ถอดบทเรียนเอเจนท์สู่‘อินฟลูเอนเซอร์’ แจ้งเกิดกูรูอสังหาฝ่าวิกฤติโควิด
“ศิรประภา รักษ์สุจริต” เอเจนท์ตัวท็อปวงการอสังหาริมทรัพย์เผยเคล็ดลับการเอาตัวรอดในวิกฤติโควิด-19 ด้วยการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสจากโซเชียลมีเดีย! พร้อมแจ้งเกิด “อินฟลูเอนเซอร์” สายอสังหาฯ ในฐานะเจ้าของเพจ “อสังหาเรื่องจิ๊บๆ”
“ศิรประภา รักษ์สุจริต” เอเจนท์ตัวท็อปวงการอสังหาริมทรัพย์เผยเคล็ดลับการเอาตัวรอดในวิกฤติโควิด-19 ด้วยการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสจากโซเชียลมีเดีย! พร้อมแจ้งเกิด “อินฟลูเอนเซอร์” สายอสังหาฯ ในฐานะเจ้าของเพจ “อสังหาเรื่องจิ๊บๆ” ที่ฉายมุมมองตลาดอสังหาฯ โลกใหม่หลังโควิดที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เรียกว่า หมดยุคจับเสือมือเปล่า และกลุ่มนักลงทุนมุ่งความสนใจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ศิรประภา เล่าว่า จากอาชีพตัวแทนซื้อขายอสังหาฯ มากว่า 11 ปี ก้าวสู่การทำเพจ “อสังหาฯ เรื่องจิ๊บๆ” ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในห้วงวิกฤติโควิดด้วยการทำคอนเทนท์ในรูปแบบของการให้ความรู้เกี่ยวกับอสังหาฯ ซึ่งอาจดูเป็นเรื่องยากสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยย่อยเรื่องอสังหาฯ ให้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น
“เราอยากเปลี่ยนมุมมองนายหน้าอสังหาฯ ที่มักจะถูกมองว่าไม่มีความรู้ จับเสือมือเปล่า จึงอยากเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้เป็นนายหน้าที่่มีความรู้ความสามารถ แนะนำอสังหาฯ ให้กับกลุ่มที่ซื้ออยู่เองและกลุ่มนักลงทุน”
ความจริงแล้ว การเป็นนายหน้า หรือ พร็อพเพอร์ตี้เอเจนท์ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เพราะต้องมีความรู้ ความสามารถมากพอสมควร ยิ่งเมื่อเกิดโควิด คนที่ทำอาชีพนี้ต้องปรับตัวให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น
วงการนายหน้ามี 2 กลุ่มคือ กลุ่มหน้าหน้าแบบดั้งเดิมเน้นการขายออฟไลน์เป็นหลัก เช่น การติดป้ายประกาศตามเสาไฟฟ้าซึ่งทำกันมานาน 20-30 ปี แต่พอมีโควิดขายไม่ได้เลยเพราะลูกค้าไม่มาดูบ้าน ออกไปเจอลูกค้าไม่ได้ เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ทุกอย่างเป็น “ศูนย์”
อีกกลุ่มหนึ่งคือ หน้าหน้ารุ่นใหม่ที่ยังคงมีการเติบโตในช่วงโควิด หนึ่งในนั้น คือ อสังหาเรื่องจิ๊บๆ เพราะมีการใช้สื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญก็คือการมีตัวตนบนโซเชียลมีเดีย ในรูปแบบการทำ Personal Branding อย่างชัดเจนว่าเป็นนายหน้าอสังหาฯ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการซื้อขายอสังหาฯ ไม่ใช่ขายอย่างเดียว
“นายหน้าที่ดีแต่ต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้า จริงใจในการเลือกอสังหาฯให้กับลูกค้า และต้องยอมรับว่าการมีตัวตนและความน่าเชื่อถือในโลกออนไลน์ทำให้สามารถอยู่รอดได้ในช่วงโควิดที่ผ่านมา”
ศิรประภา ยอมรับว่า การเป็น “อินฟลูเอนเซอร์” มีส่วนสำคัญช่วยเธอให้สามารถอยู่ได้ท่ามกลางแรงกดดันจากเทคโนโลยีที่ดิสรัปวงการนายหน้า ไม่ว่าเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ มาร์เก็ตเพลส ทำให้คนซื้อและคนขายเข้าถึงกันได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลาง คือนายหน้าอีกต่อไป!!
แต่ถึงกระนั้น การซื้อขายอสังหาฯ ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เหมือนกับการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่คนซื้อสามารถหาข้อมูลหรือมีความเชี่ยวชาญในเลือกเองได้เลย แต่การซื้ออสังหาฯ เป็นของชิ้นใหญ่ที่คนเก็บเงินมาทั้งชีวิต การซื้อต้องใช้สกิลการเลือกอสังหาฯ ให้เหมาะสม กับตัวเอง การกู้เงินหรือความชำนาญในพื้นที่เพื่อให้รู้เรื่องของทำเล ราคา ความเหมาะสมของราคา สเปคของดีเวลลอปปเอร์ ดังนั้นสิ่งที่ทำให้นายหน้าอสังหาฯ ยังอยู่ได้ก็คือ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ!!
“ช่วงโควิดที่ผ่านมาแบ่งได้ชัดเจนว่า นายหน้าที่จับเสือมือเปล่าอยู่ไม่ได้แต่นายหน้าที่ทำงานหนักเพื่อลูกค้า อย่างเช่น สามารถเลือกทำเลที่เหมาะสมกับลูกค้าได้ เลือกโครงการและราคาที่เหมาะกับลูกค้าได้ ลูกค้ารู้สึกและรับรู้ได้ว่าได้รับบริการที่ดี และแตกต่างจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ คือให้คำปรึกษาได้ไม่ได้มีแค่ข้อมูลเท่านั้น”
คนที่ซื้ออสังหาฯ ต้องการผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาแนะนำในลักษณะของเพื่อนแนะนำเพื่อน ด้วยความจริงใจและเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษากับลูกค้า เสมือนมีเพื่อนคู่คิดในการซื้ออสังหาฯ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ซื้อเพื่อลงทุน
“ที่ผ่านมาคนมักเข้าใจว่านายหน้าจะขายสินค้าแพงกว่าโครงการแต่ในความเป็นจริงแล้ว ดีเวลลอปเปอร์ที่ใช้เอเจนท์มาช่วยขายโครงการให้ราคาใกล้เคียงกัน เสมือนเป็นมาร์เก็ตติ้งคอร์ส และบางรายทำแคมเปญร่วมกัน จึงทำราคาพิเศษให้ลูกค้าได้ รวมถึงของแถมพิเศษแต่สิ่งที่แตกต่างคือลูกค้าเลือกดูโครงการในหลายแบรนด์ได้”
สำหรับกลุ่มลูกค้าหลัก ของ อสังหาฯ เรื่องจิ๊บๆ มี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเรียลดีมานด์ ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองและช่วงโควิดไม่ต้องการไปตระเวนดูโครงการแบบไม่มีทิศทาง จึงมาใช้บริการที่สามารถเลือกทำเล ราคาในแบบที่ต้องการได้ กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มนักลงทุน ถือเป็นกลุ่มหลัก เพราะสิ่งที่นักลงทุนต้องการข้อมูลเชิงลึกในทุกโครงการ ตัวเลขค่าเช่า การพักอาศัยจริง ราคาค่าเช่าลดเพิ่มขึ้นมากน้อยอย่างไร ทำให้ช่วงที่ผ่านมีกลุ่มนักลงทุนมาช้อนซื้อในทำเลศักยภาพ
กลุ่มที่สาม คือ คนไทยในต่างประเทศแม้จะบินมาไม่ได้ เพราะเขาเห็นโอกาสในการซื้ออสังหาฯในช่วงวิกฤติ คุ้นเคยจากการไลฟ์ของอสังหาฯ เรื่องจิ๊บๆ ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ
อย่างไรก็ดี สัดส่วนลูกค้าแต่ละปีแตกต่างกัน ปี 2563 ที่มีโควิดเป็นกลุ่มนักลงทุน 80% เรียลดีมานด์ 20% แต่ปี 2564 กลุ่มนักลงทุน 30% เรียลดีมานด์ 70% เพราะกลุ่มนักลงทุนอสังหาฯ ซื้อ (คอนโด)ไปหมดแล้ว ประกอบกับนักลงทุนส่วนหนึ่งหันไปลงทุนคริปโทฯ แทน หลายคนขายอสังหาฯ ไปซื้อคริปโทฯ ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ที่น่าจับตา แต่เชื่อว่า อสังหาฯ ยังคงเป็นการลงทุนที่มั่นคงกว่าเพราะคริปโทฯ มีความผันผวนมาก
สำหรับแนวโน้มตลาดบ้านที่มาแรงยังคงเป็นคอนโดและบ้านเซ็กเมนต์ลักชัวรี่ระดับราคาตั้งแต่ 10, 20 และ 50 ล้านบาท สะท้อนว่า คน่มีเงินและเลือกซื้ออสังหาฯ ที่มีศักยภาพ คาดว่าปี 2565 กลุ่มเรียลดีมานด์จะกลับเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากมาตรการคลายล็อกแอลทีวี ขณะที่กลุ่มนักลงทุนชะลอการลงทุนอสังหาฯ เพราะคนเช่าต่างชาติหายไป มีกลุ่มที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มในช่วงนี้ เพราะต้องการขยายครอบครัว