สมาคมกุ้งไทยเคาะเป้าผลิตปีหน้า 3 แสนตันวอนรัฐหนุนตลอดห่วงโซ่
สมาคมกุ้งไทย วอนรัฐหนุนอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่ หลังคู่แข่ง เวียดนามอเมริกากลาง –ใต้ แซงหน้า ขณะโรครุม ผลผลิตปีนี้ แค่ 2.8 แสนตันเพิ่ม 4 % แต่ต่ำกว่าเป้า ดีที่เงินบาทอ่อนดันส่งออก 10เดือน พุ่ง 9 %
นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า ในปี 64 คาดว่ากุ้งของไทยจะมีผลิตโดยรวม 2.8 แสนตัน เพิ่มขึ้น 4 % เมื่อเทียบกับปี 2563 แต่ต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ 2.9 แสนตัน การส่งออก 10 เดือน ( ม.ค. – ต.ค.) ทำได้ 1.28 แสนตัน มูลค่า 3.9 หมื่น ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปริมาณเพิ่มขึ้น 4 % และมูลค่าเพิ่มขึ้น 9 % โดยทั้งปีคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10 % ส่วนใหญ่ส่งออกในตลาดจีน 1.84 หมื่นตันเพิ่มขึ้น 23 % มูลค่า 5.6 พันล้านบาท และญี่ปุ่น 2.9 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 9.8 % มูลค่า 9.8 พันล้านบาท ส่วนสหรัฐฯ ส่งออกได้ 3.5 หมื่นตัน ลดลง 3.51 % มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท
“การผลิตยังมีปัญหา โดยมีการระบาดโรคตัวแดงดวงขาว ช่วงกลางปีเป็นต้นไป มีการะบาดของโรคหัวเหลือง ปัญหาปัจจัยการผลิตอาหารสัตว์ปรับเพิ่มขึ้น ราคาตกต่ำจากการระบาดของโควิด ในช่วงต้นปี ส่งผลให้เกษตรกรไม่กล้าลงทุน ในขณะที่การส่งออก ยังดีที่เงินบาทอ่อนค่าทำให้มูลค่าปรับเพิ่มขึ้น และยังมีปัญหาตู้คอนเทรนเนอร์ขาดแคลน ค่าขนส่งราคาสูงในเส้นทางการส่งไปตลาดสหรัฐอเมริกา ในขณะที่สหรัฐหันไปสั่งซื้อจากอเมริกากลาง-ใต้มากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการขนส่งถูกกว่า
ส่วนตลาดจีน แม้และญี่ปุ่น แม้ไทยจะส่งออกได้มากขึ้น แต่ทั้ง 2 ประเทศ มีการแข่งขันด้านการตลาดที่สูงมาก ทั้งจีนที่มีกำลังการผลิตภายในประเทศ ถึง 8 แสนตัน เพิ่มขึ้น 45 % และเวียดนามที่ผลผลิต 5.2 แสนตัน เพิ่มขึ้นสูง 12 % ซึ่งมีการปรับวิธีการเลี้ยงจากบ่อดินเป็นบ่อถัง โดยรัฐบาลอุดหนุนสินเชื่อเพื่อผลักดันให้ผลผลิตกุ้ง แตะ 1 ล้านตันตามนโยบายหลัก ดังนั้นเวียดนามจึงเป็นประเทศดาวรุ่งของเอเชียด้านการผลิตกุ้ง และอินเดียมี ผลผลิต 7.3 แสนตัน เพิ่มขึ้น 22 % ทั้งหมดมุ่งส่งจีนเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการกุ้งของตลาดโลก ยังปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยยังมีโอกาสในการขยายตลาด โดยอาศัยภาพความเชื่อมั่นของกุ้งไทยที่ยังเป็นอันดับ1 เรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยอาหาร และปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ทั้งเป็นแหล่งผลิตลูกพันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก อาหารกุ้งที่มีประสิทธิภาพ การมีเกษตรกรผู้เพาะฟักและอนุบาลลูกกุ้ง-เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่มีทักษะประสบการณ์ มีผู้ประกอบการห้องเย็นแปรรูปกุ้งที่มีความสามารถ และอื่นๆ
“รัฐบาลไทยต้องมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมกุ้งอย่างเต็มรูปแบบ ตลอดห่วงโซ่การผลิต มีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยการวางแนวทางลดและต้นทุนการผลิตใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยง ตัดต้นทุนแฝงที่สร้างความเสียหายจากโรคกุ้งที่ยังรุนแรงอยู่ วางแผนและพัฒนาการผลิตกุ้ง ให้ได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ให้เพียงพอกับการส่งออกและบริโภคภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตรายอื่น”
รวมทั้งต้อง ส่งเสริมพัฒนาการผลิตและแปรรูปกุ้งกุลาดำ การพัฒนาการเลี้ยง เพื่อลดความเสี่ยงจากโรค โดยรัฐสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยี รวมทั้งมีผู้สนับสนุนการพัฒนาที่ถูกต้องและร่วมรับผิดชอบด้วย เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจะได้นำไปลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตเพื่อความยั่งยืน ฯ
“ทั้งหมดหวังว่าในปี 65 จะผลักดันให้ผลผลิตกุ้งของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนตัน และการส่งออกปรับเพิ่มขึ้น 10 %จากปีนี้ โดยอยากให้รัฐบาลเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ กับสหภาพยุโรปหรืออียูโดยเร็ว เพื่อให้ไทยส่งออกกุ้งในตลาดนี้มากขึ้น จาปัจจุบันที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษหรือจีเอสพี ทำให้การส่งออกลดลงเหลือ 3.6 พันตันเท่านั้นเทียบกับก่อนหน้าที่ส่งออกได้มาก 6-7 หมื่นตัน โดยตลาดนี้ยังมีความต้องการกุ้งสูงมาก”