โครงการ EECi เพื่อEEC “ต้องครบ” และ “ต้องเร็ว”
ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2559 จัดตั้งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development: EECi)
เพื่อเป็นศูนย์พัฒนานวัตกรรมในทุกมิติเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ในพื้นที่ EEC นั้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้เป็นเจ้าภาพงานนี้ได้ร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เลือกพื้นที่ “วังจันทร์วัลเล่ย์” เนื้อที่ 3,500 ไร่ จังหวัดระยอง โดยกำหนดพื้นที่ออกเป็น 3 โซน คือ โซนศึกษา โซนวิจัย และโซนชุมชน ซึ่งจนถึงวันนี้ 5 ปีเข้ามาแล้ว ดูงานแล้ว จะว่าเร็วก็เร็ว จะว่าช้าก็ช้า
ที่ว่าช้าก็เพราะว่าพื้นที่ไม่ใช่เป็นพื้นที่ ที่ไม่มีอะไรมาก่อน แต่เป็นที่ตั้งสถาบันการศึกษาระดับโลกที่มีนักเรียนระดับหัวกะทิของประเทศทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 2 แห่ง คือโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)เป็นมหาวิทยาลัยระดับปริญญาโท-เอก รวมทั้งศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ที่เปิดดำเนินการไปแล้ว ทำให้โซนสถานที่ศึกษาดูเหมือนจะเป็นไปตามแผนแล้ว เพราะมีอยู่แล้ว แต่ก็เติมเต็มให้ทันสมัยและครบมากขึ้น แต่งานทั้งหมดในโซนนี้มาจากทุนของกลุ่ม ปตท. และพันธมิตร หากมาจากงบประมาณ ยังนึกภาพไม่ออก
ปัจจุบันพอเห็นโครงการต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาตามแผนงานที่ค่อนข้างรวดเร็วมากในโครงการที่เป็นของเอกชน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นของกลุ่ม ปตท. และพันธมิตร ส่วนที่ใช้งบประมาณของรัฐนั้น ก็เดินไปตามระบบงบประมาณ ที่ก็พอรู้ว่ายากทั้งขอและยากทั้งการใช้ อาทิ อาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะซึ่งเป็นอาคารกลางของโซนนวัตกรรม ที่การก่อสร้างน่าจะเสร็จเร็วๆ นี้
แต่จะสามารถเปิดดำเนินการได้กลางปีหน้าถ้างบประมาณได้ครบ ถึงอย่างนั้นก็ยังถือว่าช้ากว่าแผนเดิมกว่า 2 ปี หรือโรงงานต้นแบบ Biorefinery แห่งแรกของอาเซียน ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท Bio Base Europe กับ สวทช. ที่คาดว่าจะเปิดในอีก 2 ปีข้างหน้า ส่วนโครงการสนามทดสอบการบินของโครน UAV ขนาด 9,000 ตารางเมตร รวมทั้งสนามทดสอบยานพาหนะไร้คนขับที่เพิ่งได้งบประมาณในการศึกษา ออกแบบ รวมทั้ง ศูนย์วิจัยแสงซินโครตรอน ที่คาดว่าจะเปิดในปี 2570 ถ้ามีงบประมาณต่อเนื่อง ซึ่งก็คงอีกนานพอสมควรกว่าจะเห็นเป็นรูปร่าง
ซึ่งโครงการเหล่านี้ทั้งหมดเป็นหัวใจของความสำเร็จของ EECi ดังนั้นต้องภาวนาให้คนจัดสรรงบประมาณของรัฐเข้าใจในเรื่องนี้ และต้องเร่งให้เร็ว ประเภท ปีนี้ให้งบประมาณสร้างอาคาร อีกปีให้งบตกแต่ง อีกปีให้งบซื้อเครื่องมือ ถ้าเป็นแบบนี้ แทนที่ปีเดียวจะเสร็จกลายเป็นสามปี ซึ่งในโลกที่นวัตกรรมไปเร็วเช่นทุกวันนี้ รับประกันว่าไม่มีทางทันเห็นท้ายทอยคู่แข่งแน่ๆ
ดังนั้น การจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณนั้น ก็ขึ้นอยู่กับกระทรวง อว. และสำนักงบประมาณที่จะคุยกันให้เข้าใจตรงกันว่า นี่คือโครงการพิเศษ ไม่งั้นหากใช้ระบบงบประมาณแบบเดิมๆ ที่กำหนดกรอบงบประมาณให้ อว. และให้ อว. จัดลำดับความสำคัญของงานตนเองแล้ว ผมก็ยังเชื่อว่า งานเดิม งานประจำ ที่เป็นภารกิจหลักอยู่แล้วก็ได้รับงบไปก่อน และถ้าจะเกี่ยวข้องกับโครงการ EECi ก็เป็นการพัฒนานั้น พัฒนานี้ที่เป็นงานปกติที่ลงไปช่วยชุมชนบ้าง แต่ก็ไม่ใช่การสร้าง EECi เพื่อเป้าหมายหลัก ส่วนงานใหม่ในโครงการคงเกิดขึ้นยาก หากรัฐไม่เห็นว่า EECi คือ ตัวจุดประกายในการลงทุนในอนาคตของ EEC
เพราะวันนี้ นักลงทุนไม่ได้มองแค่ที่ตั้งสำนักงาน สิทธิประโยชน์พิเศษจากการลงทุนเท่านั้น แต่รวมถึงคุณภาพชีวิตของบุคลากรที่มีคุณภาพของพวกเขาและครอบครัวด้วย และสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของโครงการ EECi อย่างยิ่ง แต่ก็พอเข้าใจได้ว่า ในเรื่องนี้มองได้แบบนักลงทุนว่า ไก่กับไข่ อะไรควรมาก่อนกัน
แม้ว่าโครงการนี้จะวางเวลาไว้ 20 ปี แต่วันนี้ ทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรม ธุรกิจ และคู่แข่งไม่รอนานถึงขนาดนั้น ดังนั้นสิ่งที่ EECi ต้องเร่งทำสิ่งที่ค้าง และเลื่อนมาตลอดนั้นให้เสร็จตามเป้าหมาย (ใหม่) ให้ได้ และเติมเต็มที่ต้องมีให้ครบ และที่สำคัญต้องทำให้เสร็จ เร็ว ด้วย การจัดทำงบประมาณที่ให้ความสำคัญสำหรับโครงการนี้จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่นี่คือ เมืองนวัตกรรม ที่ถูกวางไว้เพื่อเป็นหัวใจของ EEC ทั้งหมด
พิสูจน์อักษรโดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์