อุตสาหกรรม Automate Cold Chain Warehouse โตรับ EEC

อุตสาหกรรม Automate Cold Chain   Warehouse โตรับ EEC

Automate Cold Chain Warehouse หรือคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิด้วยระบบ Automation เป็นธุรกิจหนึ่งของอุตสาหกรรม New S-curve หนึ่งในเป้าหมายEECที่ภาครัฐพยายามส่งเสริมด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษี

 โดยในช่วง ปี 2021-2025 Krungthai COMPASS คาดว่ามูลค่าธุรกิจนี้ในไทยมีแนวโน้มเติบโตถึง 32.9% ต่อปี ทั้งนี้ นอกเหนือจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐดังกล่าวแล้ว ธุรกิจนี้ยังมีแรงหนุนมาจากการเติบโตของความต้องการสินค้าแช่เย็นแช่แข็ง โดยเฉพาะตลาดส่งออก เช่น ผักและผลไม้แช่เย็นแช่แข็งที่ในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2021 มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวถึง 60%YoY หรือมีมูลค่ากว่า 5.1 พันล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ธุรกิจยังได้อานิสงส์เพิ่มเติมจาก โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) โดยในปี 2021 ทางคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ลงนามความร่วมมือด้านการจัดทำระบบห้องเย็น ซึ่งในเบื้องต้น ทางอีอีซี ประเมินว่า ช่วงฤดูกาลของทุเรียนในปี 2022 โครงการ EFC จะสร้างรายได้เพิ่มอีก 20-30% เป็นมูลค่าประมาณ 10,000-15,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้คลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิด้วยระบบ Automation มีโอกาสขยายตัวตาม

การติดตั้งระบบ Automation ในคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ จะสร้างข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าคลังสินค้าควบคุมอุณภูมิทั่วไป โดยสมาคมธุรกิจคลังสินค้าไซโลและห้องเย็นเล็งเห็นถึงข้อได้เปรียบ ดังนี้ 1) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแก่การบริหารจัดการคลังสินค้า ซึ่งทำให้สินค้าในสต็อกหมุนเวียนได้รวดเร็วขึ้น หลังจากมีคำสั่งซื้อสินค้า 2) ช่วยลดความผิดพลาดในการจัดเก็บและเบิกสินค้า และ 3) ช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มความแม่นยำในการทำงานได้ดีกว่าการใช้แรงงาน จึงทำให้คลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิด้วยระบบ Automation มีค่าจ้างแรงงานและค่าไฟฟ้าต่ำกว่าคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิทั่วไป

ปัจจุบัน เทคโนโลยี Automation ที่นิยมใช้ในคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิในไทยมี 2 ประเภท ได้แก่ 1) Automated Storage / Retrieval Storage (AS/AR) หรือ เทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อจัดเก็บสินค้าแบบอัตโนมัติ ทั้งการจัดเก็บสินค้าแบบแนวดิ่งและแบบแนวราบ ภายใต้คำสั่งการของซอฟต์แวร์ระบบการจัดการคลังสินค้า และ 2) Radio Frequency Identification (RFID) หรือ เทคโนโลยีที่นำ RFID Tag มาใช้บันทึกข้อมูลและระบุเอกลักษณ์ของสินค้าด้วยคลื่นวิทยุ

Krungthai COMPASS ประเมินว่าเทคโนโลยี AS/AR จะช่วยให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงานและค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ 21% ของต้นทุนรวม โดยแบ่งเป็นการประหยัดค่าไฟฟ้าที่ 9% และค่าแรงงานที่ 12% ของต้นทุนรวม ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายทั้งสองส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงราว 55% ของต้นทุนรวม ส่วนเทคโนโลยี RFID จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการจัดการสต็อกสินค้า และช่วยลดความเสียหายของสินค้าจากการสัมผัสกับตัวแรงงานได้มากถึง 15%

PkSbxPe2.JPG

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน คลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิด้วยระบบ Automation ในไทยมีมูลค่าธุรกิจที่ประมาณ 400 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียงประมาณ 2% ของมูลค่าธุรกิจคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิโดยรวม ซึ่งถือเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิในอนาคต แต่เนื่องจากมูลค่าการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการจึงควรพิจารณาการใช้เทคโนโลยี Automation ให้เหมาะสมกับการบริหารการจัดเก็บและปริมาณสินค้าของแต่ละราย โดยในระยะแรก ผู้ประกอบการอาจเริ่มนำระบบ Automation มาพัฒนาในบางส่วนของคลังสินค้า ก่อนที่จะขยายไปใช้ทั้งหมด รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อช่วยขยายฐานลูกค้าให้คุ้มค่ากับเม็ดเงินลงทุนควบคู่กันไปด้วย

บทความโดย 

นิรัติศัย ทุมวงษา

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS