เปิดสถิติ สาขาแบงก์ ใน ‘ต่างประเทศ’ 7 ธนาคาร

เปิดสถิติ สาขาแบงก์ ใน ‘ต่างประเทศ’ 7 ธนาคาร

เปิดภาพรวมแบงก์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะ 4 แบงก์ใหญ่ ที่เร่งขยายฐานการเติบโตสู่ภูมิภาคต่อเนื่อง ทั้งผ่านการขยายสาขาในต่างประเทศ และการออกไปให้บริการทางการเงินผ่านดิจิทัล ทั้งกสิกรไทย แบงก์กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ กรุงศรีฯ

      ในโลกของการทำธุรกิจ การเติบโตเฉพาะในประเทศเพียงอย่างเดียว อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป หากต้องการ การเติบโตที่มากขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ในไทยหลายแห่ง มีการขยายธุรกิจออกไปเติบโตในต่างประเทศด้วย เพื่อขยายตลาด ขยายฐานลูกค้าเพื่อต่อยอดการเติบโตให้มากขึ้น 

     โดยเฉพาะธุรกิจธนาคาร ที่จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องต่อสายป่าน เพื่อขยายการให้บริการ ขยายสาขาในต่างประเทศ มากขึ้น ทั้งเพื่อการเติบโต และเพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาแบงก์ไทย มีการเดินหน้าขยายทั้งสาขาและการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การให้บริการครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

เปิดสถิติ สาขาแบงก์ ใน ‘ต่างประเทศ’ 7 ธนาคาร        หากดูสถิติสาขาต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ไทย ในต่างประเทศ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท) พบว่าในช่วงที่ผ่านมา พบว่าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
      โดยหากนับเฉพาะสาขาแบงก์ในต่างประเทศ ณ สิ้น ต.ค.2564 พบว่า แบงก์ที่มีสาขามากที่สุดในบรรดา 7 แบงก์ ที่มีสาขาอยู่ในต่างประเทศ อันดับแรกคือ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ที่ปัจจุบันมีสาขาต่างประเทศที่ 21 แห่ง อันดับสองคือ ธนาคารกรุงไทย(KTB) 8 แห่ง และธนาคารพาณิชย์(SCB) 6 แห่ง ขณะที่กสิกรไทย (KBANK) มีทั้งสิ้น 3 (ปัจจุบัน จำนวนสาขาเพิ่มเป็น 10 แห่ง ณ ธ.ค.2564)  ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) และทหารไทยธนชาตมี 2 แห่ง และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT) 1 แห่ง
    แต่สาขาธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศจากข้อมูลดังกล่าว ยังไม่ครอบคลุมถึง การให้บริการผ่านบริษัทลูก ผ่านการจับมือกับสถาบันการเงินในต่างประเทศ หรือการเปิดให้บริการทางการเงินในต่างประเทศ ที่ปัจจุบันมีการขยายการให้บริการอย่างรวดเร็วมาก

กสิกรรุกโตภูมิภาคสิ้นปี67ตั้งเป้ากวาดลูกค้าดิจิทัล10ล้านคน
    โดยเฉพาะการออกไปขยายธุรกิจของ 4 แบงก์ใหญ่ๆ อย่างกสิกรไทย ที่ผ่านมา ประกาศชัดเจนในการขึ้นเป็นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำ แห่งภูมิภาค (Regional Digital Bank)

     โดยมุ่งขยายธุรกิจในต่างประเทศ 3 ด้านด้วยกัน  คือ การให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ลูกค้าท้องถิ่น การร่วมลงทุนสร้างดิจิทัลแบงกิ้งกับพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อเข้าถึงฐานลูกค้าท้องถิ่นจำนวนมาก และการเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นและเทคโนโลยีแพลตฟอร์มแก่บริษัทพันธมิตร 
     อีกทั้งยังวางแผน ระยะยาวในการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ให้แก่ธนาคารท้องถิ่นขนาดเล็กที่ไม่มีความสามารถในการพัฒนาระบบของตนเอง
     โดยปัจจุบัน ธนาคารมีเครือข่ายสาขาต่างประเทศรวม16 แห่ง ในประเทศกลุ่ม AEC+3 และหมู่เกาะเคย์แมน อาณานิคมโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร รวมทั้งเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินทั้งในและนอกกลุ่ม AEC+3รวมทั้งสิ้น84 แห่ง ใน 16 ประเทศ ซึ่งยังไม่รวมการให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศ ทั้งใน ลาว กัมพูชา ฯลฯ ด้วย 
    ล่าสุด “พิพิธ เอนกนิธิ” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน ณ ธ.ค.2564 ธนาคารมีสาขาต่างประเทศทั้งสิ้น 10 แห่ง 

ของ KBank ทั้งหมดตอนนี้ เป็นงี้นะ>>

ภาพรวมของธนาคารกสิกรไทยในต่างประเทศนั้น ประกอบด้วย 
ธนาคารท้องถิ่น 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่ จีน และ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว 
สาขาต่างประเทศ 10 แห่ง ได้แก่ สาขาเซินเจิ้น ,สาขาย่อยหลงกั่ง ,สาขาเฉิงตู ,สาขาฮ่องกง ,สาขานครเซี่ยงไฮ้ ,สาขาหมู่เกาะเคย์แมน

     สาขากรุงพนมเปญ ,สาขาสำนักงานใหญ่ (ถนนล้านช้าง) ,สาขาโพนสีนวน ,สาขาโฮจิมินห์
     รวมถึง สำนักงานผู้แทน 7 แห่ง ได้แก่ สำนักงานผู้แทนกรุงปักกิ่ง ,สำนักงานผู้แทนเมืองคุนหมิง ,สำนักงานผู้แทนกรุงย่างกุ้ง ,สำนักงานผู้แทนกรุงฮานอย ,สำนักงานผู้แทนนครโฮจิมินห์ ,สำนักงานผู้แทนกรุงจาการ์ตา ,สำนักงานสำนักงานผู้แทนกรุงโตเกียว 

     อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา แม้เกิดผลกระทบจากไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 แต่กสิกรไทยยังสามารถสร้างการเติบโตในธุรกิจของธนาคารในระดับภูมิภาคได้ก้าวกระโดด โดยปี 2564 เติบโตมากกว่าปีก่อนหน้า 34% 
      โดยธนาคารตั้งเป้าใน 2ปีข้างหน้า ที่จะเติบโตในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยคาดสัดส่วนรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศเป็น 5% ของรายได้สุทธิของธนาคารทั้งหมด หรือมีรายได้เติบโต5 เท่า พร้อมขยายฐานลูกค้าดิจิทัลเป็น 6.5 ล้านราย จากปัจจุบันที่ธนาคารมีฐานลูกค้าแล้ว 1.6 ล้านราย 
     และคาดจะเพิ่มเป็น 10 ล้านคนภายในปี 2567 ขณะเดียวกันคาดว่า ภายใน 5 ปีจะเห็นลูกค้าบนดิจิทัลเพิ่มเป็น 50ล้านคน และระยาวคาดหวังเห็นฐานลูกค้าสู่ 100ล้านคนได้ ภายใต้แนวคิด “THE METAMORPHOSIS” กลายร่างธนาคารให้เติบโตมากกว่ารูปแบบเดิม ภายใต้ 3 วิสัยทัศน์ แบบไร้ขีดจำกัด (Limitless) ไร้รอยต่อ (Seamless) และไร้ขอบเขต(Borderless) ที่จะเสริมศักยภาพแบงก์ให้เติบโตอย่างไร้ขีดจำกัดในต่างแดนมากขึ้น 

แบงก์กรุงเทพผนึกเพอร์มาตารุกอาเซียน 
     ด้านธนาคารกรุงเทพ ก็มีการรุกในการขยายธุรกิจในต่างประเทศเช่นเดียวกัน

    โดยปัจจุบันธนาคารถือเป็นหนึ่งในธนาคารระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร และมีเครือข่ายสาขาต่างประเทศที่กว้างขวาง พร้อมสนับสนุนการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ และสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการลงทุนในอาเซียน
       ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งเดียวที่มีเครือข่ายต่างประเทศกว้างขวางที่สุด ด้วยเครือข่ายสาขาในต่างประเทศกว่า 300 แห่ง ครอบคลุม 14 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลก
      โดยมีเครือข่ายสาขาครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศอาเซียน ดำเนินกิจการมาอย่างยาวนาน จึงมีความเชี่ยวชาญ มีเครือข่ายธุรกิจในท้องถิ่น พร้อมทั้งมีความเข้าใจในเศรษฐกิจและกฎระเบียบต่างๆ ของแต่ละประเทศเป็นอย่างดี
       และดีลที่เรียกว่าเขย่าวงการแบงก์ไปหมาดๆสำหรับธนาคารกรุงเทพ คือการประกาศเข้าไปซื้อหุ้นของธนาคารเพอร์มาตา ในประเทศอินโดนีเซียเฉียด 7 หมื่นล้านบาท โดย ณ สิ้นปี 2563 การซื้อกิจการผ่านไปแล้วเสร็จสิ้นสมบูรณ์ รวมถึงการรวมสาขาในประเทศอินโดนีเซียเข้ากับธนาคารเพอร์มาตาอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว 
     “ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การรวมสาขาของธนาคารกรุงเทพในประเทศอินโดนีเซียเข้าเป็นทีมเดียวกับธนาคารเพอร์มาตา ถือเป็นการรวมจุดแข็งของทั้งสองธนาคารเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างประโยชน์แก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

    ในฐานะธนาคารที่อยู่ใน 10 อันดับแรกของอินโดนีเซีย 
นอกจากนี้ การรวมตัวครั้งนี้ ยังหนุนให้แบงก์มีเครือข่ายบริการที่กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้บริการลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น 
     โดย “ชาติศิริ”กล่าวต่อว่า การผสานจุดแข็งด้านเครือข่ายในประเทศและภูมิภาคระหว่างสองธนาคารเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์คุณค่า ให้ลูกค้าในภูมิภาคสามารถเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนในอินโดนีเซียได้มากขึ้น ในขณะที่ลูกค้าในอินโดนีเซียสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายต่างประเทศเพื่อโอกาสในการขยายธุรกิจทั้งในอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆด้วย

ดันSCBx เป็นบริษัทเทคฯระดับภูมิภาค 

    ฟาก ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ปัจจุบันมีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารมีเครือข่ายครอบคลุมกลุ่มประเทศ CLMV+2 ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม จีน และสิงคโปร์แล้ว
     รวมถึงที่ผ่านมา ธนาคารยังได้รับใบอนุญาตการจัดตั้งธนาคารไทยพาณิชย์ ในเมียนมา จากธนาคารกลางเมียนมา เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ประกอบให้ยุทธศาสตร์การขยายเครือข่ายต่างประเทศในกลุ่มประเทศ CLMV+2 ให้แข็งแกร่งกับไทยพาณิชย์มากขึ้น
     ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากการเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง แต่ในด้านการขยายธุรกิจในต่างประเทศผ่านดิจิทัลด้วย
    “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCBX)  กล่าวในช่วงที่ผ่านมาว่า ในระยะข้างหน้ามีเป้าหมายในการนำ SCBx หรือยานแม่ลำใหม่ ออกไปโตในระดับภูมิภาค เพื่อบริษัทเทคโนโลยีระดับภูมิภาค
หลักๆก็เพื่อหาโอกาสใหม่ หาศักยภาพใหม่ในการทำธุรกิจ

    เพราะมองว่าการเติบโตเฉพาะในตลาดไทย ข้างหน้าอาจไม่มากนัก และหากพึ่งพาตลาดไทยอย่างเดียว สุดท้ายคงหนีไม่พ้น สู่การกลับมาทำธุรกิจเดิมภายใต้ Red Ocean ที่มีการแข่งขัน การตัดราคากันอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงมองว่าการออกไปเติบโตในต่างประเทศ ถือเป็นเป้าหมายหลัก หรือ Priority ที่สำคัญ  ที่จะเติบโตภายใต้ แพลตฟอร์มบิสซิเนส ภายใต้เทคโนโลยีบิสซิเนส
      อาทิตย์กล่าวต่อว่า หากเราจะเป็น  local player หรือมองแค่ domestic player อย่างเดียว โอกาสที่จะถูกผู้เล่นในระดับภูมิภาค หรือแพลตฟอร์มทุ่มตลาด จากความสามารถในการระดมทุนผ่านตลาดเวนเจอร์แคปปิตอลได้ ดังนั้นโอกาสที่จะถูกแพลตฟอร์มระดับภูมิภาค หรือ globalplatform กินรวบมีสูงมาก ดังนั้นไม่มีทางอื่นๆเลย ในการเข้าสู่ เรื่องฟินเทค หรือแพลตฟอร์มบิสเนส นอกจากไปสู่ ผู้เล่นระดับภูมิภาคให้ได้!

แบงก์กรุงศรีชูเป็นแบงก์ที่มีเครือข่ายคลุมภูมิภาคมากสุด
     ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นอีกแบงก์ที่มีสาขาและเครือข่ายครอบคลุมทั่งทั้งภูมิภาค 
    โดย “ไพโรจน์ ชื่นครุฑ” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรุงศรีเดินหน้าขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคอาเซียนมาอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

    เพื่อวางรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคให้แข็งแกร่ง ทำให้ปัจจุบันกรุงศรีมีเครือข่ายและธุรกิจที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค 
เพื่อนำพาไปสู่โอกาสใหม่ๆในการขยายธุรกิจและสร้างการเติบโตให้กับลูกค้าของกรุงศรีในภูมิภาคอาเซียน

    โดยกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจและสร้างการเติบโตในอาเซียนนี้ เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งภายใต้แผนธุรกิจระยะกลางปี 2564-2566 ซึ่งกรุงศรีได้วางเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนกำไรจากต่างประเทศอยู่ที่ 10% ของกำไรสุทธิทั้งหมดภายในปี 2566
     ซึ่งจุดแข็งและถือเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่สำคัญของกรุงศรี คือ การมี มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก ที่มีเครือข่ายแข็งแกร่งในกว่า 50 ประเทศ

   ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยสนับสนุน ทำให้กรุงศรีเป็นสถาบันการเงินไทยแห่งเดียวที่มีเครือข่ายในอาเซียนมากที่สุด มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการทางการเงินของลูกค้าทั้งในประเทศไทย ในภูมิภาคอาเซียน และในระดับโลกได้เป็นอย่างดี
     ปัจจุบัน กรุงศรีดำเนินธุรกิจและมีเครือข่ายแข็งแกร่งที่ให้บริการครอบคลุม 4 ประเทศในอาเซียน ทั้งในรูปแบบสาขา สำนักงานผู้แทน ธนาคารท้องถิ่น ผู้ให้บริการทางการเงินท้องถิ่น ประกอบด้วย สาขาของธนาคารในเวียงจันทน์ ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย และสถาบันการเงินจุลภาคที่ไม่รับเงินฝาก กรุงศรี จำกัด ใน สปป.ลาว ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศกัมพูชา รวมถึง ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยในประเทศฟิลิปปินส์ และสำนักงานตัวแทนในเมียนมา
     ในส่วนนี้ ยังไม่รวมเครือข่ายและธนาคารพันธมิตรของ MUFG และล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรุงศรีได้บรรลุข้อตกลงกับ Saigon-Hanoi Commercial Joint Stock Bank (“SHB”) ธนาคารพาณิชย์ร่วมทุนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในประเทศเวียดนาม ในการซื้อและรับโอนเงินทุนก่อตั้ง (Charter Capital) 100% ของบริษัท SHBank Finance Company Limited (“SHB Finance”) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อเพื่อรายย่อย 10 อันดับแรกของประเทศเวียดนามด้วย ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง