ครม. ยังไม่เคาะเยียวยา สถานบันเทิง - นักดนตรี รอ กระทรวงแรงงาน เสนอขอเงินกู้
ครม.ยังไม่เคาะเยียวยาสถานประกอบการบันเทิง นักดนตรี รอข้อมูลจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และการขออนุมัติเงินกู้จาก สศช. นายกฯ กำชับอย่าประมาทรับมือโอมิครอน
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (7 ธ.ค.) ยังไม่มีการพิจารณาเยียวยาผู้ประกอบการสถานบันเทิง รวมถึงนักร้อง นักดนตรีที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดสถานบันเทิงเพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19
อย่างไรก็ตามในการประชุม ครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการกำชับให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่งพบผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทย และอยู่ระหว่างเฝ้าระวัง และตรวจสอบว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มเติมหรือไม่
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่าในส่วนของมาตรการเยียวยาสถานประกอบการบันเทิง ลูกจ้าง และนักดนตรี ต้องรอการอนุมัติจากสองหน่วยงานที่ดูแลแหล่งเงินเยียวยาคือ สำนักประกันสังคมซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) จะต้องอนุมัติการเยียวยากรณีสุดวิสัย นอกจากนั้นเงินช่วยเหลือที่ต้องใช้เงินกู้จากคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะต้องมีการเสนอรายละเอียดให้ คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ พิจารณาก่อนเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.
ก่อนหน้านี้นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดูแลช่วยเหลือสถานบันเทิง และกลุ่มอาชีพที่มีความเกี่ยวข้องทั้งในสถานประกอบการที่ปิดไปเป็นระยะเวลานาน ซึ่งภาครัฐต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยในขณะนี้มีการเห็นชอบในแนวทางการให้ความช่วยเหลือแล้วแบ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือที่จะใช้เงินจากกองทุนประกันสังคม และใช้เงินจากพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน พ.ศ. 2564 (เพิ่มเติม)
ในส่วนแรกการเยียวยาให้กับผู้ประกอบการสถานบันเทิง ลูกจ้างที่อยู่ในระบบสังคม ที่เป็นผู้ประกันตนอยู่ในระบบประกันสังคมอยู่แล้ว กลุ่มนี้นอกจากจะได้รับเงินตามสิทธิการว่างงาน ที่ประกันสังคมคุ้มครองแล้ว จะได้เสนอให้บอร์ดประกันสังคมพิจารณาจ่ายเงินฉุกเฉินเพิ่มเติมกรณีว่างงานสุดวิสัย
ทั้งนี้การช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
1.กลุ่มนายจ้าง สถานประกอบการที่ส่วนมากอยู่ในส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งรัฐบาลให้นโยบายการเยียวยาหัวละ 3,000 บาท ตามจำนวนลูกจ้างต่อเดือน
2.ผู้ที่เป็นศิลปินอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แนวทางคือ จะต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมตามมาตรา 40 ซึ่งคาดการณ์ทั้งประเทศจะมีไม่เกิน 1 แสนคน แต่ปัญหาอยู่ที่การรับรอง จึงขอให้สมาคมต่างๆ รับรองบุคลากรคน
ทั้งนี้วันนี้จะมีการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปนำเสนอต่อ สศช.ในการพิจารณาเงินกู้ของกระทรวงการคลัง และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยไม่ต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบศ.) อีก
"เบื้องต้นถ้ามีจำนวน 1 แสนคน ให้คนละ 5 พันบาท จะใช้เงินประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งคุ้มค่ามากกว่าการที่อนุญาตให้เปิดผับบาร์ในช่วงนี้ เพราะหากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาต้องใช้เงินมากกว่า 500 ล้านบาท หรือมากกว่า 1 พันล้านบาท" นายสุชาติ กล่าว
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์