เปิดใจ "เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์" แม่ทัพใหม่ อสมท แก้โจทย์ ขาดทุนสู่ "กำไร"

เปิดใจ "เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์" แม่ทัพใหม่ อสมท แก้โจทย์ ขาดทุนสู่ "กำไร"

เมื่อโลกธุรกิจเต็มไปด้วย "ความไม่แน่นอน" แต่ความท้าทายต้องการประลองฝีมือ ทำให้นักวิชาการ พลิกบทบาทสู่นักบริหาร เจาะภารกิจ "เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์" แม่ทัพใหม่ อสมท เคลื่อนทีวีดิจิทัลสู่น่านน้ำใหม่ สร้างรายได้ ล้างขาดทุนสู่การทำกำไรยั่งยืน

นั่งเก้าอี้แม่ทัพใหญ่ขับเคลื่อนธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัลเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว สำหรับ รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และการเข้ามารับตำแหน่งผู้นำองค์กรในห้วงเวลาที่ “ท้าทาย” กว่าเดิมหลายเท่าตัว เพราะนอกจากตต้องพยายามหาทางนำพาธุรกิจสื่อฝ่าคลื่นดิจิทัล ดิสรัปชั่น ยังต้องรับมือกับวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาดมาราธอน จนฉุดเม็ดเงินโฆณาให้ดำดิ่งอย่างหนัก 

แล้ว รศ.เกษมศานต์ คือใคร ทำไมจึงอาจหาญเข้ามากุมบังเหียนธุรกิจสื่อในวันที่โจทย์ธุรกิจยากหนักหนาสาหัส 

การพบปะกับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ  รศ.เกษมศานต์ เล่าเส้นทางการทำงานของตนเองโดยสังเขป ชีวิตผ่านการรับราชการตำรวจมาระยะใหญ่ ได้ทุนไปศึกษาต่อในต่างประเทศทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น 

ทว่า การตัดสินใจครั้งสำคัญ คือการเลือกออกจากคอมฟอร์ทโซนของตัวเอง ที่รับราชการ เพื่อผันตัวไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ทั้งที่อีก 4-5 ปี อายุราชการจะได้รับบำนาญอยู่แล้ว  

ส่วนการร่ำเรียน รวมถึงรับบทบาทอาจารย์ เกี่ยวข้องกับงานวิจัย สถิติ รวมถึง “การบริหารนโยบาย” ซึ่งถือเป็นคลังความรู้ที่จะนำไปใช้ในองค์กรได้ ยิ่งกว่านั้น ยังผ่านการวางแผน ยุทธศาสตร์ให้กับหน่วยงานต่างๆของรัฐมาพอสมควรด้วย 

ขณะที่บทบาทใหม่แม่ทัพอสมท รศ.เกษมศานต์ เล่าภารกิจที่จะต้องทำมีมากมาย โดยเฉพาะพลิกฟื้นธุรกิจให้มี “กำไร” อย่างยั่งยืนในขั้นแรก ตั้งแต่ปี 2565-2568 

++เปิดกรุสินทรัพย์ 70 ปี ทำเงิน

สถานการณ์ของธุรกิจทีวีดิจิทัลนั้นเผชิญความลำบากโดยธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ(ไลเซ่นส์)ที่แพง เกิดขึ้นในช่วงดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น สื่อใหม่มาแย่งเงินโฆษณาเป็นว่าเล่น เงินโฆษณาที่เคยมีตัวเลข “แสนล้านบาท” ไม่มีโอกาสเห็นของจริง เพราะเป็นเพียงราคาที่ยังไม่หักส่วนลดต่างๆ(Rate card) ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภค คนรุ่นใหม่แทบไม่ดูทีวี คนรุ่นใหญ่จำนวนไม่น้อยกลายเป็นมนุษย์ดิจิทัลที่เสพคอนเทนท์ออนไลน์มากขึ้น 

“เรทติ้ง” ที่เป็นตัวชี้วัดทำเงินหดตัวลงเรื่อยๆ อสมท ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน สุดท้ายสะท้อนไปยังผลประกอบการที่ขาดทุนต่อเนื่อง 6 ปี แต่ละปีตัวเลขไม่น้อย เช่น ปี 2563 ขาดทุน 2,019 ล้านบาท ปี 2560 ขาดทุน 2,542 ล้านบาท เป็นต้น ทว่า ปี 2564 ช่วง 9 เดือน บริษัทมีกำไร 100 ล้านบาท ไม่ใช่จากผลการดำเนินงาน แต่เป็นการลดต้นทุนรอบด้าน

เมื่อภารกิจใหญ่ คือการพลิกธุรกิจ “ติดลบ” ให้เป็น “บวก” รศ.เกษมศานต์ จึงวางแผน วิเคระห์จุดเด่นด้อยรอบด้าน(SWAT Analysis) อย่างแรกดึง “จุดแข็ง” ของอสมท คือการเป็น “สำนักข่าว” มีกรุคอนเทนท์เก่าแก่สุด 70 ปี ถือเป็น “สินทรัพย์ชั้นยอด” ที่จะนำมาทำเงิน 

แต่หมากรบแรกที่จะเดินคือการตอกย้ำความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้น ปี 2565 อสมท จึงนิยามเป็น “The Year of Trusted News & Smart Entertainment” พร้อมตีแผ่ความจริง ขยับเสริมเพิ่มรายการข่าว 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยจะเน้นให้ประโยชน์อ้างอิงและเชื่อถือได้ เป็นต้น 

“จะแปรรูปมีเดียที่มีเป็นโปรดักท์ต่อยอด 2 อย่าง ประโยชน์แก่สังคม และสร้างรายได้” 

นอกจากนี้ สินทรัพย์ที่มีทั้งคอนเทนท์ วิดีโอฟุตเทจต่างๆ รวมถึงภาพข่าว ภาพที่มี จะต้องทรานส์ฟอร์มไปอยู่บนช่องทางใหม่ๆเพื่อทำเงิน แต่แน่นอน กระบวนการแปลงของเก่าให้เป็นดิจิทัลไม่ง่าย ต้องใช้เวลและ “เงินทุน” ที่สูง 

สำหรับการนำสินทรัพย์เก่าทำเงิน เช่น การลุย The Shot ที่วันนี้มีภาพ 3,000-4,000 รายการ มาป้อนลูกค้า อนาคตจะเปิดพื้นที่ให้ “ขายภาพ” ได้แบบ Shutter stock ด้วย   

“อสมท 70 ปี มี Asset ที่มีมูลค่าเยอะมาก ทำยังไงจะเอาสิ่งที่เก่าสุดไปอยู่ในช่องทางใหม่สุด”

++ต้องหาน่านน้ำใหม่สร้างรายได้ 

อสมท มีธุรกิจหลักอย่างสื่อ ทีวีดิจิทัล ซึ่งถือเป็น ธุรกิจดั้งเดิม(Traditional) แต่ปัจจุบันโลกไร้พรมแดน ขอบเขตการทำรายได้ไมจำกัดอยู่กรอบเดิมๆอีกต่อไปแล้ว การหวังเรทติ้งมาดึงเงินโฆษณาจากลูกค้าไม่ใช่คำตอบที่พอ ถึงเวลาที่ อสมท จะลุยธุรกิจใหม่ต่อจิ๊กซอว์เติบโต

ก่อนหน้านี้ อสมท เปิด Shop Mania ทีวีโฮมชอปปิง เพื่อ Utilize เวลาออกอากาศให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่จากนี้ไปจะต้องหารายได้จาก “ดิจิทัล” มากขึ้น โดยหนึ่งในหมากรบคือการปั้น The Trusted เพื่อเสิร์ฟคอนเทนท์เจาะคนฟังวิทยุ และสื่อสังคมออนไลน์ เรียกว่ามีประเด็นไหนเด็ดในสังคมต้อง “ขยี้” ให้ละเอียดลึกกว่าเดิม

บทบาทการลุยสื่อออนไลน์ The Trusted ยังถือเป็นการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ยิบย่อยมากขึ้น ต่างจาก “สำนักข่าวไทย” ที่เสิร์ฟข่าว รายการเจาะคนดู คนอ่านทั่วประเทศ(Mass)นั่นเอง 

ส่วนคอนเทนท์อื่นๆที่มี จะร่วมกับพันธมิตรช่วยสร้างความแข็งแกร่ง และนำไปเสิร์ฟคนดูผ่านแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์(OTT)ต่างๆด้วย อย่างไรก็ตาม การลุยดิจิทัลที่น่าจับตา คือการตั้งทีมคนรุ่นใหม่ 3-4 คน เพื่อศึกษาคริปโตเคอเรนซีอย่าง NFT( Non Fungible Tokens) หากสำเร็จเปนรูปธรรม จะเป็นตัวพลิก อสมท ไปอีกขั้นด้วย 

อีกหนึ่งธุรกิจใหม่อย่างการงัด “ที่ดิน” บนทำเลทองมาพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ อย่างงที่ดิน 50 ไร่ ย่านรัชดา-พระราม 9 รวมถึงการพัฒนาที่ดินย่านหนองแขม 40 ไร่ และบางไผ่ 59 ไร่  รวมถึงที่ดินในต่างจังหวัดทั่วประเทศอีกจำนวนหนึ่ง จาก อสมท มีทั้งที่ตั้งเสาส่งสัญญาณ และสำนักข่าวต่างๆ 53 แห่ง 

น่านน้ำใหม่ดังกล่าว จะส่งผลต่อโครงสร้างรายได้ อสมท เปลี่ยน โดยภายในปี 2567 จะเห็นธุรกิจใหม่และดิจิทัลทำเงิน 22% จากปัจจุบัน 6-8% ส่วนธุรกิจหลัก ทีวีจาก 28% จะเหลือ 24-25% วิทย 26% จะเหลือ 22-23% เป็นต้น 

 ++ 6 ปี ขาดทุน สู่มีกำไร 3 ปีต่อเนื่อง

เป็นเวลาหลายปีที่ อสมท “ขาดทุน” ต่อเนื่อง แต่  รศ.เกษมศานต์ วางเป้าหมายพลิกมี “กำไร” ต่อเนื่อง 3 ปี อาวุธ(ไม่)ลับที่สานเป้าหมาย ประกอบด้วยธุรกิจทีวี “เรายังสู้ต่อ” เพิ่มช่องทางใหม่ๆสร้างรายได้ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่ต้องเร่งความเร็ว(Speed) แต่ต้องเป็นการวิ่งโดยใช้ความเร็วสูงมาก หรือ Sprint เทียบการวิ่ง 4 X 100 ที่ระยะร้อยเมตรสุดท้ายต้องใส่สุดพลังเพื่อเข้าเส้นชัยนั่นเอง 

“จุดอ่อนธุรกิจสื่อ ที่ผ่านมาสื่อหลักมีปัญหา ทุกคนทราบสถาานการณ์ดี แต่ธุรกิจสื่อออนไลน์ขึ้นเร็วลงเร็วเช่นกัน ไม่ใช่ทุกรายที่บุกตลาดแล้วจะสำเร็จ ขณะที่ อสมท จุดอ่อนเราช้าลง การ Speed ไม่พอแล้ว ต้อง Sprint เต็มสูบ”  

อย่างไรก็ตาม 3 ปี สเต็ปการทำกำไร เริ่มจากก้าวแรกการทำให้องค์กรและธุรกิจ “อยู่รอด” สเต็ปถัดไปปี 2565 ธุรกิจต้องมีเสถียรภาพ ความมั่นคง สเต็ปที่ 3 ปี 2566-2567 ตั้งเป้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

“ภายใน 3 ปี อสมท ต้องมีกำไรติดต่อกัน 3 ปี” 

ปัจจุบัน อสมท มีพนักงาน 970 คน จากเดิม 1,100 คน โดยที่ผ่านมามีการจัดทำโครงการต่างๆ ที่ต้อง “ลดพนักงาน” รีดไขมันให้องค์กร จากนี้ไปจึงเป็นเวลาที่ต้องหารายได้เชิงรุก 

รศ.เกษมศานต์ ร่ำเรียน ใช้ชีวิตในต่างแดน การเห็นโลกกว้างกว่าเดิม การวางแผนยุทธศาสตร์ ขบคิดกลยุทธ์มามาก วันนี้บทบาทใหม่ “ผอ. อสมท” จะพลิกฟื้นองค์กรให้มีกำไรได้ตามเป้า จะเป็นรูปธรรมหรือไม่ รอเวลาอีกนิดจะเป็นเครื่องพิสูจน์ผลงาน