ปั้น “BRI” ภารกิจใหม่...หุ้นใหญ่ “ORI” !
เจาะแผนลับ “ตระกูลจรูญเอก” ปฏิบัติการภารกิจดัน “บริทาเนีย” เข้าตลาดหุ้น 21 ธ.ค.นี้ ในราคา 10.50 บาท “ศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์” ลั่นเกมชนะธุรกิจท่ามกลางสมรภูมิอสังหาฯ ! เน้นขยายโครงการในทำเลที่มีศักยภาพเติบโตสูง !
หลัง “ตระกูลจรูญเอก” นำพา บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ หรือ ORI ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียม ! เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเมื่อปี 2558 จนสามารถขึ้นแท่น หนึ่งใน “หุ้นขาประจำพอร์ตเซียนหุ้นรุ่นใหญ่” อย่าง “เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล” และภรรยา “วารุณี ชลคดีดำรงกุล” จำนวน 4.32% และ 1.58% ตามลำดับ
ล่าสุด “พีระพงศ์ จรูญเอก” ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ ORI จำนวน 28.28% (ตัวเลข ณ 23 พ.ย.2564) ตัดสินใจเดินหน้า “การสร้างความมั่งคั่ง” (Wealth Creation) ครั้งใหม่ ! ด้วยการผลักดัน BRI ในฐานะบริษัทในเครือ ORI ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 70.37% เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ด้วยการเสนอขายหุ้นไอพีโอจำนวน 252,650,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10.50 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น เข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) 21 ธ.ค. 2564 นี้ โดยบริษัทจะได้รับเงินจากการเสนอขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้กว่า 2,652,825,000 บาท
แม้ว่าจะเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์อายุน้อยเพียง 4-5 ปี ! แต่ บมจ. บริทาเนีย หรือ BRI ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดที่มีศักยภาพการเติบโตระดับสูง ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ระยะเวลา” อาจจะไม่ได้เป็นตัวการันตีความสำเร็จได้เท่า “ผลงาน”
สะท้อนผ่าน ตัวเลขผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) มี “กำไรสุทธิ” 71.65 ล้านบาท 207.14 ล้านบาท และ 348.72 ล้านบาท ด้าน “รายได้” 515.47 ล้านบาท 1,561.01 ล้านบาท และ 2,342.09 ล้านบาท
หากย้อนดูเส้นทางของความสำเร็จของ BRI “จุดเริ่มต้น” มาจากการเป็นบริษัทย่อยที่ Spin-Off ออกมาจากบริษัทแม่ คือ “ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้” (ORI) ที่ปัจจุบัน ORI มี “มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด” (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 25,755.06 ล้านบาท
ดังนั้น BRI จึงถูกวางให้เป็น The New S Curve ของกลุ่ม ORI ที่จะบุกตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ โดยเป็นตลาดที่มี “ความต้องการ” (ดีมานด์) ในระดับสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเมือง บวกกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) หลังพฤติกรรมคนเปลี่ยนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ณ ปัจจุบัน BRI มีการพัฒนาโครงการภายใต้ 4 แบรนด์ ประกอบด้วย 1. “แบรนด์ไบรตัน” เป็นโครงการบ้านแฝด และทาวน์โฮม ในพื้นที่ปริมณฑล และต่างจังหวัด จับกลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยทำงาน (First Jobber) 2. “แบรนด์บริทาเนีย” เป็นโครงการที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม จับกลุ่มลูกค้าที่เริ่มต้นสร้างครอบครัว พนักงานบริษัทและเจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก
3. “แบรนด์แกรนด์ บริทาเนีย” เป็นโครงการที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดระดับพรีเมียม จับกลุ่มลูกค้าที่เป็นพนักงานระดับผู้บริหาร เจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดใหญ่ และ 4. “แบรนด์เบลกราเวีย” เป็นโครงการที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวระดับลักซ์ชัวรี่ เน้นฟังก์ชันอยู่อาศัยแบบสมัยใหม่ จับกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้บริหารระดับสูง เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่และคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จเร็ว
“ศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บริทาเนีย หรือ BRI ฉายภาพการเติบโตของธุรกิจให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า โครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบของ BRI เป็นเป็นบริษัท “เรือธง” ของกลุ่ม ORI โดยปัจจุบันมีโครงการครอบคลุมทั้ง บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ปริมณฑล และต่างจังหวัด ซึ่งอนาคตวางเป้าหมายสร้างการเติบโตต่อเนื่อง
สะท้อนผ่าน แผนธุรกิจ 3-5 ปีข้างหน้า (2564-2568) บริษัทจะรักษาระดับการเติบโตรายได้เติบโตปีละไม่น้อยกว่า 30-40% ซึ่งเงินระดมทุนไปใช้ขยายการพัฒนาโครงการใหม่ ชำระคืนเงินกู้ยืม และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยเฉพาะกลยุทธ์การลงทุน มุ่งเน้นการขยายโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการด้านที่อยู่อาศัย รวมทั้งการนำบริษัทก้าวเป็น “ผู้นำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบ” ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาการอยู่อาศัยและยกระดับการใช้ชีวิต
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ได้วางแผนเปิดตัวโครงการใหม่ให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง เช่น สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง พระนครศรีอยุธยา ตลอดจนมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ที่มีศักยภาพ เน้นทำเลใกล้แหล่งนิคมอุตสาหกรรมและจังหวัดที่ได้รับประโยชน์จาก “โครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” (ECC)
ในปี 2565 บริษัทวางเป้าหมายเปิดตัวโครงการใหม่ 10 โครงการ รวมมูลค่า 10,800 ล้านบาท ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และขยายในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยจากการขยายตัวของเมือง
ปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา 6 โครงการ ที่กำหนดเปิดขายในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 รวมมูลค่าโครงการ 4,300 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่กังวลการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน เพราะตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการแพร่ระบาดโควิด-19 บริษัทได้รับผลกระทบเชิงบวก ช่วงที่ล็อกดาวน์ยอดขายบ้านของบริษัทเติบโตดีมาก กลับมองเป็นโอกาสของแนวราบมากกว่า ซึ่งถ้าโอไมครอนรุนแรงก็เป็นโอกาสอีกครั้งของ BRI เพราะโครงการแนวราบตอบโจทย์ได้ดี
สะท้อนผ่านผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564 ทำ “สถิติสูงสุด” ทั้งในด้านรายได้รวมและกำไรสุทธิ โดยบริษัทมีกำไรสุทธิ 164.59 ล้านบาท และรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ 1,045.98 ล้านบาท ขณะที่งวด 9 เดือนแรกปี 2564 สามารถสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ภาพรวมเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงที่ผ่านมา
โดยมีรายได้รวม 2,808.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 452.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.92% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเปิดโครงการใหม่และโครงการในปัจจุบันได้รับการตอบรับที่ดี รวมถึงการบริหารจัดการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ
ท้ายสุด “ศุภลักษณ์” บอกไว้ว่า เรายังมีจุดเด่นในการพัฒนาแบบบ้านและฟังก์ชันให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปจากการศึกษาความต้องการ และปัญหาต่างๆ (Customer Pain Point) ของผู้บริโภค