ปตท.ย้ำแม้แตกไลน์ธุรกิจใหม่ไม่ทิ้งภารกิจหลักรักษาความมั่นคงพลังงานไทย

ปตท.ย้ำแม้แตกไลน์ธุรกิจใหม่ไม่ทิ้งภารกิจหลักรักษาความมั่นคงพลังงานไทย

“ปตท.” ย้ำเดินหน้า “อินฟราสตรัคเจอร์-ดิจิทัล” รับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน ยันแม้แตกไลน์ธุรกิจหลากหลาย ไม่ลืมพันธกิจหลักสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน หวัง รัฐกำหนดกฎเกณฑ์ภาษีคาร์บอนชัดเจน

นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ Thailand Next EP4 Sustainability Goal คำตอบธุรกิจสู่ “ความยั่งยืน” จัดโดย เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ว่า แนวคิดการดำเนินธุรกิจของ ปตท.นอกจากเป็นบริษัทเอกชนแล้วยังเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นส่วนหนึ่งของภาครัฐ พื้นฐานมาจากธุรกิจปิโตรเลียมที่ดำเนินมา 43 ปี สร้างความเข้มแข็งให้ประเทศมาตลอด วิสัยทัศน์เมื่อก่อนอยากเป็นบริษัทไทยยิ่งใหญ่ข้ามชาติที่คิดว่าถึงเวลาบรรลุความยิ่งใหญ่แล้ว ด้วยการที่มีธุรกิจครอบคลุมแทบทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ ปตท.ได้เปลี่ยนวิสัยทัศน์องค์กร คือ Powering Life with future energy and beyond หรือ ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งชีวิต ด้วยการใช้ชีวิตดำเนินธุรกิจไม่เหมือนเดิม วันนี้รถไฟฟ้า (EV) เพิ่มมากขึ้น บางรุ่นขายออนไลน์ ใกล้ตัวเข้ามาทุกที ซึ่ง ปตท.ทำธุรกิจต่อยอดมีบริษัทลูก หลานกว่า 300 บริษัท ปัจจุบันเน้นเรื่องอินฟราสตรัคเจอร์และดิจิทัลเพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน

“บางคนรู้สึกไม่สบายใจว่าไปทำธุรกิจใหม่อาจทำลายธุรกิจเดิมความตั้งใจทำมา 43 ปีจะดำเนินได้ดีหรือไม่ ยืนยันว่า ปตท.ยังเป็นส่วนหนึ่งของภาครัฐ ที่มุ่งเน้นเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงานถือเป็นพันธกิจหลัก จะเห็นว่าประเทศไทยไม่เคยขาดพลังงาน ไฟไม่เคยดับ ดังนั้น ปตท.จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้นธุรกิจเปลี่ยนไป ปตท.จะขยายต่อยอดในสิ่งที่ชำนาญเพื่อให้มั่นคง แน่ใจแล้วต้องอยู่ได้ในต่อๆ ไป เราผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเยอะ ที่เกี่ยวข้องที่เฝ้าดูแล จะต้องดูแลด้วยความเป็นธรรม”

ทั้งนี้ ปตท.เป็นองค์กรที่ดูเรื่องทรัพยากรของประเทศไทย การปรับตัวสู่อนาคต ทั้งกระแสการรักษ์โลก โกกรีน หรือ Net Zero อุตสาหกรรมพลังงาน และภาคขนส่งปล่อยก๊าซคาร์บอน 70% ดังนั้น เรื่อง future energy and beyond คือ รูปแบบการใช้พลังงานจะต้องเปลี่ยนไปพลังงานสะอาดขึ้น เช่น รถอีวี หลายผู้เล่นกำลังจะเอาเข้ามา ซึ่ง ปตท.ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะออกจากธุรกิจถ่านหิน เมื่อถึงเวลาเหมาะสมจะไม่มีแน่นอน

“เราตั้งเป้าหมาย 10 ปีข้างหน้า จะต้องมีกำไรที่มาจากธุรกิจใหม่ 30% ต้องมาจาก future energy and beyond จากปัจจุบันที่มีไม่เกิน 5% เรามียอดขาย 2.2 ล้านล้านบาท แต่สัดส่วนกำไรจากยอดขายต่ำมาก เป้าที่ท้าทาย และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถือเป็นท้าทาย ซึ่ง ปตท.มีความตั้งใจช่วยรัฐไปถึงเป้า Net Zero ปี 2065”

“ภาครัฐมีส่วนสำคัญ ทั้งกฎระเบียบ ภาษี เราเป็นหนึ่งในองค์กรปล่อยก๊าซเสียเยอะ เราพยายามทำให้สู่เป้า Net Zero เราจำเป็นต้องปลูกป่า เพื่อชดเชยในปริมาณเท่ากัน เราทำมานานดูแลมาจนถึงทุกวันนี้มากกว่า 1 ล้านไร่ ดังนั้น คาร์บอนที่เกิดจากป่าที่ปลูกปี 2537 เราก็อยากได้เครดิตส่วนนั้นเช่นกัน รัฐน่าจะออกกฎระเบียบ”

 

พิสูจน์อักษรโดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์