รัฐ-เอกชน เข็น‘ดิจิทัลซัพพลายเชน’ เอื้อเอสเอ็มอีก้าวสู่โลกดิจิทัล
รัฐผนึกสมาคมธนาคารไทย ธปท.ผุดโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินธุรกิจเอสเอ็มอี เปิดให้บริการ “ดิจิทัลซัพพลายเชน” หวังธุรกิจรายย่อยเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น แบงก์ชาติ ชี้เป็น “เกม เชนจ์” หนุนเอสเอ็มอีก้าวสู่โลกดิจิทัล ลดข้อจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อ-บริการทางการเงิน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาภายใต้การระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งมีผลกระทบมากขึ้น ต่อธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ถูกกระทบ ทั้งด้านเงินทุน สภาพคล่อง เงินทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ที่ผ่านมา ภาครัฐ ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือออกมาต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) สินเชื่อฟื้นฟู 2.5 แสนล้านบาท จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงโครงการพักทรัพย์พักหนี้ รวมถึงมาตรการต่างๆที่ภาคเอกชนออกมาก่อนหน้าเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี
แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากภาครัฐและเอกชนมีส่วนช่วยเอสเอ็มอีได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยเฉพาะเอสเอ็มที่เข้าถึงบริการทางการเงินอยู่แล้ว มีประวัติชำระหนี้ที่ดี มีหลักประกัน แต่ยังมีอีกส่วนใหญ่ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน เหล่านี้รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามหาแนวทางช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญของภาคเศรษฐกิจไทย
ล่าสุด ได้มีการนำโครงการ “Digital Supply chain Finance” มาช่วยภาคธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้าถึงบริการทางการเงินผ่านดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งถือจะเป็นกุญแจสำคัญในการช่วย และยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีโอกาส เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ในอัตราที่เหมาะสม และเป็นธรรมอย่างยั่งยืนมากขึ้น ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานในระบบการเงินที่สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในระยะข้างหน้าได้
หนุนธุรกิจสู่โลกดิจิทัล
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในยุคที่โลกเศรษฐกิจและการเงินต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากกระแสดิจิทัล ธปท.ได้เร่งส่งเสริมและผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้พัฒนาประสิทธิภาพบริการทางการเงิน เพื่อตอบโจทย์ภาคประชาชน ธุรกิจและภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกันกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจ ภายใต้โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business ครั้งนี้ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการค้าและการชำระเงินของภาคธุรกิจ
โดยหลายประเทศ ที่มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานในลักษณะนี้ เช่น อังกฤษ สามารถลดต้นทุนการจัดการเอกสารต่อรายการได้กว่า 65% ขณะที่สหรัฐฯ ธุรกิจสามารถรับเงินได้ตรงเวลามากขึ้นกว่าเท่าตัว ด้านฝรั่งเศษสามารถลดค่าจัดส่งเอกสารได้ถึง 96% และลดเวลาของกระบวนการทั้งหมดลงจาก 15 วันเหลือเพียง 3 วัน
ช่วยลดผลกระทบโควิด
ทั้งนี้ โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure มี 2 ส่วน คือ 1.บริการด้านการค้าและการชำระเงิน ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการเชื่อมข้อมูลข้างต้นอย่างครบวงจร
2.บริการด้านสินเชื่อ หรือ Digital Supply chain Finance ในการนำข้อมูลบริการด้านการค้าการชำระเงินมาใช้ตรวจสอบเอกสารสำหรับการให้สินเชื่อได้ โดยจะเปิดให้บริการนี้ได้ก่อน เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
“หวังว่าบริการ Digital Supply chain Finance จะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและตอบโจทย์เอสเอ็มอีให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ เพื่อพร้อมปรับตัวสู่โลกใหม่ หากเปรียบพร้อมเพย์ เป็น game changer ในการชำระเงินดิจิทัลประชาชน ก็เชื่อว่าโครงการนี้ ที่มี บริการ Digital Supply chain Finance จะเป็น game changer ที่จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กระแสดิจิทัลได้ดีเช่นกัน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
หวังเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่ปกติมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบอยู่แล้ว จนต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ที่มีดอกเบี้ยสูง และมีการติดตามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ขณะเดียวกันหากดูการเข้าถึงบริการทางการเงินของเอสเอ็มอีที่ผ่านมา ปี 2561 พบว่า มีเอสเอ็มอีเพียง 5.2 แสนราย หรือ 17% เท่านั้น ของเอสเอ็มอีทั้งประเทศที่มี 3 ล้านคน ที่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้
ดังนั้น จึงต้องเร่งหาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เร็วขึ้น
ลดปลอมแปลงเอกสารกู้เงิน
โดยผ่านโครงการ Digital Supply Chain Finance ภายใต้แผนงาน Smart Financial and Payment Infrastructure for Business ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับธุรกรรมการซื้อ-ขายในรูปแบบดิจิทัล ทดแทนการออกและรับเอกสารทางการค้าในรูปแบบกระดาษที่มีความไม่คล่องตัว รวมทั้งลดความกังวลการปลอมแปลงเอกสารและการใช้เอกสารเวียนขอสินเชื่อซ้ำซ้อน
ทั้งนี้ แพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวกลางเพื่อลดช่องว่างระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อ ซึ่งมีสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่าให้มีโอกาสช่วยเหลือซัพพลายเออร์ของตน
รวมทั้งธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ขาย หรือเอสเอ็มอี เพื่อให้ได้รับค่าสินเชื่อทันทีเมื่อมีการส่งสินค้า และอนาคตข้อมูลพฤติกรรมผู้ขายและผู้ซื้อภายใต้โครงการ Digital Supply chain Finance รวมถึงข้อมูลทางเลือกอื่น เช่นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือการซื้อสินค้าออนไลน์ ให้กับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) เพื่อช่วยพัฒนาขีดความสามารถ เพิ่มประสิทธิภาพการให้พิจารณาด้านสินเชื่อ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพการแข่งขันอย่างยั่งยืนมากขึ้น
ส.อ.ท.หนุนอุ้มเอสเอ็มอี
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า 1 ใน 6 ของยุทธศาสตร์ที่ ส.อ.ท.ให้ความสำคัญคือประเด็น การเงินที่เกี่ยวข้องกับารให้คำปรึกษาด้านการเงินและภาษี การขอกู้เงินและการจัดทำบัญชี การนำเข้าและส่งออก รวมถึงเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
โดยที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้ผลักดันมาตรการออกมาต่อเนื่อง เพื่อหนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาทิ โครงการ FTI Faster Payment ที่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ชำระค่าสินค้าหรือบริการให้แก่คู่ค้าที่เป็นเอสเอ็มอีภายใน30วัน รวมถึงการผลักดันเรื่องสินเชื่อ Supply Chain Factoring
ดังนั้นหวังว่า Digital Supply chain Finance Platform จะเป็นอีกโครงการในการช่วยเหลือซัพพลายเออร์ในเครือข่ายให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ Supply Chain ของแต่ละธุรกิจมากขึ้น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า เชื่อว่า Digital Supplychain Finance จะช่วยให้เอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและสิทธิประโยชน์จากภาคการธนาคารได้จริง และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยทำให้เกิดประโยชน์ในการสร้างฐานข้อมูล หรือบิ๊กดาต้า เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีต่อเนื่องในอนาคตด้วย
หวังเชื่อมสถาบันการเงิน
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า เอสเอ็มอี ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันในภาคการค้าและบริการ มีจำนวนเอสเอ็มอี อยู่ในระบบกว่า 1.4 ล้านราย คิดเป็น 45% ของเอสเอ็มอีทั้งประเทศ ที่มีการจ้างงานเกือบ 10 ล้านคน และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 2.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13 % ของจีดีพี
สำหรับการสร้างแพลตฟอร์ม Digital Supply chain Finance จะเป็นตัวเชื่อมสำคัญระหว่างผู้ขายและสถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินนำไปใช้เป็นหลักฐานการประกอบการพิจารณาสินเชื่อ และอาศัยเครดิตของผู้ซื้อรายใหญ่ ทำให้การอนุมัติสินเชื่อรวดเร็ว ลดความเสี่ยงเกิดหนี้เสียได้
ดังนั้นเชื่อว่าแพลตฟอร์มนี้ จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และเป็นฟันเฟืองให้เอสเอ็มอีก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องแหล่งเงินทุน สร้างแต้มต่อในการทำธุรกิจและขยายการดำเนินธุรกิจ ช่วยต่อลมหายใจให้กับเอสเอ็มอีในการพลิกฟื้นธุรกิจ ให้กลับมาแข่งแกร่งได้อีกครั้ง