นักลงทุนหอบเงินกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ ทำคลังสินค้า-โลจิสติกส์ ในเวียดนาม
ผอ.สคต.เวียดนาม เผย ธุรกิจคลังสินค้าขยายตัวรวดเร็วจากอีคอมเมิร์ซ และแต้มต่อจาก CPTPP- RCEP เผย 2ปี ดึงนักลงทุนต่างชาติหอบเงินกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ สร้างคลังสินค้าและระบบโลจิสติกส์ ดันเวียดนามเป็นศูนย์กลางของคลังสินค้าด้านการขนส่งของโลก
นางสุภาพร สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม (ผอ.สคต.)เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความต้องการคลังสินค้าในเวียดนามเพิ่มขึ้น ข้อมูลตามผู้ประกอบการในด้านคลังสินค้า โดยบริษัท BW Industrial Development JSC ระบุว่า แม้จะมีผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เวียดนามยังคงเป็นประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะบริการคลังสินค้า เนื่องจากเวียดนามมีความได้เปรียบของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และแรงงานที่มีทักษะ ในขณะที่การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์
ในขณะที่ความต้องการ คลังสินค้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากเวียดนามมีแรงงานจำนวนมากและค่าแรงที่ต่ำกว่า รวมทั้ง เวียดนามกำลังเริ่มปรับปรุง โครงสร้างพื้นฐาน และสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าที่เวียดนามมีกับตลาดต่างๆ อาทิเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ความตกลงการค้าเสรีเวียดนาม – สหภาพยุโรป (EVFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ทำให้เวียดนามยังคงเป็นประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
การเติบโตของอีคอมเมิร์ซจะทำให้ความต้องการคลังสินค้าในเวียดนามเพิ่มขึ้น ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นและคิดเป็น เพียง 5.5% ของยอดค้าปลีก ทั้งหมด นอกจากนี้ คลังสินค้าที่มี หลายชั้นและทันสมัยกำลังจะเปิดตัว เร็วขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเฉพาะ บริเวณรอบกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ ที่ดินมีราคาสูงและขาดแคลน โดยเวียดนามได้รับผลประโยชน์หลักจากการจัดสรรกิจกรรมการผลิตและ ซัพพลายเชนไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศักยภาพการเติบโตอย่างมากของอีคอมเมิร์ซและการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสู่เวียดนามสูง ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจมาก ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความต้องการคลังสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเครือข่ายการขนส่ง ที่แออัดและวัตถุดิบที่มากเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนสินค้าคงคลัง
นอกจากนี้ เมื่อต้นปี 2564 บริษัทได้เห็นการสอบถามการเช่าเพิ่มขึ้นสามเท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 และบริษัทเพิ่งได้เซ็นสัญญากับ บริษัท J&Tซึ่งเป็นบริษัทด้านโลจิสติกส์และจัดส่งสินค้า เพื่อสร้างคลังสินค้าขนาด 5 เฮคเตอร์ในนครโฮจิมินห์ ขณะที่ บริษัท Wanek Furniture ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในห่วงโซ่อุปทานของ Ashley Furniture ที่เป็นผู้ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ได้เช่าพื้นที่ขนาด 4 เฮคเตอร์ของบริษัท BW Industrial Development JSC ในจังหวัดบิ่นเยือง การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตและผู้ประกอบการคลังสินค้าที่จะคิดกลยุทธ์ใหม่สำหรับสินค้าคงคลัง การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ของอุตสาหกรรมการขนส่งทั่วโลกทำให้การขนส่ง สินค้าเกิดการชะงักงันเป็นเวลานาน สถานการณ์เหล่านี้ทำให้เพิ่มความต้องการคลังสินค้าอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
นางสุภาพร กล่าวว่า การเติบโตอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีความต้องการเช่าคลังสินค้าเพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 คาดการณ์ว่าในอนาคตความต้องการคลังสินค้าจะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจาก ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยศักยภาพของตลาดดังกล่าว ธุรกิจประเภทนี้กำลังดึงดูดความสนใจของนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนจำนวนมากยังพิจารณาว่า คลังสินค้าเป็นทางเลือกการลงทุนแทนอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมในตลาดเวียดนาม ทำให้ธุรกิจคลังสินค้าใน เวียดนามมีโอกาสเติบโตได้ดี
ตามข้อมูลของบริษัท Jones Lang LaSalle Vietnam Co., Ltd ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีการลงทุนประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ในระบบ โลจิสติกส์และคลังสินค้า แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานทำให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางของคลังสินค้าด้านการขนส่งของโลก ไม่ใช่แค่สำหรับการขนส่งภายในประเทศเวียดนามเท่านั้น นอกจากนี้ ตาม DECREE No 163/ND-CP ลงวันที่ 20 ก.พ. 2564 เวียดนามเปิดให้บริษัทต่างชาติสามารถจัดตั้ง คลังสินค้า จึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยและผู้ประกอบการไทยในการลงทุนหรือร่วมทุนกับบริษัท เวียดนามในการจัดคลังสินค้าเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว