STA ลั่นยอดขายปีหน้า 1.6 ล้านตัน ลุยส่งออเดอร์ "กัญชง" เดือนมี.ค.
"ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี" ลั่นยอดขายปีหน้าเติบโต 1.6 ล้านตัน หลังดีมานด์ยาง-ถุงมือเพิ่ม รับอานิสงส์อุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัว ด้านออเดอร์ถุงมือยางเพิ่ม พร้อมลุย "ธุรกิจใหม่" บ่งชี้ผ่านจ่อส่งออเดอร์ผลผลิต "กัญชง" ให้ “2 บิ๊กบจ.” เดือนมี.ค.นี้
สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ส่งผลให้มีความต้องการ (ดีมานด์) ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นมาก เพื่อรองรับ “การผลิตยางล้อ” (รถ) ป้อนให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก โดยคาดการณ์ความต้องการใช้ยางธรรมชาติทั่วโลกในปี 2564 อยู่ที่ 13.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7% จากปีที่ผ่านมาที่มีความต้องการใช้ 12.5 ล้านตัน ขณะที่เทรนด์คนรักสุขภาพและเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้ดีมานด์ “ถุงมือยาง” เติบโต...
และหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีทั้ง 2 ธุรกิจ คงต้องยกให้ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติครบวงจรอันดับ 1 ของโลก ซึ่งผู้ผลิตยางล้อส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของบริษัท และบริษัทย่อย บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก โดย STA ถือหุ้นใหญ่ 50.64% (ปิดสมุดทะเบียน 22 พ.ย.2564)
สะท้อนผ่านผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 3,230.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้จากการขายและให้บริการ 28,486.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นผลการดำเนินงานของบริษัทกำลังเข้าสู่ช่วงวัฏจักรการเติบโตอีกครั้ง ! โดยเฉพาะ “อัตรากำไรขั้นต้น” จากธุรกิจยางธรรมชาติไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ทำ “สถิติสูงสุดใหม่” (New High) อยู่ที่ 13.6%
“วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ให้สัมภาษณ์พิเศษ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการทยอยฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลทำให้ความต้องการยางธรรมชาติทั่วโลกเติบโต บ่งชี้ผ่านในครึ่งปีแรก 2564 ประเทศจีนเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวก่อนหลังจากมีการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ และครึ่งปีหลังขยับมาฝั่งยุโรป-สหรัฐ รวมถึงราคาขายเฉลี่ยยางธรรมชาติตลาดโลกแนวโน้มเพิ่มขึ้น หรือทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่ม โดยเงินลงทุน 2,600 ล้านบาท แบ่งเป็น “การขยายกำลังการผลิตยางแท่ง” (TSR) เพิ่มขึ้นอีก 2.9 แสนตันต่อปี ที่โรงงานบึงกาฬ สกลนคร พิษณุโลก และตรัง ใช้งบลงทุนทั้งหมด 1,650 ล้านบาท จะทยอยแล้วเสร็จในช่วงครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลังปี 2565
และ “การขยายกำลังการผลิตน้ำยางข้น” (Concentrated Latex Plants) อีก 1.8 แสนตันต่อปี ที่โรงงานบึงกาฬ นราธิวาส สุราษฎร์ธานี (อำเภอกาญจนดิษฐ์) ใช้งบลงทุนทั้งหมด 950 ล้านบาท จะทยอยแล้วเสร็จในช่วงครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลัง 2565 ดังนั้น คาดว่าปีหน้ากำลังผลิตรวมเพิ่มเป็น 3.3 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบัน 2.8 ล้านตันต่อปี
โดยในปี 2565 บริษัทมีเป้าหมายปริมาณการขายยางธรรมชาติอยู่ที่ 1.6 ล้านตัน เติบโต 23% จากปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.3 ล้านตัน เนื่องจากมองทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์จะฟื้นตัวมากกว่าปีนี้ รวมทั้งราคายางพาราอยู่ในเกณฑ์ที่มีเสถียรภาพ แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีปัจจัยที่ต้องติดตามการฟื้นตัว อย่าง การขาดแคลนชิปในการผลิต และการขนส่งทางเรือ ถือเป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมได้ไม่เต็มที่
เขา บอกต่อว่า นอกจากธุรกิจยางธรรมชาติที่คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 60% และธุรกิจถุงมือยาง คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 40% โดยบริษัทลงทุนผ่านบริษัทย่อย STGT ซึ่งผลประกอบการสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง สะท้อนผ่านในปีหน้า STGT ยังมีการขยายกำลังผลิตเพิ่มอีก หลังคาดความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการส่งวัตถุดิบยางธรรมชาติให้ STGT ประมาณ 100,000-120,000 ตันต่อปี
ในปี 2565 บริษัทกำลังแตกไลน์สู่ “ธุรกิจใหม่” (New Business) นั่นคือ “ธุรกิจการเพาะปลูกกัญชง” ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำ หลังจากบริษัท ศรีตรัง รับเบอร์แอนด์แพลนเทชั่น จำกัด (SRP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้รับใบอนุญาตปลูกกัญชงจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นที่เรียบร้อย โดยเบื้องต้นบริษัทใช้พื้นที่จำนวน 5 ไร่ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง
โดยบริษัทเริ่มการทดลองนำเมล็ดกัญชงปลูกลงลงดินในต้นเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อจำหน่ายเมล็ด ใบ และรากกัญชงทั้งหมดที่มาจากการปลูก ซึ่งคาดว่าจะได้ผลผลิตและส่งมอบได้ประมาณเดือนมี.ค. 2565 แก่ลูกค้าที่มี “คำสั่งซื้อ” (ออเดอร์) หรือ “ตกลงทำสัญญาความร่วมมือทางธุรกิจ” แล้ว ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ 2 รายใหญ่ ที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง , แพทย์แผนไทย และ เครื่องดื่ม
อย่างไรก็ตาม การนำองค์ความรู้และทรัพยากรของบริษัท เช่น ที่ดินเพื่อการเพาะปลูกมาใช้ต่อยอดขยายธุรกิจดังกล่าว ตามที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ โดยบริษัทจะปลูกกัญชงบนที่ดินของบริษัท ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวได้รับการทดสอบแล้วว่าไม่มีสารปนเปื้อนที่เป็นโลหะหนัก
โดยบริษัทได้ลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อสร้าง “จุดเด่น” ที่แตกต่างจากผู้ปลูกกัญชงรายอื่นๆ และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจในระยะยาว โดยนำหลักการ Digital Traceability หรือ การตรวจสอบข้อมูลแบบดิจิทัลมาใช้กับทุกผลผลิตกัญชงของบริษัทที่จะส่งมอบแก่ลูกค้าตามคำสั่งซื้อ เช่น สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของเมล็ดพันธุ์ , รับชมภาพแปลงปลูกกัญชงแบบเรียลไทม์ เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ไร่กัญชงของบริษัทฯ ให้ความเชื่อมั่นและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในระยะยาว
“เรามีพื้นที่ปลูกยางกว่า 50,000 ไร่ ใช้ปลูกจริงไปแล้ว 30,000 ไร่ และที่เหลือก็จะใช้เป็นพื้นที่ทำการทดลองปลูกพืชใหม่ๆ เสมอ และกัญชงก็เป็นพืชตัวใหม่ที่เรามองว่าหากประสบความสำเร็จก็สามารถที่จะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของบริษัทได้ในอนาคต นอกจากการผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติที่เป็นธุรกิจหลักในปัจจุบัน โดยกรณีที่ตลาดมีความต้องการเมล็ด ใบและรากกัญชงอย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้ บริษัทคาดแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2564 จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว (ไฮซีซั่น) ของผลผลิตยางธรรมชาติ และได้รับปัจจัยบวกจากการผู้ผลิตยางล้อชั้นนำของโลกหันมาสั่งซื้อยางธรรมชาติจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากในอดีตที่เคยสั่งซื้อจากอินโดนีเซีย โดยจะเลือกซื้อจากบริษัทที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้วเท่านั้น ซึ่งโรงงานของ STA เป็นหนึ่งในผู้ผลิตในประเทศไทยที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้ว
ท้ายสุด “วีรสิทธิ์” บอกไว้ว่า มั่นใจสามารถสร้างผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมยางน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นไป จะส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีความต้องการใช้เพื่อการผลิตยางล้อ และอุตสาหกรรมถุงมือยางที่แนวโน้มจะยังมีดีมานด์ที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง