ธุรกิจลุ้น‘ของขวัญปีใหม่’พยุงศก.ตั้งการ์ดสูงรับมือ‘โอมิครอน’
สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธ์ุ “โอมิครอน” กำลังเป็นที่จับตาท่ามกลางเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ด้านรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นผ่าน “ของขวัญปีใหม่”ไม่ว่าจะโครงการ “ช้อปดีมีคืน" หรือคนละครึ่งระยะที่ 4 รวมทั้งการลดค่าโอนจำนองเพื่อฝ่าวิกฤติโอมิครอน
มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า แนวทางการปิดรับนักท่องเที่ยวชั่วคราวเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุโอมิครอนสะเทือนทุกภาคส่วนไม่น้อย ผนวกกับที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาขอให้ประชาชนทั่วโลกเลื่อนการพบปะสังสรรค์ออกไปก่อนเพราะเกรงทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จนระบบสาธารณสุขล้น และเสียชีวิตกันมากขึ้น ทำให้เกิดความตื่นตระหนกถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่แพ้เดลต้า ทำให้สัญญาณเศรษฐกิจปีหน้ายังมองบวกไม่ได้!
ขณะที่ มาตรการที่ภาครัฐอัดฉีด! ไม่ว่าจะเป็นช้อปดีมีคืน คนละครึ่งเฟส 4 ล่าสุดต่ออายุมาตรการ ลดค่าโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2565 เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจนั้น มองว่า ได้ผลน้อย โดยกรอบวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อ
“มาตรการออกมาไม่ค่อยตอบโจทย์น่าเสียดายที่รัฐไม่ขยายวงเงินอสังหาฯ สูงกว่า 3 ล้านบาท เพราะในปีที่ผ่านมากลุ่มที่สร้างรายได้หลักของภาคอสังหาฯ คือกลุ่มสูงกว่า 3 ล้านบาท”
กำลังซื้อในช่วง2 ปีที่ผ่านมากลุ่มระดับกลาง-บน ช่วยพยุงตลาดอสังหาฯ ด้วยการเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะแนวราบ รองรับวิถีชีวิตใหม่ หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด ต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น ซึ่งเป็นคำถามว่าดีมานด์คนกลุ่มนี้มีเหลืออยู่อีกมากน้อยแค่ไหน ในปีหน้า ที่ยังคงเป็นกลุ่มหลักที่เป็นความหวังให้กับตลาดอสังหาฯ ดังนั้นมาตรการที่ออกมาจึงไม่ตอบโจทย์กับดีมานด์ที่มีความต้องการและความสามารถในการซื้อจริง
ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมาเน้นเจาะกลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องกำลังซื้อ หรือมีรายได้ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนทำงานโรงงาน พนักงานระดับกลางล่าง ซึ่งมีปัญหาเรื่องรายได้ ทำให้ไม่สามารถของสินเชื่อธนาคารได้ หรือกู้ไม่ผ่านเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการซื้อบ้านระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ในปีหน้า “ยากขึ้น” และมาตรการทีออกมาไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายเพราะควรเป็นกลุ่มที่เกิน 3 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามหากรัฐอยากช่วยควรออกมาตรการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะให้เหลือ 0.01%เพราะมาตรการนี้เคยถูกนำมาใช้ในปี2553 แลวได้ผลดีภาพรวมธุรกิจและเศรษฐกิจ หรือ มาตรการบ้านดีมีทอน
“ภาพรวมสถานการณ์ยังรุนแรงแต่มาตรการรัฐที่ออกมากลับอ่อนเกินไปผิดขนานกับโรค และตัวยาไม่แรงพอที่ช่วยแก้ปัญหา ส่วนหนึ่งรัฐอาจมองว่าภาพรวมตลาดกลับมาจากการที่ผู้ประกอบการออกมาบอกว่าจะเปิดโครงการเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นฝั่งของซัพพลายแต่ในแง่ดีมานด์ยังไม่มีแรงซื้อกลับมาเลย เพราะยังไม่มีปัจจัยบวกเข้ามา ยิ่งเจอสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาอีกปีหน้าเหนื่อยกันอีก"
ทั้งนี้ มาตรการที่รัฐออกมาเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตมากกว่า ไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดรายได้หรือ “สภาพคล่อง” มากขึ้น เป็นแค่มาตรการเยียวยาเป็นการแก้ที่ไม่ตรงจุด
ด้าน บุญ ยงสกุล อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จ.ภูเก็ต กล่าว มาตรการที่ภาครัฐออกมาอัดฉีดไม่ว่าจะเป็นต่ออายุ ลดค่าโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% การผ่อนคลายมาตรการแอลทีวีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงมาตรการอัดฉีดของภาครัฐ อาทิ ช้อปดีมีคืน อาจไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากเท่าที่ควรจะเป็น
มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ต้องได้รับการสนับสนุนจากธนาคาร เช่น จะซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาทแม้ว่าค่าธรรมเนียมโอนเหลือแค่ 0.01% แต่ถ้าสินเชื่อไม่ปล่อยก็ไม่สามารถโอนได้ เหตุที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงโอมิครอน ที่จะส่งผลต่อรายได้มีความไม่แน่นอน ภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะดีขึ้น อาจย่ำแย่อีก 3-6 เดือน
“ทุกครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยุโรปผ่านไป 3 เดือน จะเป็นเวฟถัดไปของการแพร่ระบาดมาที่เอเชียรวมถึงประเทศไทย ทำให้มาตรการที่ออกมาไปต่อไม่ได้ตามเป้าหมาย”
เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มทรัพยากรบุคคล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะมีมาตรการผ่อนคลายต่างๆ เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ทั้งการเปิดประเทศ ประชาชน ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจกรรมต่าางๆ ได้เป็นปกติมากขึ้น แต่ไทยเบฟมีนโยบายยกการ์ดสูงสุด
“ช่วงปีใหม่เป็นเทศกาลและวันหยุด บริษัทไม่ได้ออกกฏห้ามเดินทาง แต่หลังจากหยุดยาวแล้วกลับเข้ามาทำงานจะต้องตรวจหาเชื้อโควิดทุกคน”
ขณะเดียวกันยังมีแอพพลิเคชั่นเพื่อให้พนักงานเช็กอินสถานที่ต่างๆ เป็นการรายงานให้รับทราบด้วย ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานในประเทศไทย 46,000 คน โดย 70% หรือราว 30,000 คน ยังต้องทำงานตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน จากการติดตามข่าวเบื้องต้น ไม่กังวลระบาดนัก เพราะก่อนหน้านี้ข้อมูลที่ออกมาไวรัสดังกล่าวจะเป็นเหมือนวัคซีนฟรีเพราะมาต่อสู้กันเองของไวรัสแต่ตอนนี้ข้อมูลไม่เพียงพอ จึงต้องเฝ้าระวัง และการใช้ชีวิตต้องดูแลตตนเอง เพื่อให้ปลอดภัยทั้งตัวเองและสังคม