร่ระบาดสายพันธุ์ใหม่ ประกอบไปด้วย
- ประเทศแอฟริกาใต้
- นามิเบีย
- บอตสวานา
- ซิมบับเว
- เลโซโท
- เอสวาตีนี
- โมซัมบิก
- มาลาวี
โดยประเทศแอฟริกาใต้ที่เป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทยในทวีปแอฟริกาก็มีมูลค่าการค้าโดยรวมเฉลี่ยประมาณกว่า 2,600 ล้านดอลลาร์เท่านั้น จำนวนนักท่องเที่ยวและการเดินทางระหว่างกันไม่มากนัก ผลกระทบต่อภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวของไทยโดยตรงมีจำกัดแต่จะกระทบตลาดการเงินจากความวิตกกังวลอันเป็นผลกระทบทางจิตวิทยาการลงทุนและผลกระทบจากการห้ามเดินทางที่ต้องการป้องกันไม่ให้สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” กลายพันธุ์แพร่ระบาดไปยังส่วนอื่นๆของโลกเหมือน “เดลตา” จากการกลายพันธุ์ในอินเดีย
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า หากสำรวจดูพบว่า การค้าระหว่างไทยกับประเทศในทวีปแอฟริกาในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2559-2563) มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 9,861 ล้านดอลลาร์เท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 0.50% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย และประเทศไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามาตลอด โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปแอฟริกา เช่น ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก
ทำให้การแพร่ระบาดระบาดระลอกใหม่ด้วยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในแอฟริกาจะไม่มีผลต่อสินค้าส่งออกเกษตรของไทยไปแอฟริกามากนัก แต่จะมีผลต่อสินค้าอุตสาหกรรมและรถยนต์มากกว่า ประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยในภูมิภาคแอฟริกาที่มีรายงานของการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ คือ แอฟริกาใต้ (ร้อยละ 27.59 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทยกับทวีปแอฟริกา) อียิปต์ (ร้อยละ 9.45)
โดยศูนย์กลางการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้อยู่ที่ประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งมีประชากรได้รับวัคซีนครบโดสเพียง 24% เท่านั้น ขณะนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่เพียง 77 คน แต่ตัวเลขนี้อาจไม่สะท้อนสถานการณ์แท้จริงเพราะระบบสาธารณสุขในแอฟริกาล้าหลัง หากทุกประเทศดำเนินการตามมาตรฐานสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดย่อมป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้กระจายไปทั่วโลกเหมือนสายพันธุ์เดลต้า
ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่งมีข่าวดีว่า บริษัท ไฟเซอร์, บริษัท ไบโอเทค, บริษัท โนวาแวค และบริษัทผลิตวัคซีนหลายแห่งได้เริ่มต้นวิจัยวัคซีนสูตรใหม่เพื่อเตรียมรับมือกับสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ซึ่งวัคซีนตัวใหม่พร้อมสำหรับการทดสอบและผลิตได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า คาดว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันน่าจะลดลงในช่วงนี้ รวมทั้งอาจไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ ประเทศสำคัญๆ ได้ประกาศห้ามการเดินทางจากแถบประเทศแอฟริกาใต้ 6-8 ประเทศในทันที ปัจจัยเหล่านี้น่าจะลดความตื่นตระหนกของนักลงทุนในตลาดการเงินได้ระดับหนึ่ง เพราะการแพร่ระบาดอาจถูกจำกัดวงอยู่ในเฉพาะกลุ่มประเทศในแอฟริกาใต้เท่านั้น และประเทศเหล่านี้หลายประเทศก็มีระดับการเปิดประเทศต่ำมาก ยกเว้นประเทศแอฟริกาใต้
รวมทั้ง ยังมีปัจจัยเชิงบวกอีกประการหนึ่ง ก็คือมีการเลือกตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นและอบต. ในวันที่ 28 พ.ย. นี้ หลังจากมีการแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นมา 8 ปี เมื่อมี อบต. ที่มาจากการเลือกตั้งแล้วการแก้ปัญหาในระดับพื้นที่จะดีขึ้น ตอบสนองต่อประชาชนมากขึ้น และต้องมีการกระจายอำนาจทางการคลังเพื่อให้ท้องถิ่นมีงบประมาณมากพอที่จะดูแลประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ได้
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะยังขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้โดยอาจขยายตัวต่ำกว่า 0.5% และการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีอาจไม่คึกคักอย่างที่คาด ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนตลาดหุ้นในช่วงต้นสัปดาห์น่าจะมีการกระเตื้องขึ้นบ้างหลังจากดิ่งลงแรงในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลง -2.3% เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก โดยตลาดหุ้นเยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ ปรับตัวลงกว่า 4% ตลาดหุ้นสหรัฐลงกว่า 2.5% โดยภาพรวมแล้วตลาดหุ้นเอเชียตอบสนองในทางลบต่อข่าวไวรัสกลายพันธุ์น้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ
เชื่อว่าเงินทุนจำนวนมากจะยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชีย และบางส่วนโยกมาลงทุนในตลาดทองคำ ตลาดพันธบัตรและตราสารหนี้มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง ตลาดการเงินโลกจะยังผันผวนรุนแรงในลักษณะเป็นขาลงไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่ตลาดพันธบัตรและราคาทองคำในช่วงนี้จะเป็นขาขึ้น ส่วนภาคเศรษฐกิจจริงและเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังไม่กระทบอะไรมากจนกว่าจะมีประเทศสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจประกาศล็อกดาวน์เพิ่มเติม
ขณะที่การประกาศห้ามไม่ให้ผู้เดินทางจาก 8 ประเทศในแอฟริกาเข้าไทยเป็นการตัดสินใจถูกต้องและทันต่อสถานการณ์ แต่ควรมีการดำเนินการมาตรฐานสาธารณสุขเข้มงวดเสริมขึ้นอีกสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศเพื่อลดโอกาสการนำเข้าเชื้อสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนจากชาวต่างชาติ
นอกจากนี้ยังไม่มีผลการศึกษาชัดเจนว่า วัคซีนที่มีอยู่สามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้ หากเกิดการระบาดในประเทศรอบใหม่จะกระทบต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจมากกว่าระลอกสาม หากทั่วโลกห้ามผู้เดินทางจาก 8 ประเทศอย่างเท่าทันต่อสถานการณ์และทำพร้อมๆ กัน โอกาสที่เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลกแบบสายพันธุ์เดลตาย่อมมีความเป็นไปได้น้อยมาก ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยย่อมอยู่ในวงจำกัด
รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่า รัฐบาลมีความจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อดูแลเศรษฐกิจด้วยมาตรทางการคลังเพิ่มขึ้น เพราะการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอาจล่าช้าออกไป การเดินทางระหว่างประเทศและการเปิดประเทศอาจมีอุปสรรคจากการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับการขยายเพดานหนี้จาก 30% เป็น 35% ในงบประมาณรายปีเพื่อนำไปจ่ายประกันรายได้ชาวนา เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อฐานะทางการคลังได้ในระยะต่อไป โดยขอให้ใช้วิธีตัดลดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็นออก โดยเฉพาะจากงบประจำ นำไปจ่ายโครงการประกันรายได้เกษตรกรแทน
และขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายประกันรายได้ที่อาจสร้างภาระทางการคลังแบบไม่มีเพดานได้หากราคาข้าวในตลาดยังคงปรับตัวลดลงจนรัฐบาลต้องจ่ายส่วนต่างจำนวนมาก รัฐบาลอาจต้องกำหนดเพดานว่าจ่ายได้เต็มที่เท่าไหร่เมื่อเทียบกับสัดส่วนงบประมาณ เนื่องจากประเทศก็จำเป็นต้องนำเงินงบประมาณไปใช้ในส่วนอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะงบประมาณทางด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชนที่อาจจะจำเป็นเฉพาะหน้าในเวลานี้ การจัดเตรียมวัคซีนให้เพียงพอสำหรับการระบาดระลอกใหม่และการลงทุนวิจัยวัคซีนและยารักษาโรคอุบัติใหม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม การลงทุนทางด้านสุขภาพถือว่าเป็นเงื่อนไขจำเป็น (Necessary Condition) ต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และในระยะยาวยังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ
การลงทุนทางด้านสุขภาพและและการลงทุนทางด้านการศึกษามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพราะผู้ที่มีการศึกษาดีมักมีความโน้มเอียงในการดูแลสุขภาพตัวเองได้ดี เนื่องจากผู้มีความรู้มักจะรักษาสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วยได้ดีกว่า การลงทุนให้ประชาชนมีสุขภาพดีเป็นการลงทุนที่สำคัญเช่นเดียวกับการลงทุนทางการศึกษา การมีสุขภาพที่ดีของประชาชนจะเกี่ยวข้องกับ
4 กิจกรรมที่ต้องใช้เงินงบประมาณสนับสนุน ได้แก่
- งานบริการสุขภาพ
- งานป้องกันโรค
- งานบริการส่งเสริมสุขภาพ
- งานฟื้นฟูสุขภาพ
ขณะนี้ประเทศไทยยังขาดงานวิจัยศึกษาเกี่ยวกับผลตอบแทนของการมีสุขภาพดีที่มีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมที่สามารถวัดได้ในเชิงปริมาณ หากมีข้อมูลงานวิจัยยืนยันก็จะปัจจัยชี้ถึงความจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมทางด้านสุขภาพ