ถามความเห็นบิ๊ก "ตลาดเงิน-ตลาดทุน" ต่อกระแสลงทุนคริปโทฯ
กระแสการลงทุนสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564)
ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้คนจำนวนมากต้องทำงานจากบ้าน (Work from Home) และส่วนหนึ่งมีรายได้ลดลง นอกจากนี้ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ตกงาน ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศต่างอัดเงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือประชาชนท่ามกลางวิกฤติ
ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก "ตลาดหุ้น" กลับปรับขึ้นร้อนแรง แม้จะปรับตัวลงช่วงแรกจากแรงขายเพราะความตื่นตระหนก (Panic Sell) โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ต่อเนื่อง โดยได้แรงหนุนจากสภาพคล่องในระบบที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาด และการเข้ามาของนักลงทุนหน้าใหม่
เช่นเดียวกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ที่กลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายของการเก็งกำไรเพื่อสร้างรายได้ในช่วงวิกฤติ ประจวบเหมาะกับปรากฏการณ์ Bitcoin Halving หรือการลดปริมาณบิตคอยน์ลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกๆ 4 ปี โดยครั้งล่าสุดตรงกับวันที่ 11 พ.ค.2563 จุดกระแสให้ราคาคริปโทฯ ในตลาดพุ่งแรง
ขณะที่ปี 2564 กระแสการลงทุนในคริปโทฯ ยังได้แรงหนุนต่อเนื่อง ทั้งจากบุคคลผู้มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ อีลอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัทเทสลา การยอมรับจากนักลงทุนสถาบันที่เพิ่มขึ้น และการยอมรับจากรัฐบาลบางประเทศ เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่นอกเหนือจากนักลงทุนรายย่อยแล้ว บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นก็แสดงความสนใจลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลตลาดเงิน กลับระบุว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการแจ้งเตือนเป็นระยะ และขอย้ำว่า ธปท.ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง
ด้านความเห็นของซีอีโอในตลาดเงินและตลาดทุนไทย "ปิติ ตัณฑเกษม" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ttb มองว่า ตอนนี้โลกเราและเมืองไทยกำลังเผชิญกับสงครามฝิ่นยุคใหม่
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีหรือน้อยกว่านั้น สงครามฝิ่นในอดีตเกิดจากที่อังกฤษค้าขายกับจีน แต่ค้าขายไปค้าขายมาแล้วแพ้ จึงนำฝิ่นไปขาย ส่งผลให้คนจีนติดฝิ่น แต่ตอนนี้เปลี่ยนจากฝิ่นเป็นคริปโทฯ ซึ่งวันนี้ประเทศจีนได้ประกาศสงครามฝิ่นกับคริปโทฯ แล้ว
อย่างไรก็ดี เราต้องแยกระหว่างคริปโทฯ บล็อกเชน และโทเคนดิจิทัล เพราะบล็อกเชนคือเทคโนโลยีที่ทำให้สินทรัพย์กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งน่าสนใจ เพราะก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะฉะนั้นบล็อกเชนกับการโทเคนดิจิทัลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
"ขณะที่คริปโทฯ คือการ Digitize (ทำให้เป็นดิจิทัล) จตุคามรามเทพ ซึ่งไม่แน่ใจว่านอกจากคุณค่าทางจิตใจแล้ว จะมีคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์เช่นไร"
ส่วน "มนตรี ศรไพศาล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิสดอม แคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส จำกัด และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองว่า การลงทุนคริปโทฯ ที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง ให้อยู่บนความรู้ว่า ราคาขึ้นแรง ราคาก็ลงแรง
"ส่วนใหญ่เวลาเราเห็นราคาขึ้น เรามักจะไม่มีในมือ แต่พอเรามีในมือ ราคาจะไม่ค่อยขึ้น ราคากลับปรับตัวลง ลักษณะคล้ายๆ หุ้นปั่นที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ"
สำหรับการจัดพอร์ตลงทุนยังเชื่อว่าหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นสามัญยังน่าลงทุน ด้วยประวัติศาสตร์หลายปีของในหลายประเทศ พิสูจน์ได้ว่าหุ้นสามารถสร้างมูลค่า สามารถเลือกลงทุนในกิจการดีๆ ที่มีความสามารถ มีโอกาสเติบโต และมีโอกาสสร้างผลตอบแทน
ขณะที่คริปโทฯ ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยตัวเอง จึงต้องระวังเป็นพิเศษ เป็นเพียงการเก็งกำไร ซึ่งบางครั้งมือใหม่มีโอกาสชนะตลาดยาก