‘โอไมครอน’ เบรกท่องเที่ยวไทย เลื่อนใช้ ATK แทน RT-PCR
ไวรัสโควิดกลายพันธุ์ “โอไมครอน” เป็นเหตุ รัฐบาลทบทวนมาตรการผ่อนปรน “เปิดประเทศ” จำเป็นต้องเลื่อนกำหนดใช้ ATK ตรวจหาเชื้อนักท่องเที่ยวกลุ่ม Test & Go จาก 63 ประเทศครั้งแรกเมื่อเดินทางถึงไทย แทนวิธี RT-PCR ออกไปก่อน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หลังจากเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ “โอไมครอน” ทำให้รัฐบาลต้องทบทวนแผนการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคฯสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักรทางอากาศ จากเดิมเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ระบุว่าเตรียมปรับมาตรการ เปลี่ยนวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกของผู้เดินทางทั้งชาวไทยและต่างชาติจาก 63 ประเทศที่กำหนดภายใต้รูปแบบ Test & Go เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย จากปัจจุบันใช้วิธี RT-PCR มาเป็นการตรวจด้วย ATK โดยสถานพยาบาลที่กำหนด ผลเป็นลบเดินทางต่อได้ ซึ่งวางกำหนดเดิมไว้ว่าจะเริ่มตั้งแต่ 16 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป
“รัฐบาลจำเป็นต้องทบทวนมาตรการนี้อีกครั้ง หลังเกิดความกังวลเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอน โดยต้องเลื่อนระยะเวลาการเปลี่ยนวิธีตรวจหาเชื้อครั้งแรกของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Test & Go ด้วย ATK ออกไปก่อน และยังคงวิธี RT-PCR ไว้เช่นเดิมไปจนกว่าจะมั่นใจและมีข้อมูลไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่มากขึ้น อาจจะช้าหน่อยแต่ดีและชัวร์กว่า เพราะนอกจากจะระบุเชื้อได้ว่าเป็นไวรัสกลายพันธุ์หรือไม่แล้ว ยังปลอดภัยสำหรับตัวนักท่องเที่ยวและคนไทยเองด้วย”
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยซ้ำรอยเหมือนเมื่อช่วงกลางปีนี้ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันทะลุ 2 หมื่นคน หลังจากปัจจุบันสามารถควบคุมได้ดีขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงเหลือที่ระดับ 4,000 คนต่อวัน เป้าหมายต่อไปคือการกดยอดผู้ติดเชื้อใหม่ต่อเนื่องให้เหลือต่ำกว่า 1,000 คนต่อวัน เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางมาไทยมากขึ้น
สำหรับในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ย. กระทรวงฯประเมินว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยมากกว่า 2 แสนคน ส่วนเดือน ธ.ค.มั่นใจว่าจะมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 1 แสนคน โดยอยากเห็นกระแสการเดินทางเข้ามามากถึง 3-4 แสนคน เนื่องจากมีปัจจัยหนุนเรื่องภูมิอากาศในยุโรปที่หนาวเร็วกว่ากำหนด
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ด้านการจัดงานเคาท์ดาวน์ปี 2565 ททท.จะเป็นแม่งานร่วมกับภาคเอกชน กระจายพื้นที่จัดงานฯใน 5 จังหวัด 5 ภูมิภาค ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา เชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี ใช้งบฯจัดงานรวมประมาณ 100-120 ล้านบาท ส่วนรายละเอียดของงานฯและประมาณการผู้เข้าร่วมงานนั้นต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มเติม คาดได้ข้อสรุปสัปดาห์หน้า
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า นายพิพัฒน์ รมว.การท่องเที่ยวฯได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดระบาดของโอไมครอนอย่างใกล้ชิด และให้ประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่ามีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือไม่ ยังต้องขอติดตามสถานการณ์เพิ่มอีก 2-3 วัน โดยเฉพาะมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของประเทศที่เป็นเป้าหมายทางการตลาด
“เนื่องจากเพิ่งเกิดเรื่องการระบาดของโอไมครอนได้เพียง 2-3 วันและมีการตรวจพบในหลายๆ ประเทศ ทำให้ในประเทศต่างๆ ได้ออกมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวดภายใต้แนวคิดการป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล (Universal Protection) เช่น ห้ามผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงของไวรัสกลายพันธุ์ หรือหากอนุญาตให้เดินทางก็ต้องเข้ารับการกักตัว ทั้งนี้ยังไม่พบสัญญาณการชะลอตัวของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย ยกเว้นในบางประเทศของยุโรปที่มีการกลับมาระบาดซ้ำโดยไม่เกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอน ก็ทำให้เกิดความกังวลใจว่ารัฐบาลประเทศเหล่านั้นอาจจะกลับมาล็อกดาวน์และชะลอการเดินทางออกนอกประเทศไปก่อน อย่างไรก็ตามบางตลาดเป้าหมายหลัก เช่น เยอรมนี พบว่ายังมียอดการจองล่วงหน้าเดินทางมาไทยดีมาก”
และหลังจากดำเนินนโยบายเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 ซึ่งวันนี้ (30 พ.ย.) ครบ 1 เดือน พบว่าผลตอบรับดี ปัจจุบันมีผู้ยื่นขอไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) มากกว่า 3 แสนคนแล้ว โดยคาดว่าเฉพาะเดือน พ.ย.นี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 1 แสนคน หลังจาก 10 เดือนแรกตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค.ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยสะสมกว่า 1 แสนคน จึงคาดว่าตลอดทั้งปีนี้น่าจะเห็นจำนวน 5 แสนคน ส่วนเป้าหมายในช่วง 6 เดือนไฮซีซั่นตั้งแต่ ต.ค.2564-มี.ค.2565 ยังคงเป้าที่จำนวน 1 ล้านคน