ไม่ปรับก็ตาย! ส่องบิ๊กมูฟปี 64 ยักษ์ธุรกิจไทย เคลื่อนไหวร้อนแรง ทุ่มซื้อ-ร่วมทุน-ขยายกิจการ

ไม่ปรับก็ตาย! ส่องบิ๊กมูฟปี 64 ยักษ์ธุรกิจไทย เคลื่อนไหวร้อนแรง ทุ่มซื้อ-ร่วมทุน-ขยายกิจการ

ย้อนดูความเคลื่อนไหวสำคัญของยักษ์ธุรกิจไทย ปี 2564 ขยับ ปรับเปลี่ยน หรือลงทุนอะไรเพิ่มเติมบ้าง เพื่อฝ่าวิกฤติโควิด-19 

ความยากลำบากท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่กินเวลาต่อเนื่องสองปีเต็ม ส่งผลสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งต่อรูปแบบการใช้ชีวิตและเงินในกระเป๋าสตางค์ โดยเฉพาะถ้าดูจากขนาดเศรษฐกิจไทย ปี 2563 ที่หดตัวลงราว 1.2 ล้านล้านบาท และต่อเนื่องจนถึงตอนนี้ ที่ยังไม่สามารถกลับมาสู่ยังจุดเดิมได้

แน่นอนว่า แรงกระเพื่อมถัดมาย่อมส่งผลโดยตรงต่อภาคธุรกิจที่จำเป็นต้อง “ปรับ” ถ้าอยากจะรอด! “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนมาส่องดูกันว่า ปี 2564 ที่ผ่านมา เราได้เห็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญๆ ของยักษ์ธุรกิจไทย เขาปรับตัวอย่างไรกันบ้าง

  “ไม่ขยับก็ไม่รอด” ย้อนส่องการเคลื่อนตัวของธุรกิจไทยในปี 2564  

การขยับตัวที่เกิดขึ้นอาจจะยังไม่สามารถการันตีความสำเร็จได้ตั้งแต่ในวันนี้ แต่การไม่ทำอะไรเลยก็คงมีเพียงแค่คำตอบเดียว คือ ธุรกิจไปไม่รอด  การปรับตัวของภาคธุรกิจไทยจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ต่างอะไรกับการแก้โจทย์ที่ผลลัพธ์จะหมายถึงความอยู่รอดขององค์กรในโลกที่จะวิ่งเร็วขึ้นหลังจากนี้ 

ตลอดปี 2564 นี้ ธุรกิจไทย โดยเฉพาะธุรกิจใหญ่ก็ได้มีการปรับตัวกันอย่างคึกคัก อาทิ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) โดยปรับจากการมีธุรกิจหลักเป็นธนาคาร เป็นการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) ในนาม เอสซีบีเอ็กซ์ (SCBX) เพื่อมาดูแลธุรกิจทั้งหมดที่จะแตกย่อยออกมาจากธนาคาร และธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ซึ่งการปรับตัวครั้งนี้มีขึ้นเพื่อทลายข้อจำกัดของธุรกิจธนาคาร และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและการหารายได้ ลดการพึ่งพารายได้และกำไรจากธุรกิจธนาคาร 

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่เอสซีบีเท่านั้น ยังมีธุรกิจอีกหลายเจ้าที่ทำการปรับตัวในปีนี้เช่นกัน เพียงแต่วิธีการปรับตัวของแต่ละธุรกิจก็ได้มีความแตกต่างกันตามเงื่อนไขของธุรกิจ วิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร หรือความจำเป็นที่เกิดขึ้น เป็นต้น ซึ่งรูปแบบที่แตกต่างดังกล่าวนี้สามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้ 

 

  •   การซื้อกิจการ/ขยายกิจการ  

ในหลายครั้งที่การแก้โจทย์ทางธุรกิจก็จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ธุรกิจของตนไม่มี แต่การจะจัดตั้งบริษัทใหม่ก็มีต้นทุนที่สูง และยังต้องใช้ระยะเวลาที่มากพอจะสร้างความสำเร็จ ทำให้การสร้างธุรกิจใหม่เพื่อเสริมธุรกิจเดิมที่ทำอยู่จึงมีต้นทุนทั้งเรื่องการเงินและระยะเวลา ซึ่งหากธุรกิจใหม่ที่สร้างขึ้นนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยิ่งจะส่งผลเสียหายต่อธุรกิจหลัก

กลยุทธ์การซื้อกิจการที่เกิดขึ้นจึงเป็นจะกำจัดต้นทุนข้างต้น เพราะธุรกิจที่สามารถดำเนินงานมาสักระยะ ย่อมมีความพร้อมทั้งด้านข้อมูลและการดำเนินงาน จึงเสมือนเป็นการจัดตั้งบริษัทสำเร็จรูปที่พร้อมต่อการส่งเสริมการดำเนินงานของธุรกิจหลัก ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจหลักได้รวดเร็วกว่าการปล่อยให้เติบโตเอง

นอกจากนี้ ยังเกิดการประหยัดต้นทุนจากความสามารถในการขยายขอบเขตที่เอื้อต่อดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย (Economies of scope) ขึ้นอีกด้วย 

วิธีการเข้าซื้อกิจการมีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ การซื้อสินทรัพย์ (Asset Acquisition) และ การซื้อหุ้น (Share Acquisition) โดยมักจะเกิดขึ้นจากการตกลงกันของบริษัทที่จะซื้อกับบริษัทที่จะถูกซื้อ โดยบริษัทที่ต้องการซื้อกิจการ จะทำการเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยที่อาจไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าซื้อหุ้นทั้งหมด หรือถอนหุ้นเดิมออกจากตลาด

อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมเป็นเจ้าของก็มีทั้งแบบที่เป็นมิตร และไม่เป็นมิตร โดยการซื้อกิจการที่ไม่เป็นมิตรจะเป็นการเข้าถือหุ้นในสัดส่วนที่มากอย่างที่ไม่เต็มใจของธุรกิจหรือบริษัทที่ถูกซื้อ ซึ่งในปัจจุบัน มักจะเกิดขึ้นอย่างเป็นมิตร จากการเล็งเห็นผลประโยชนร่วมที่จะเกิดขึ้น 

  •  ธุรกิจไทยที่ใช้กลยุทธ์ซื้อกิจการในปี 2564

1. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี (GULF) ซื้อ อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH)

สัดส่วน : GULF ถือหุ้น 81.07% หรือประมาณ 81.11% ในกรณีที่มีการใช้สิทธิแปลงวอร์แรนท์ทั้งหมด

มูลค่าการลงทุน : 1.69 แสนล้านบาท

GULF : ธุรกิจผลิตพลังงานชั้นนำของประเทศไทย

INTUCH : ธุรกิจด้านการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ เทคโนโลยี และดิจิทัล และเป็นผู้ถือหุ้น ADVANCE ด้วยสัดส่วน 40.45% ในปัจจุบัน 

2. เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ซื้อ สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ (SF) 

สัดส่วน : CPN ได้ประกาศซื้อกิจการทั้งหมดของ SF โดยเข้าถือหุ้นกว่า 96.24% 

มูลค่าการลงทุน : 2.36 หมื่นล้านบาท 

CPN : ธุรกิจค้าปลีกและดำเนินกิจการห้างสรรพสินค้าในประเทศไทย 

SF : ธุรกิจด้านการพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าประเภทศูนย์การค้าแบบเปิด (Open-air Shopping Center) 

> หลังการซื้อกิจการ ทาง CPN ได้ทำการถอนหุ้นของ SF ทั้งหมดออกจากตลาดหลักทรัพย์ 

 

3. บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ (SCBS) ซื้อ บิทคับ (ฺBitkub online)

สัดส่วน : SCBS ถือหุ้นที่สัดส่วน 51% 

มูลค่าการลงทุน : 17,850 ล้านบาท 

SCBS : ดำเนินการนำเสนอผลิตภัณฑ์และให้บริการทางการเงินแก่ผู้ลงทุน 

Bitkub : ผู้นำธุรกิจด้านการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย 

4. เซ็นทรัล รีเทล (CRC) ซื้อ แกร็บแท็กซี่ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย)  

สัดส่วน : CRC ถือหุ้นผ่าน Porto Worldwide Limited ที่ 67% 

มูลค่าการลงทุน : 4,500 ล้านบาท   

5. เซ็นทรัล รีเทล (CRC) ซื้อ Selfridges 

มูลค่าการลงทุน : 1.8 แสนล้านบาท 

CRC : ดำเนินธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย 

Grab : ผู้นำด้านอันดับ 1 แพลตฟอร์มการบริการครบวงจร ครอบคลุมธุรกิจให้บริการ การเดินทาง การส่งอาหาร ระบบโลจิสติกส์ การจองโรงแรมและที่พัก และการให้บริการทางการเงิน

Selfridges : เครือข่ายห้างหรูระดับซุปเปอร์ลักชัวรี่ในยุโรป

6. บมจ. ยู ซิตี้ (U) ซื้อ บมจ.แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต

สัดส่วน : U เข้าถือหุ้นที่สัดส่วน 75% 

มูลค่าการลงทุน : 1.5 พันล้านบาท 

U : ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการให้เช่า บริการ จำหน่าย และบริหารอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์

แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ : ธุรกิจประกันภัยที่ครองส่วนแบ่งตลาดที่ 0.3% 

7. Flourish Harmony Holdings ซื้อ Kerry Logistics Network (KLN)

สัดส่วน : Flourish เสนอซื้อหุ้นในสัดส่วน 51.8% 

Flourish : ธุรกิจผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ อยู่ในเครือของ S.F. Holding Co., Ltd. หรือ SF ผู้นำระดับโลกด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น (Shenzhen Stock Exchange)

KLN : ธุรกิจผู้บริการด้านโลจิสติกส์สัญชาติฮ่องกง และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง 

> ภายหลังการเสนอซื้อหุ้นบางส่วนเสร็จสิ้น เคอรี่ เอ็กซ์เพรส หรือ KEX ยังคงเป็นบริษัทไทยโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างผู้ถือหุ้นใดๆ นอกจากนี้ทีมผู้บริหาร กลยุทธ์ต่าง ๆ ขององค์กร และการดำเนินธุรกิจของ KEX จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

8. อีเทอเนิล เอนเนอยี (EE) ซื้อ แคนนาบิซ เวย์ (CW)

สัดส่วน : EE เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 80% หรือจำนวน 800,000 หุ้น

มูลค่าการลงทุน : 650 ล้านบาท  

EE : ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายเอทานอล 

CW : ธุรกิจผลิตกัญชงโดยวิธีการปลูกทั้งในโรงเรือน (Greenhouse) และกลางแจ้ง (Outdoor)

>  EE วางแผนสร้างพื้นที่เพาะปลูกที่ใหญ่ที่สุด มีแผนการที่จะดำเนินการในส่วนต้นน้ำและกลางน้ำ หมายถึงทั้งการเพาะปลูกและการสกัด โดยบริษัทตั้งเป้าเป็นเจ้าแห่งธุรกิจกัญชง-กัญชาอันดับหนึ่งของประเทศ

 

  •   การร่วมทุน  

การร่วมทุน คือ การนำทรัพยากรที่มีอยู่ของแต่ละฝ่ายมาร่วมลงทุนหรือให้ทุนกับกิจการที่ต้องการทุนหรือทรัพยากรอื่นๆ แม้การร่วมทุนสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายรูปแบบ ตั้งแต่การร่วมทุนโดยชั่วคราว อย่าง การนำพัฒนาสินค้าหนึ่งร่วมกัน จนกระทั้งการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ซึ่งบริษัทร่วมทุนนั้นมีสถานะเป็นนิติบุคคลไม่ต่างจากบริษัททั่วไป อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงการร่วมทุนมักจะหมายถึงรูปแบบที่เป็น Venture Capital (VC) และ Joint Venture (JV) 

ความแตกต่างระหว่างการร่วมทุนทั้งสองแบบที่กล่าวไปในข้างต้น คือ วัตถุประสงค์และวิธีการร่วมทุน ในด้าน JV จะร่วมทุนด้วยวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการร่วมลงทุน ในขณะที่ VC ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนมากนัก  ซึ่งเป็นผลมาจากวิธีการการร่วมทุน 

โดยปกติการร่วมทุนของ VC จะเป็นเสมือนแพลตฟอร์มเชื่อมนักลงทุนกับกิจการที่ต้องการได้ทุน VC จะผสานกับนักลงทุน การร่วมทุนจะเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนทำการตอบรับการให้ทุนกับกิจการที่ทำการขอทุน ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการร่วมทุนของนักลงทุนใน VC จึงไม่มีวัตถุประสงค์ที่ตายตัว เนื่องจากขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของกิจการที่เข้าขอทุน

ในทางตรงข้ามกับ JV เสมือนเป็นส่วนกลางของแต่ละฝ่าย ส่วนการร่วมทุนนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่การบรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน 

อย่างไรก็ตาม ข้อดีข้อเสียของการร่วมทุนในแต่ละแบบก็ได้ทำให้เกิดการร่วมทุนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ Corporate Venture Capital (CVC) โดยมีการร่วมลงทุนที่ต่างออกไป โดยทุนที่จะให้แก่กิจการจะเป็นของธุรกิจผู้ก่อตั้ง CVC โดยอาจจะมีวัตถุประสงค์หรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของธุรกิจผู้ก่อตั้งว่าต้องการให้ทุนกับกิจการแบบใด นอกจากนั้นการร่วมทุนแบบ JV ก็อาจจะมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ทุนกับกิจการอื่นเช่นเดียวกับ VC หรือ CVC ได้เช่นกัน 

  • ธุรกิจไทยที่ใช้กลยุทธ์การร่วมทุนในปี 2564

1. ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) x เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) 

รูปแบบการร่วมทุน : Joint Venture 

วัตถุประสงค์ :  ร่วมจัดตั้งกองทุน Venture Capital เพื่อลงทุนใน Disruptive Technology ด้านบล็อคเชน (Blockchain) สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงทั่วโลก 

SCB : ธุรกิจสถาบันทางการเงินชั้นนำของประเทศไทย 

CP : ประกอบธุรกิจผ่านบริษัทลูกที่ทำธุรกิจด้านอาหารและการเกษตร ค้าปลีก ค้าส่ง และโทรคมนาคม ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

> ถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน 50:50 โดยการลงทุนฝ่ายละ 100 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ 

2. PTTOR International Holding (Singapore) x 500 Startups

รูปแบบการร่วมทุน : Venture Capital 

SGHoldCo : ดำเนินธุรกิจ Cafe Amazon ในประเทศสิงคโปร์ และหาโอกาสขยายธุรกิจต่างประเทศของกลุ่มบริษัท PTTOR 

500 Startups : Venture Capital 

วัตถุประสงค์ : จัดตั้ง Orzon Ventures เพื่อเข้าลงทุนในบริษัท Startup ที่มีศักยภาพในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแสวงหาโอกาสในการสร้างธุรกิจ New S-Curve ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะสร้างความแข็งแกร่งและต่อยอดธุรกิจของ PTTOR 

> SGHoldCo เป็นหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnership) ในการลงเงินที่มูลค่า 25 - 50 ล้านดอลลาร์ 

3. อินฟินิธัส บาย กรุงไทย x Accenture 

รูปแบบการร่วมทุน : Joint Venture 

Infinitus : บริษัทวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ มุ่งเน้นการให้บริการด้านการพัฒนา Innovations & Digital Platforms ต่างๆ เพื่อเข้าสู่ Open Banking, Digital Banking Service, Data as a Services รวมถึง Digital Solutions อย่างเต็มรูปแบบ

Accenture : บริษัทที่ปรึกษาและให้บริการด้านเทคโนโลยีและธุรกิจชั้นนำระดับโลก 

วัตถุประสงค์ : จัดตั้งบริษัทร่วมทุน Arise by Infinitus เพื่อเป็นศูนย์กลางพัฒนาบุคคลากรด้านเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ รองรับการขยายธุรกิจของธนาคาร อินฟินิธัส และพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ

> ทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท โดย Infinitus ถือหุ้น 51% และ Accenture ถือหุ้นที่ 49% นับเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มสถาบันการเงินเป็นครั้งแรกในเอเชีย 

4. ไทยยูเนี่ยน กราฟฟิกส์ (TUG) x สตาร์เฟล็กซ์ (SFLEX)

รูปแบบการร่วมทุน : Joint Venture 

TUG : ธุรกิจให้บริการด้านงานพิมพ์ ด้วยระบบออฟเซ็ทแบบครบวงจรที่มีคุณภาพและมาตรฐาน 

SFLEX : ธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน สำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภคตามคำสั่งซื้อของลูกค้า 

วัตถุประสงค์ :  จัดตั้งกิจการการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) และดำเนินธุรกิจอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ใหม่ในอนาคต 

> ทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท 

5. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ x YG Entertainment 

รูปแบบการร่วมทุน : Joint Venture 

GMM : ธุรกิจเพลงและความบันเทิงครบวงจรชั้นนำของประเทศไทย 

YG : ธุรกิจเพลงและสังกัดนักแสดง/ศิลปินชั้นนำของประเทศเกาหลีใต้ 

วัฒถุประสงค์ : จัดตั้งบริษัทร่วมทุน YGMM เพื่อดำเนินกิจการธุรกิจด้านบันเทิงทุกชนิด เเละให้คําปรึกษา เช่น จัดคอนเสิร์ต, ละครเวที และการเเสดงต่าง ๆ 

> ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โดย GMM ถือหุ้น 51% และ YG ถือหุ้นที่ 49% 

6. เอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB10x) x เวิร์คพอยท์ (WORK)

รูปแบบการร่วมทุน : Joint Venture 

SCB10x : ธุรกิจด้านนวัตกรรมดิจิทัล (disruptive digital innovation) และการลงทุนในกองทุน (Venture Capital) และเป็นบริษัทภายใต้เครือ SCBX

WORK : ธุรกิจสร้างสรรค์เนื้อหาบันเทิงแบบครบวงจร 

วัตถุประสงค์ : จัดตั้งบริษัท ทีป๊อป อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (TPOP) เพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่น “T-POP” ให้สามารถเชื่อมโลกของศิลปินไทยและ แฟนคลับจากทั่วโลกไว้ในที่เดียวเปิดโอกาสให้แฟนคลับได้ใกล้ชิดกับศิลปินคนโปรดแบบเอ็กซ์คลูซีฟด้วยฟีเจอร์ต่างๆ พร้อมฟังก์ชั่นด้านเทคโนโลยีทางการเงิน

> ทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท โดย WORK ถือหุ้นในสัดส่วน 60% และ SCB10x ถือหุ้นที่ 40%

7. โนฟ ฟู้ดส์ x อินโนบิก (เอเชีย) 

รูปแบบการลงทุน : Joint Venture 

โนฟ : ธุรกิจเกี่ยวกับการขายส่งผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมี บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ถือหุ้น 100% 

อินโนบิก : ธุรกิจขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ โดยมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ถือหุ้น 100% 

วัตถุประสงค์ : จัดตั้งบริษัทร่วมทุน นิวทรา รีเนจเนอเรทีฟ โปรตีน หรือ NRPT เพื่อลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืช โดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการผลิตและจัดจำหน่ายทั่วภูมิภาคอาเซียน

8. เดอะมอลล์ กรุ๊ป x บิทคับ (Bitkub)

รูปแบบการร่วมทุน : Joint Venture 

เดอะมอลล์ : ธุรกิจค้าปลีกและดำเนินกิจการห้างสรรพสินค้าในประเทศไทย

Bitkub : ผู้นำด้านธุรกิจการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย

วัตถุประสงค์ : จัดตั้งบริษัท บริษัท บิทคับ เอ็ม จำกัด เพื่อร่วมลงทุนและบริหาร “บิทคับ เอ็ม โซเชียล” ให้เป็นดิจิทัลคอมมูนิตี้แห่งแรกของเมืองไทยที่จะเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยน ความรู้ การจัดสัมมนา และการประชุมทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล 

> ถือหุ้นด้วยสัดส่วนที่เท่ากัน 50:50 

9. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) x  เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD)

รูปแบบการร่วมทุน : Joint Venture 

ORI : ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 

JWD : ธุรกิจให้บริการด้านโลจิสติกส์และซับพลายเชนระดับอาเซียน ครอบคลุมทั้งกลุ่ม B2C และ B2B  

วัตถุประสงค์ : จัดตั้ง บริษัท แอลฟา อินดัสเทรียล โซลูชั่น จำกัด เพื่อผสานจุดแกร่งร่วมดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมพร้อมบริการครบวงจร ภายใต้แบรนด์ แอลฟา (ALPHA)

> ถือหุ้นด้วยสัดส่วนที่เท่ากัน 50:50 และมีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนเสนอขายแก่นักลงทุนในรูปแบบทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2566 

10. ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) x มิลเลนเนียม กรุ๊ป (เอเชีย) / MGC Asia 

รูปแบบการร่วมทุน : Joint Venture 

SCB : ธุรกิจสถาบันทางการเงินชั้นนำของประเทศไทย 

MGC Asia : ธุรกิจค้าปลีกยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย 

วัตถุประสงค์​ : ร่วมจัดตั้งบริษัท อัลฟา เอกซ์ จำกัด (ALPHA X Co., Ld.) เพื่อดำเนินธุรกิจบริการสินเชื่อเช่าซื้อ ลีสซิ่ง และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ สำหรับยานยนต์กลุ่มพรีเมียม-ลักชัวรี่ 

> ถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน 50:50 

11. ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) x บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) 

รูปแบบการร่วมทุน : Joint Venture 

SCB : ธุรกิจสถาบันทางการเงินชั้นนำของประเทศไทย

AIS : ธุรกิจโทรคมนาคม ครองสัดส่วนมูลค่าตลาดผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนเป็นอันดับ 1 ของประเทศ 

วัตถุประสงค์ : ร่วมจัดตั้งบริษัทในชื่อ “เอไอเอสซีบี” (AISCB) เพื่อ ให้บริการสินเชื่อแบบ Digital Lending สร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มี Digital Asset Exchange เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของ Ecosystem เอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Ecosystem) 
 

  •   การควบรวม  

การควบรวม คือ การรวมกิจการตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไป หลังการควบรวมจะเกิดเป็นบริษัทใหม่ที่มีบริษัททั้งหมดที่รวมกิจการร่วมเป็นเจ้าของ นอกจากนั้น หุ้นของบริษัทก่อนรวมกิจการจะถูกถอนออกจากตลาดหรือถูกยกเลิกไป โดยผู้ถือหุ้นของเดิมจะได้รับหุ้นของบริษัทใหม่แทน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการควบรวมมักเกิดขึ้นกับบริษัทที่มีขนาดใกล้เคียงกัน 

ข้อแตกต่างของการซื้อกิจการและการควบควม คือ ส่วนของความเป็นเจ้าของ โดยการซื้อกิจการ บริษัทผู้ซื้อจะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แทนเจ้าของเดิม หรือมีความเป็นเจ้าของมากกว่าหรือทั้งหมด และวัตถุประสงค์หรือแนวทางดำเนินธุรกิจอาจจะคงเดิม หรือปรับทิศทางให้สอดคล้องกับความต้องการของเจ้าของใหม่ 

ในทางตรงข้าม การควบรวมเสมือนเป็นการตั้งบริษัทใหม่ เพียงแต่เป็นบริษัทใหม่ที่พร้อมไปด้วยทรัพยากรในการดำเนินงาน ซึ่งความเป็นเจ้าของของบริษัทที่ทำการควบรวมมักจะมีสัดส่วนที่เท่ากัน และแนวทางการดำเนินธุรกิจมักจะเกิดขึ้นจากการตกลงกัน ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการตัดสินใจควบรวม 

ประโยชน์ที่จากการควบรวมนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบของการควบรวม โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ  ดังนี้ 

  1. การควบรวมกิจการในแนวนอน (Horizontal Merger) คือ กิจการที่มาควบรวมกันนั้นประกอบธุรกิจเหมือนกัน หรืออยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการควบรวมในรูปแบบนี้คือ การครองส่วนแบ่งมูลค่าตลาดที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับเสริมความแข็งแกร่งจากข้อเด่นของแต่ละกิจการอีกด้วย
  2. การควบรวมกิจการในแนวตั้ง (Vertical Merger) คือ กิจการที่มาควบรวมกันนั้นอยู่ในสายพานธุรกิจเดียวกัน หรือที่เรียกกันว่าการควบรวมธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) และธุรกิจปลายน้ำ (Downstream)  ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการควบรวมในรูปแบบนี้ คือ การประหยัดต่อต้นทุนโดยรวม (Economies of scope) เพราะการลงทุนของกิจการนั้นอาจก่อประโยชน์ให้ทั้งขั้นตอนการผลิตต้นและปลายน้ำ 
  3. การควบรวมกิจการที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน (Conglomerate Merger) คือ กิจการที่มาควบรวมกันนั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกันในแง่ของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การควบรวมในลักษณะเช่นนี้อาจเกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารของกิจการที่เล็งเห็นผลประโยชน์บางประการที่จะได้ร่วมกัน 
  • ธุรกิจไทยที่ใช้กลยุทธ์การควบรวมในปี 2564

​​​​​​​1. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) - โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)

รูปแบบการควบรวม : แนวนอน

TRUE : ธุรกิจโทรคมนาคม ครองสัดส่วนตลาดผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ภายในประเทศสูงเป็นอันดับ 2 ที่ 32% โดยเป็นธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP 

DTAC : ธุรกิจโทรคมนาคม ครองสัดส่วนตลาดผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ภายในประเทศสูงเป็นอันดับ 3 ที่ 21.7% โดยเป็นธุรกิจของกลุ่มทุน Telenor 

แผนการดำเนินงานของบริษัทใหม่ : ดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจก้าวสู่ Tech Company เพื่อผลักดัน Tech Hub ในประเทศไทย 

> หลังการควบรวม TRUE-DTAC จะครองสัดส่วนตลาดผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ภายในประเทศเป็นอันดับ 1 และมีฐานผู้ใช้สูงที่สุดกว่า 51 ล้านหมายเลข อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยจะเหลือผู้เล่นหลักเพียง 2 หลัก ซึ่งจะมีผลต่อสภาพการแข่งขันทางการค้าของอุตสาหกรรมหลังจากนี้ 


นอกจากนี้ นางสาว ฉันทนุช โชติกพนิช หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานดีล บริษัท PwC ประเทศไทย ยังได้ความเห็นว่า ปริมาณและมูลค่าการทำดีลควบรวมและซื้อกิจการ ในประเทศไทยในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะสูงกว่าช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 หลังจากที่ภาคธุรกิจเริ่มมีความหวังว่าจะกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติได้อีกครั้ง (Reopening) จึงพร้อมที่จะลงทุนหรือทำกิจกรรมดีลส์ในธุรกิจที่จะเป็นเทรนด์ของโลกหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไปเพื่อสามารถสร้างรายได้และกระแสเงินสดได้ทันทีเมื่อทุกอย่างเริ่มฟื้นตัว

ฉะนั้น แนวโน้มการปรับตัวของธุรกิจไทยจะยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เนื่องด้วยมีอีกหลายธุรกิจที่จำเป็นจะต้องขยับตัวเข้ามาให้สอดรับกับเทรนด์ของธุรกิจในโลกอนาคต ไม่เช่นนั้นก็อาจจะไม่มีความสามารถมากพอที่จะพาธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปอีกได้ 

 

อ้างอิง

ภคณี พงศ์พิโรดม 

Techsource