ปลุก "เศรษฐกิจ" ให้ "แกร่ง" รับปี 65
จับตามาตรการปลุก "เศรษฐกิจ ปี 65" ของรัฐบาลไทย ให้กลับมา "แกร่ง" ท่ามกลางโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน" และ "การเปิดประเทศ" ที่ท้าทายการบริหาร
วิกฤติ “โควิด-19” คงไม่จางหายไปง่ายๆ ทุกคนต้องอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ ท่ามกลางการเกิดขึ้นของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่าง “โอมิครอน” ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก แม้ความรุนแรงจะไม่มาก ผู้ติดเชื้อแสดงอาการประมาณไข้หวัดธรรมดา
แต่ด้วยการแพร่กระจายที่รวดเร็ว ทำให้หลายภาคส่วน ยังต้องตั้งการ์ดไม่ตกอยู่ในความประมาท การจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังจะจุดติด จากสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลาย ยังต้องห่วงหน้าพะวงหลังกับสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ ที่สร้างความกังวลได้พอสมควร เพราะเมื่อมองภาพรวมโควิดในไทยยังติดเชื้อเป็นหลักหลายพันคนต่อวัน จะดีอยู่ตรงที่มี “วัคซีน ยา” ที่ต้านเอาไว้ได้
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ย.2564 พบว่า สัญญาณดีขึ้นจากการเปิดประเทศ แต่ยังมีความกังวลต่อการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ดัชนีความเชื่อมั่นรอบนี้ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ และปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ทั้งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค.2564 เป็นต้นมา
เหตุผลหลัก คือ การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์เพื่อรองรับ “มาตรการเปิดประเทศ” รวมถึงการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ประเทศเสี่ยงต่ำ บินเข้ามาไทยแบบไม่ต้องกักตัว รวมถึงลดพื้นที่ควบคุมลง ยกเลิกเคอร์ฟิว ให้ธุรกิจประชาชนทำธุรกิจใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ผลักดันมาตรการที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เข้าไปกำกับดูแลราคาน้ำมันที่แพง ด้วยการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่งผลทางจิตวิทยาเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่คาดว่า จะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยในการบริโภคและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
ตลอดจนค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมีมากขึ้นช่วงปลายปี ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเข้ามาหมุนเวียนเพิ่มเติมในระบบเศรษฐกิจกว่าแสนล้านบาท จะหนุนให้เศรษฐกิจไทย และการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นช่วงปลายปีนี้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตปรับตัวสูงขึ้นได้
เราเห็นว่าจากนี้รัฐบาล ต้องเร่งอัดมาตรการฟื้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ออกมาให้ได้อย่างต่อเนื่อง มาตรการที่จะออกมาจากนี้ ต้อง “จุดให้ติด” และ “แรงพอ” ที่จะช่วยบูสท์ระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวมให้คึกคักไปจนถึงปี 2565 อย่างน้อย ไตรมาสแรกของปีหน้า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยต้องมีการเติบโตที่แข็งแรงพอ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขจีดีพี อัตราการว่างงาน เงินเฟ้อ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ทุกตัวควรส่งสัญญาณ “เชิงบวก” นี่คือโจทย์ใหญ่ที่สำคัญ และท้าทายรัฐบาลนี้เป็นอย่างยิ่ง