"อนุสรณ์ ธรรมใจ"ห่วงเก็งกำไรคริปโทฯ ทำให้ฟองสบู่ตลาดการเงินแตกในปี 65-66
"อนุสรณ์ ธรรมใจ" อดีตบอร์ดแบงก์ชาติ หวั่นการเก็งกำไรใน "คริปโทเคอร์เรนซี" จุดชนวนทำให้เกิดวิกฤตฟองสบู่ตลาดการเงินแตกรอบใหม่ในปี 2565-2566 เสนอเก็บภาษีทุนในระดับโลกเพื่อลดความผันผวน ความเสี่ยงฟองสบู่ และความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผยว่า สัญญาณฟองสบู่แตกแบบวิกฤตการณ์สินเชื่อซับไพรม์อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต แม้จะมีความเสี่ยงจากโอมิครอนระบาดระลอกใหม่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอก็ตาม
เนื่องจากฟองสบู่ในตลาดการเงินโลกที่สะสมมาอย่างยาวนานตลอดช่วงเวลาของการใช้มาตรการ QE กระตุ้นเศรษฐกิจ สภาพคล่องล้นเกินเหล่านี้ได้ไหลเข้าสู่ตลาดการเงินมากกว่าภาคการผลิตและภาคเศรษฐกิจจริงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตลาดการเงินยังไม่มีการปรับฐานครั้งใหญ่แต่อย่างใดยกเว้นในปี พ.ศ. 2563 อันเป็นผลกระทบจากการล็อกดาวน์
หนี้สาธารณะมหาศาลของประเทศพัฒนาแล้ว ตลอดจนการขยายตัวของการลงทุนแบบเก็งกำไรใน “คริปโทเคอร์เรนซี” และ “สินทรัพย์ดิจิทัล” อาจก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกรุนแรงและเกิดฟองสบู่ตลาดการเงินแตกได้ในช่วงปีพ.ศ. 2565-2566 ได้
การทยอยลดมาตรการ QE จะช่วยลดฟองสบู่ในตลาดการเงินได้บ้างแต่ไม่เพียงพอในหยุดยั้งวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และการเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ อังกฤษ (ปรับดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว) หรือ ประเทศพัฒนาอื่นๆ จะทำให้ภาคการผลิตและภาคเศรษฐกิจแท้จริงได้รับผลกระทบในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโควิด
ความผันผวนอย่างรุนแรงในตลาดการเงินในปีหน้าเป็นสิ่งที่นักลงทุนรวมทั้งธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องเตรียมรับมือความท้าทายดังกล่าวให้ดี ขณะเดียวกันความผันผวนอย่างรุนแรงนี้อาจก่อให้เกิด “วิกฤตการณ์” และ “โอกาส” ได้พร้อมกัน
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การลด QE และขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้วอาจไม่สามารถหยุดภาวะฟองสบู่ในตลาดการเงินได้ จึงเสนอเก็บภาษีทุนในระดับโลกเพื่อลดความผันผวนและความเสี่ยงฟองสบู่ของตลาดการเงินโลก รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาลในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ในยุคการแพร่ระบาดของโควิดและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนวัตกรรมทางการเงิน
โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนแบบใหม่ได้ทำให้คนกลุ่มเล็กๆ เจ้าของบริษัทไฮเทคครอบครองตลาดและสามารถก้าวข้ามผ่านกฎระเบียบอันล้าสมัย สร้างผลกำไรโดยไม่ต้องเสียภาษีในหลายประเทศทั่วโลก การจัดระเบียบกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีความจำเป็นต่อการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และ ป้องกันฟองสบู่แตกรุนแรงในอนาคต
ทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ไม่น่าจะเป็นสภาวะที่ยาวนาน เพราะราคาพลังงานจะไม่สูงเช่นในอดีตจากอุปสงค์การใช้พลังงานจากการเดินทางยังอ่อนแอ ขณะที่นวัตกรรทางพลังงานได้สร้างทางเลือกให้เกิดอุปทานของพลังงานมากมาย
หากเศรษฐกิจใดไม่มีสัญญาณของการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจเลยจะเผชิญสภาวะ Stagflation ทันที คือ เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจชะงักงันชะลอตัว ว่างงานสูง ภาวะ Stagflation เป็นสภาพที่แก้ไขยากเพราะหากใช้นโยบายการเงินการคลังผ่อนคลายมากเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว การว่างงานจะสูง ก็จะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อได้
ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ระบบรัฐสวัสดิการ และ ระบบภาษีในอัตราก้าวหน้า ในศตวรรษที่ 20 คือ ข้อค้นพบทางด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะ ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชน สร้างความมั่นคงให้ระบบการเมืองและเกิดสังคมสันติธรรม ภายใต้พลวัตของสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการเงินในศตวรรษที่ 21
การเก็บภาษีทุนในระดับโลกแบบอัตราก้าวหน้า พร้อมกับการพัฒนาระบบและกลไกให้เกิดความโปร่งใสในระบบการเงินระหว่างประเทศ จะลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศต่างๆ และความเหลื่อมล้ำระหว่างชาติร่ำรวยและชาติยากจนอีกด้วย ระบบและกลไกดังกล่าวจะทำให้การกระจุกตัวของทุนขนาดยักษ์ใหญ่และผลกำไรมหาศาลเกินจุดดุลยภาพลดลง
ทุนนิยมโลกาภิวัตน์จะมีลักษณะเป็น “เศรษฐกิจดุลยธรรม” มากขึ้น หากไม่เก็บภาษีตลาดทุนโลกในภาวะความเหลื่อมล้ำของโลกอยู่ในระดับสูงสุดเช่นนี้ เราจะเห็นการย้อนกลับของโลกาภิวัตน์ หรือ เกิดกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์และต่อต้านระบบการค้าเสรีของกลุ่มชาตินิยมในประเทศต่างๆ ด้วยการกีดกันทางการค้า (Trade Protectionism) หรือ แม้กระทั่งใช้วิธีการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนแบบบังคับ (Capital Control)
การเก็บภาษีทุนโลกจะรักษาระบบการค้าเสรีของโลกเอาไว้พร้อมการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป เป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย รวมทั้งยังจะช่วยกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้เป็นธรรมเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ “ภาษีทุนโลก” จะช่วยประคับประคองให้ “เศรษฐกิจโลก” เข้าสู่จุดดุลยภาพที่เหมาะสมอันเป็นผลดีต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพในระยะยาว
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า การเก็บภาษีทุนในระดับโลกจะเกิดขึ้นได้ในเบื้องต้นเลย ต้องเกิดความร่วมมือของสถาบันการเงิน สถาบันการลงทุนต่างๆ และธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในการทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลธุรกรรมทางการเงินแบบอัตโนมัติ ธุรกรรมการลงทุน ผลกำไรต่างๆ ผ่านระบบที่ผมขอเรียกว่า Global automatic sharing of bank and financial data ก่อน ความโปร่งใสทางการเงินและแบ่งปันข้อมูลทางการเงินจะทำให้เราสามารถเก็บภาษีทุนโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และจะทำให้ตระหนักว่า อภิมหาเศรษฐี หรือ Super Rich 1% และ 10% ของโลกนั้นยังเสียภาษีให้กับโลกและประเทศต่างๆ ที่คนเหล่านี้เป็นพลเมืองอยู่น้อยเกินไป (ซึ่งอภิมหาเศรษฐีหลายท่านก็มีหลายสัญชาติอีกต่างหาก)
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้าย เวลานี้คนยากจนในประเทศยากจนสุดกำลังจะอดตายจำนวนหลายล้านคน คนในแอฟริกาจำนวนมากไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้เข็มเดียว ทั้งทวีปแอฟริกามีอัตราการการฉีดวัคซีนไม่ถึง 10% หากยังเป็นแบบนี้การระบาดโควิดจะยืดเยื้อมากและกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ การเรียกร้องให้บริจาคอาจไม่เพียงพอ ควรเก็บภาษีทุนโลก และมีทรัพย์สินจำนวนมากกองกระจุกอยู่ในกลุ่มคนเล็กๆ ซึ่งควรนำมาหมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รายได้ให้นำไปมอบให้องค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ หรือ ธนาคารโลกเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกผู้เดือดร้อนโดยด่วน