กระทรวงเกษตรฯ MOU คปภ. พัฒนาประกันภัยการเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ MOU คปภ. พัฒนาประกันภัยการเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ จับมือ คปภ. ยกระดับประกันภัยพืชผลต่อ ยอด ธ.ก.ส. ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจ พืชรอง หวังลดความเสี่ยง เกษตรกรมั่นใจ อนาคตรัฐถอยมาตรการชดเชยเยียวยา

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งเดียวที่ไม่สามารถควบคุมได้ในภาคการเกษตร ทุกปีรัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อเยียวยาชดเชยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบทั้งน้ำท่วม และแล้ง สร้างความเสียหายต่อผลผลิต

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร( สศก.) จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)  เพื่อผลักดันใช้ระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ถือเป็นจุดเริ่มต้น และโอกาส ในการพัฒนาระบบประกันภัยสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน ออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้การประกันภัย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำการเกษตร

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า  ปัจจุบัน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้นำร่องใช้ระบบประกันภัยไปแล้วในส่วนของข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่ง สศก. จะนำมาขยายขอบเขตไปสู่สินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ

 ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชรอง และสินค้าเกษตรที่มีอนาคตทางการตลาดสูง รวมถึงต่อยอดกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าเกษตรที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว  เช่น ทุเรียน ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ต้นไม้ โคเนื้อ โคนม กัญชา เป็นต้น  โดย สศก. จะร่วมกับ คปภ. ดำเนินการภายใต้ คณะกรรมการความร่วมมือพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตร  เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางในการดำเนินการ สร้างทีมงานร่วมมือทางด้านวิชาการ คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ๆ

 โดยศึกษาข้อมูล อย่างครอบคลุม ครบทุกมิติความเสี่ยง ทั้งความผันผวนของปริมาณผลผลิต ราคา ตลาด และความต้องการของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจ สนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการคุ้มครองความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ หันมาใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทางการเงินของตนเอง

“ การกำหนดเบี้ยประกัน และเกณฑ์การคุ้มครองของสินค้าแต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไป แล้วแต่พื้นที่การเพาะปลูก ซึ่งคณะกรรมการจะใช้แผนที่อะกริแมฟ เข้าไปพิจารณา ร่วมกับพฤติกรรมของเกษตรกร ราคาในตลาดโลก ดังนั้นอัตราการคุ้มครอง และเบี้ยประกันแต่ละปีจะต่างกันออกไป”

กรณีการประกันภัยข้าวที่ ธ.ก.ส. ดำเนินการอยู่นั้น จะเรียกเก็บค่าเบี้ย 96 บาทต่อไร่ โดยที่รัฐบาลจ่ายให้ 55 บาท ที่เหลือเป็นของ ธ.ก.ส. อัตราการคุ้มครองไร่ละ 1,260 บาท หรือเกษตรกรสามารถจ่ายเบี้ยเพิ่มได้ หากต้องการความคุ้มครองมากกว่านี้   

 เป้าหมายของการประกันภัยดังกล่าวคือ ต้องการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งภัยธรรมชาติ และราคา สร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วม  จากปัจจุบันเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น เกษตรกรจะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลอยู่แล้ว กรณีข้าว อัตราไร่ละ 1,340 บาท ซึ่งในอนาคต เมื่อระบบประกันภัยเข้มแข็งขึ้น การช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐก็จะลดลง

 

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะผลักดันประกันภัยด้านการเกษตร ให้ประสบผลสำเร็จ และบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำการเกษตรของเกษตรกรแบบครบวงจร สร้างความเข้มแข็งแก่ภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา คปภ. ได้ให้ความสำคัญ และส่งเสริมการประกันภัยด้านการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนภาคธุรกิจประกันภัย ดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ

เช่น  การประกันภัยข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้ง ตลอดจนต่อยอดไปยังพืชผลชนิดอื่นๆ ให้กับเกษตรกร และพร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตามภูมิภาคหรือพื้นที่เฉพาะ เช่น การประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟ การประกันภัยประมง เป็นต้น อีกทั้ง คปภ. ได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยเพื่อยกร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมให้มีรูปแบบที่ชัดเจน มีความยืดหยุ่น เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ เป็นต้น

 

พิสูจน์อักษรโดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์