ธ.ก.ส.เดินหน้ามาตรการสินเชื่อคู่ขนานพยุงราคาข้าววงเงินกว่า 3.5 หมื่นล้าน
ธ.ก.ส.เดินหน้าสินเชื่อพยุงราคาข้าวกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ผ่านสินเชื่อชะลอการขาย 2 หมื่นล้าน และสินเชื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม 1.5 หมื่นล้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและชะลอการขายข้าวเปลือกออกสู่ตลาด เริ่มจ่ายเงินกู้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้เร่งดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว ไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ
โดยมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการคู่ขนานกับการประกันรายได้ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว วงเงินสินเชื่อรวม 20,401 ล้านบาท ไม่คิดดอกเบี้ยกับเกษตรกร ตั้งเป้าดูดซับปริมาณข้าวเปลือก 2 ล้านตัน
ซึ่งประกอบด้วย ชนิดข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 และข้าวเปลือกเหนียว
คุณสมบัติข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นข้าวเปลือกที่มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกิน 2% และสีได้ต้นข้าวไม่ต่ำกว่า 20 กรัม โดยในส่วนข้าวหอมมะลิจะมีเมล็ดข้าวแดงได้ไม่เกิน 0.5% (ไม่เกิน 22 เมล็ดใน 100 กรัม)
กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตัน ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด 11,000 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด 9,500 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 5,400 บาท/ตัน ข้าวหอมปทุมธานี 1 7,300 บาท/ตัน และข้าวเหนียว 8,600 บาท/ตัน
โดยเกษตรกร กู้ได้รายละไม่เกิน 300,000 บาท สหกรณ์การเกษตรและชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท กรณีชำระคืนภายใน 5 เดือน ไม่มีดอกเบี้ย (รัฐบาลรับภาระจ่ายแทน)
นอกจากนี้ ยังมีการช่วยเหลือค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกหลักประกัน 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรเก็บข้าวเอง ได้รับ 1,500 บาทต่อตัน กรณีเกษตรกรฝากข้าวกับสถาบันเกษตรกร เกษตรกรจะได้รับ 500 บาทต่อตัน และสถาบันฯจะได้รับ 1,000 บาทต่อตัน ระยะเวลาจัดทำสัญญาตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 กรณีภาคใต้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง 31 กรกฎาคม 2565
นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65 วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท สำหรับสหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก เกษตรกรทั่วไป และมีคุณสมบัติตามที่กำหนดวงเงินกู้สำหรับสหกรณ์การเกษตรแห่งละไม่เกิน 300 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 20 ล้านบาท และวิสาหกิจชุมชนแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ซึ่งคิดจากสถาบันฯ เพียง 1% ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลรับภาระแทน ระยะเวลาจ่ายสินเชื่อ ตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 กันยายน 2565