น้ำพริกแคบหมูยายน้อย “บุลลี่ มาร์เก็ตติ้ง” พลิกตำรา สร้างยอดขาย
หากกางตำราการตลาด จะมีข้อควรปฏิบัติ และ “ข้อห้าม” ที่นักการตลาด แบรนด์ต้องระมัดระวังเสมอ เพื่อไม่ให้คุณค่าที่แบรนด์สร้างมาต้องถูกทำลายข้ามคืน ทั้งการตำหนิ ติติง ขุดจุดด้อยสินค้ามาให้ผู้บริโภค สังคมขยี้ แต่น้ำพริกแคบหมูยายน้อย พลิกคัมภีร์ขายของ "บุลลี่" แบรนด์จนปัง
ทว่า ไม่ใช่กับกรณีศึกษา “น้ำพริกแคมหมูยายน้อย” เพราะเป็นแบรนด์สินค้าและเพจที่แจ้งเกิดได้ เพราะการฉีกกรอบเดิมๆในการทำตลาดกับ Bully Marketing ที่ไม่เพียงสร้างเอ็นเกจเมนต์ให้เกิดขึ้นมหาศาล แต่ยังสร้างยอดขายให้กับสินค้าอย่างสวยงามด้วย
ศรัญญู เพียรทำดี ผู้ก่อตั้ง บริษัท น้ำพริกแคบหมูยายน้อย จำกัด เล่าว่า เพจน้ำพริกแคบหมูยายน้อยเกิดขึ้นราว 3 ปีก่อน จุดเริ่มตันมาจากการขายสินค้าของแม่ตนเอง แต่จุดเปลี่นที่ทำให้เพจโด่งดัง คือการร่วมออกบูธขายสินค้า ทำให้ต้องหา “สโลแกน” ไปติดบนป้ายไวนิลเพื่อสร้างการรับรู้และให้ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเกิดการ “จดจำ” มากขึ้น
การโพสต์ถามความเห็นผู้บริโภคบนโลกออนไลน์เป็นทางเลือกในการสรรหาสโลแกนที่โดนใจ แต่เพียงข้ามคืน กลับมากลุ่มเป้าหมายจำนวนมากแสดงความมเห็นหรือคอมเมนต์ และตั้งสโลกแกนให้กับแบรนด์น้ำพริกแคบหมูยายน้อยรวมกว่า 20,000 คอมเมนต์ แชร์โพสต์ไปกว่า 30,000 แชร์ กลายเป็นกระแสหรือไวรัลในทันที เพราะเข้าถึงผู้คนกว่า 5 ล้านราย และมีส่วนร่วมกว่า 1.96 เอ็นเกจเมนต์
ทั้งนี้ สโลแกนที่ได้ไม่ได้มีแค่มุมบวก แต่กลับเป็นการ Bully หรือตำหนิ ด่าทอสินค้าในเชิงลบเป็นส่วนใหญ่ เช่น อร่อยเกินร้อยให้น้อยสมชื่อ, ย่อยไม่ยาก ส่วนมากติดคอ, คุณภาพหนังหมู รสชาติหนังหมา และสะอาด ปลอดภัย ถูกหลักอนามัย ไปซื้อที่อื่น เป็นต้น
ในมุมของแบรนด์ ไม่ได้โกรธเคืองลูกค้า หรือลูกเพจที่แซวแรง กลับกันมองเป็นมุกตลกที่นำไปต่อยอดการทำตลาดหรือ Bully Marketing ได้ ซึ่งปัจจุบันคลิปวิดีโอโปรโมทสินค้า หรือคอนเทนท์ที่สร้างแบรนด์ยังคงเป็นการหยิบถ้อยคำแซวแรงมาใช้สร้างการจำให้กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย เช่น ดีต่อใจ บรรลัยต่อฟัน
ศรัญญู บอกว่า เมื่อ Bully Marketing เป็นอาวุธการตลาดได้ สิ่งที่ทำให้แบรนด์ยังคงอยู่ในใจผู้บริโภค คือการต้องสร้างสรรค์คอนเทนท์สนุก ขบขันออกมา “สม่ำเสมอ” อย่างน้อยต้องมี 1 คอนเทนท์สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายบนโลกออนไลน์ นอกจากนี้ หากพบว่ามีกระแสใดที่มาแรง ต้องนำแบรนด์ หรือคอนเทนท์เข้าไปเกาะให้ได้ เพราะกระแสที่เกิดขึ้นจะช่วยสร้างผลกระทบ (Impact) ทวีคูณกว่าเดิม เช่น ความดังของซีรีส์ สควิดเกม เกมลุ้นตาย ที่เพจน้ำพริกแคบหมูยายน้อย สร้างคอนเทนท์ผู้ชนะเกมจะได้รับน้ำพริก 45,600 ล้านถุง
ไม่เพียงคอนเทนท์ที่บริษัทสร้างเอง แต่สินค้าที่ผู้บริโภคซื้อไปแล้ว “รีวิว” ส่งกลับมา กลายเป็นสิ่งที่นำไปต่อยอด สร้างเอ็นเกจเมนต์เพิ่มเติมด้วย
3 ปีของเส้นทาง Bully Marketing เพจน้ำพริกแคบหมูยายน้อย สร้างการเติบโตอย่างดี มีผู้ติดตามกว่า 2.54 แสนราย และบริษัทสร้างยอดขายเฉพาะช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา อยูที่ 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่ ศรัญญู ออกมาตั้งบริษัท เพจน้ำพริกแคบหมูยายน้อย จำกัด และลุยทำเพจแบบจริงจังตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ยิ่งกว่านั้น ก้าวแรกที่ทุ่มเททำเพจและขายสินค้าทำให้รายได้เดือนพฤษภาคม เติบโต “เท่าตัว”
ตลาดน้ำพริกถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ เพราะแบรนด์ดังต่างทำรายได้หลัก “พันล้านบาท” ส่วนรายย่อย (เอสเอ็มอี)เห็นยอดขายหลักร้อยล้านบาท การจะเติบโตต่อ ศรัญญู ได้มีการพัฒนาสินค้าเพิ่มความหลากหลายเสิร์ฟลูกค้าที่ต้องการแตกต่างกัน จากน้ำพริกแคบหมูไปสู่น้ำพริกปลาทูฟู และน้ำพริกกุ้งเสียบ เอาใจลูกค้าที่ไม่ทานหมู
การแข่งขันในตลาดสูง บริษัทไม่โฟกัสมากนัก เพราะเลือกที่จะฟังเสียงและความต้องการลูกค้าเป็นหลัก นำกลับไปต่อยอดธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือการสร้างคอนเทนท์ ซึ่งพบว่าผู้บริโภคบางกลุ่มมีการหลังไมค์ถึงแบรนด์แต่ไม่เคยซื้อสินค้า กระทั่งผ่านไป 1 ปี จึงกลับมาอุดหนุนซื้อครั้งแรก
“สะท้อนให้เห็นว่าการทำคอนเทนท์สม่ำเสมอ ให้มีเนื้อหาอยู่บนหน้าฟีดของลูกเพจ วันหนึ่งก็จะกลับมาซื้อสินค้า”
ปัจจุบันเพจน้ำพริกแคบหมูยายน้อยไม่ได้ขายแค่น้ำพริก และคอนเทนท์ การกลายเป็นเพจดังยังเพิ่มโอกาสสร้างรายได้จากลูกค้าแบรนด์อื่นๆด้วย ซึ่งการทำตลาดจะเป็นการดึง 2 แบรนด์ ซินเนอร์จีเนื้อหา อนาคตการขยายธุรกิจจะยื่นขอ อย. เพื่อลุยส่งออก หลังมีคู่ค้าสนใจสินค้าไปเปิดตลาด ซึ่งที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดระยะเวลาการเก็บสินค้า