ธปท. เตรียมเปิดให้แบงก์ ปล่อยสินเชื่อ ดิจิทัลซัพพลายเชน ธ.ค.นี้
ธปท.เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน-ชำระเงินดิจิทัล เอื้อธุรกิจทำธุรกรรมรวมเร็ว ลดต้นทุน ลดเอกสาร คาดให้สินเชื่อดิจิทัลซัพพลายเชนเปิดให้บริการธ.ค.64 ส่วนบริการส่งข้อมูลการซื้อขายสินค้า เริ่มไตรมาส4/65
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.มีการผลักดันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเอื้อให้ทุกฝ่ายได้รับบริการทางการเงินที่สะดวกมากขึ้น เช่น ระบบพร้อมเพย์ เพื่อเอื้อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น ปัจจุบันมียอดการลงทะเบียนพร้อมเพย์เพิ่มขึ้นมา โดยอยู่ที่ 66.9 ล้านหมายเลข และมีการใช้งานเฉลี่ยต่อวัน 29.5 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่าราว 94.1 พันล้านบาทต่อวัน
ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน สำหรับภาคธุรกิจ ยังมีข้อจำกัด ทำให้การทำธุรกรรมของภาคธุรกิจที่ผ่านมายังไม่รับความสะดวกมากนัก โดยเฉพาะกระบวนการซื้อขายระหว่างภาคธุรกิจที่ยังมีต้นทุนสูง ใช้เวลา และมีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดด้านเอกสารต่างๆ
ดังนั้นธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจ หรือ โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business ก็เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถทำธุรกรรมการค้าเป็นดิจิทัลอย่างครบวงจร เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ
อีกทั้งยังเอื้อ ให้ภาคธุรกิจทำรายการซื้อขายสินค้าและชำระเงินทางดิจิทัลอย่างครบวงจรมากขึ้น ทั้งในส่วนผู้ซื้อ ผู้ขาย ที่สามารถเรียกเก็บเงินตามใบแจ้งหนี้ และชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงกับการส่งข้อมูลใบกำกับภาษี ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจ มีความน่าเชื่อถือในด้านข้อมูลธุรกรรมการค้ามากขึ้น สุดท้ายเอื้อให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ง่ายมากขึ้น
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการในระยะแรก มีสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ โครงสร้างพื้นฐานกลางที่ให้ผู้ใช้บริการส่งข้อมูลทางการซื้อขายสินค้า การชำระเงินและภาษี โดยจะมีทั้งบริการรับส่งใบแจ้งหนี้ทางดิจิทัล การให้บริการชำระเงิน บริการชำระเงินที่เชื่อมโยงกับการออกใบเสร็จรับเงินต่างๆ ซึ่งเฟสนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีหน้า
ส่วนที่สอง คือการให้สินเชื่อ หรือ digital supply chain financing เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอี ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เพราะการที่มีข้อมูลทางการค้าอยู่บนดิจิทัล จะทำให้แบงก์สามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในธ.ค.ปีนี้
“โครงการนี้ จะมีประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ให้ชำระเงินคล่องตัวมากขึ้น และช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ ขณะที่ผู้ให้บริการ ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากการให้บริการแพลตฟอร์มที่สามารถนำไปพัฒนาต่อเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ ภาครัฐก็สามารถใช้ช่องทางนี้ส่งต่อความช่วยเหลือในระยะถัดไปได้ สุดท้ายจะช่วยยกระดับการแข่งขันของประเทศในระยะข้างหน้าด้วย”