กฟผ.ชี้ 5 เมกะเทรนด์พลังงาน ลดคาร์บอน-เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้า
ธุรกิจพลังงานเป็นกลุ่มที่ถูกปัจจัยคุกคามหลายประเด็นทั้งด้านเทคโนโลยีและการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นกลุ่มแรกที่จะถูกเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมจากกรมสรรพสามิต จากปัจจัยดังกล่าวจึงเห็นเมกะเทรนด์ในประเด็นของธุรกิจพลังงานในปี2565
บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศเต็มที่ เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และจะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี2065
อย่างไรก็ตาม การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ต้องอาศัยความร่วมมือในการขับเคลื่อนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร โดย กฟผ.นำนโยบายดังกล่าวมาปรับแนวทางดำเนินงาน ดังนั้น ปี 2565 สิ่งที่จะเห็นชัดเจน คือ
1.รูปแบบการผลิตไฟฟ้า ที่ไม่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงเป็นแนวโน้มพลังงานในอนาคต
2.การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่มีความเหมาะสมในอนาคตส่งผลให้กลุ่มผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจะนำพลังงานทดแทนมาเสริมในรูปแบบต่างๆ ประกอบด้วย
การใช้โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ในการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจัยราคาที่ลดลงและจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนผิวน้ำ เพื่อไม่ต้องแย่งพื้นที่และลดการระเหยของผิวน้ำ
การใช้พลังงานลม (Wind Energy) เป็นอีกแนวโน้มหนึ่งที่จะเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า แต่การที่ไทยอยู่บนพื้นที่ที่มีความเร็วลมต่ำทำให้พลังงานลมรูปแบบกังหันลมในทะเลเป็นอีกทางในการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ต้องศึกษาความเหมาะสมต่อไป
ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เนื่องจากความผันผวนของการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และพลังงานลม ทำให้เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซไฮโดรเจนโดยใช้เซลล์เชื้อเพลิง (Hydrogen Fuel Cell) เป็นอีกแนวโน้มหนึ่งในการผลิตไฟฟ้าในอนาคต หลังการของการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบนี้คือ การน้ำไฟฟ้ามาทำปฏิกิริยาแยกก๊าซ ซึ่งจะได้ไฮโดรเจนมาเก็บไว้ และเมื่อต้องการพลังงานไฟฟ้าก็จะน้ำไฮโดรเจนนี้กลับมาผลิตไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่ง
เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) เป็นกุญแจสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการผลิตไฟฟ้าที่ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปสู่การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน
3.ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อสนองนโยบาย Electrification ที่มีการส่งเสริมให้มีการใช้รถ EV มากยิ่งขึ้น ทำให้มีการขยายตัว การใช้ EV อย่างรวดเร็ว จึงคาดการณ์ว่าปีหน้าจะมีจำนวนรถ EV เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย และมากยิ่งขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นการรองรับการใช้งาน EV ระบบไฟฟ้าจะต้องสามารถสนับสนุนการใช้งานในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น จึงมีการพัฒนาระบบสมาร์ทต่างๆ
4.สถานีชาร์จ EV เพื่อเตรียมความพร้อมการใช้งานและรองรับการเพิ่มมากขึ้นของผู้ใช้รถ EV จะทำให้ EV Charging Station และ Chargers ขยายตัวเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้งาน ซึ่ง กฟผ.ได้ทำการติดตั้งสถานีชาร์จทั้งที่ทำการ กฟผ.เองและผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อกระจายสถานีชาร์จ EV ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในปี 2565 จะเห็นความต้องการพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และต้องการระบบกักเก็บพลังงาน ควบคู่ระบบจัดการดิจิทัล ยังคงเติบโตต่อเนื่องในขณะที่ไทยกำลังก้าวสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ตามที่ได้วางไว้ โอกาสทางธุรกิจการลงทุนจะมุ่งสู่พลังงานหมุนเวียนมากกว่าฟอสซิล ทั้งนี้ เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และใช้ทรัพยากรด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
5. ราคาพลังงานหมุนเวียนจะมีต้นทุนที่ถูกลง เนื่องจากจากมีการแข่งขัน ทำให้ตลาดพลังงานไฟฟ้าในอนาคตจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซับซ้อนและสร้างความผันผวนในการใช้พลังงานมากขึ้น