3 นักลงทุน ลงขัน 200 ล้าน เปิดพื้นที่สานคอนเน็คชั่น ตอบไลฟ์สไตล์เศรษฐีรุ่นใหม่
3 นักลงทุน "จิรัฐ บวรวัฒนะ" จากวงการสื่อและเอ็นเตอร์เทนเมนท์ "วิทูร เลิศพนมวรรณ" แวดวงการเงิน "ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์" วงการเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ ลงขันก้อนโต ก่อตั้งบริษัท ครีเอทีฟ ไลฟ์สไตล์ เวนเจอร์ จำกัด โดยถือหุ้นสัดส่วน 40% 40%และ 20% ตามลำดับ เพื่อลุยธุรกิจรับเศรษฐีใหม่
จิรัฐ เล่าว่า ธุรกิจของบริษัทคือการปั้นโมเดลฟิลคอลเล็คชั่น”(Phill Collection) นำไลฟ์สไตล์ต่างๆมาสร้างเป็นอีโคซิสเทมรับการใช้ชีวิตของผู้คน ประเดิมการเปิด “ฟิลคลับ” ที่บางรัก River View ริมแม่น้ำเจ้าพระยาสถานที่แฮงเอาท์ และบริการล่องเรือ ตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะนักลงทุน เศรษฐีรุ่นใหม่ อนาคตจะมีการนำสปา ร้านทำผม ฯ เข้ามาให้บริการเพิ่มเติม
สำหรับการขยายธุรกิจครั้งนี้ต้องการตอบสนองความต้องการของเศรษฐี นักลงทุนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความต้องการใช้ไลฟ์สไตล์ การเจรจาธุรกิจ หรือแม้กระทั่งสร้าางสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานต่างจาก “เศรษฐีเก่า” หรือ บรรดา “เจ้าสัว” ต่างๆที่มีเงินมหาศาล เวลาเจรจาการค้า สานสายสัมพันธ์(Connection)กับพันธมิตร นิยมไปตีกอล์ฟเป็นหลัก
ทั้งนี้ ค่าบริการของฟิลคลับ จะแบ่งค่าสมาชิกรายปี 100,000 บาท ซึ่งเป็นเครดิตสำหรับใช้บริการต่างๆ เช่น ล่องเรือชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยา 7 คน อยู่ที่ 10,000 บาท ขนาด 25 คน ค่าบริการ 80,000 บาท โดยสมาชิกจะได้อัพเกรดบริการต่างๆเพิ่ม เช่น จากเสิร์ฟไวน์เป็นแชมเปญ
“เราสามคนอยากรวมไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจ อย่างการล่องเรือยอร์ช แล่นเรือใบในอ่าวไทย ทะเลอันดามัน จึงลงใช้เงิน 50-60 ล้านบาท ซื้อเรือ 3 ลำ มาให้บริการกลุ่มเป้าหมาย”
การออกสตาร์ทที่คลับ และล่องเรือเป็นจุดเริ่มต้น แต่แผน 2 ปี บริษัทจะเดินหน้าซื้อและควบรวมกิจการ(M&A) และร่วมทุนกับพันธมิตรในธุรกิจบริการอื่นๆ เช่น สปา ร้านทำผมฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา 3 ดีล เพื่อเสริมแกร่งให้อีโคซิสเทมมากขึ้น รวมถึงการซื้อเรือเข้ามาให้บริการเพิ่ม ขณะเดียวกันจะขยาย “ฟิลคลับ” ให้ครบ 5 จังหวัด เน้นทำเลริมน้ำ ได้แก่ เขียงใหม่ พัทยา ระยองและภูเก็ต ก่อนหน้านี้ บริษัทได้เข้าซื้อกิจการ “นพบุรี บาร์” ที่เชียงใหม่ เพื่อรองรับธุรกิจ
วิทูร เลิศพนมวรรณ-จิรัฐ บวรวัฒนะ-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์
“เราคุยอยู่ 3 ดีล คุณสมบัติของธุรกิจที่จะเข้ามาจะต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง ส่วนการลงทุนไม่จำเป็นต้องถือหุ้น 100% หรือถือหุ้นใหญ่ ซึ่งการขยายธุรกิจภายใน 2 ปี เราได้กันเงินลงทุนไว้อีก 100 ล้านบาท”
ด้าน วิทูร กล่าวว่า ขณะนี้มีลูกค้าราว 100 รายมาสมัครเป็นสมาชิกเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่มาจากเครือข่ายผู้ก่อตั้ง แบ่งเป็นนักลงทุนสัดส่วน 60% ส่วนใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป และเป็นนักลงทุนที่มีพอร์ตมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านบาท ที่เหลือ 40% เป็นศิลปิน นักแสดง และเซเลบริตี ซึ่งมีการสมัครสมาชิกและจ่ายค่าบริการแล้ว สูงสุดอยู่ที่หลัก "ล้านบาท"
“ผมอยู่ในแวดวงการเงิน เป็นที่ปรึกษาการลงทุนมา 12 ปี บริษัทมีลูกค้าที่มีมูลค่าพอร์ตรวม 30,000 ล้านบาท โดย 2 ปีที่เกิดวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด กลับมีเศรษฐีรุ่นใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก เดิมไลฟ์สไตล์คนเหล่านี้มักจะใช้เงินที่หามาได้ไปเที่ยวต่างประเทศ ใช้บริการในคลับต่างๆ และจากอินไซต์ทำให้พบว่ากลุ่มคนนี้นี้มีความต้องการเวิร์ค ไลฟ์ บาลานซ์ อยากเปลี่ยนที่นั่งประชุม เอ็นจอยการทำงานได้ทุกที่ เราจึงสร้างไลฟ์สไตล์คอมมูนิตี้มาตอบโจทย์”
ทั้งนี้ ในการเสริมบริการตอบไลฟ์สไตล์ลูกค้า จะเป็นการซื้อกิจการ เนื่องจากวิกฤติโควิด ส่งผลกระทบให้ธุรกิจผักผ่อน(Hospitality)ปิดกิจการจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย และการเจรจาซื้อกิจการค่อนข้างได้ราคาที่เหมาะสม
ด้าน ณัฐวุฒิ กล่าวว่า การมีฟิลคอลเล็คชั่นทำให้นักลงทุนสตาร์ทอัพ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมีความเชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น เพราะเป็นแหล่งของการรวมตัว รวบรวมแปลกเปลี่ยนข้อมูลที่ดี และการทำธุรกิจครั้งนี้ยังเป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งพากัน(Sharing economy) อย่างพัทยาที่มีเรือยอร์ช 4 ห้องนอน เพื่อค้างคืนได้
ในอนาคตบริษัทจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อรองรับบริการในอีโคซิสเทม และการผนึกกับธุรกิจต่างๆมาเสริมแกร่งมากขึ้น เช่น ให้ใช้คริปโตเคอร์เรนซีใช้จ่ายค่าบริการต่างๆในคอลเล็คชั่นได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การทุ่มทุนลุยธุรกิจครั้งนี้ ทั้ง 3 นักลงทุน ไม่ได้โฟกัสการทำ “กำไร” เพราะต้องการให้เป็นพื้นที่สร้างคอนเน็คชั่น และต่อยอดธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจเติบโตขึ้น