ก.ล.ต.เผย ICO จ่อระดมทุนปี 65 ขอคำปรึกษาแล้ว 19 ราย
ก.ล.ต. เผย 19 บริษัทต่อคิวขอคำปรึกษาระดมทุน “ไอซีโอ” ทั้งมีและไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง คาดมีความชัดเจนปี 65 ด้านกระแส “สมเด็จคอยน์” ลุยเดินหน้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลนักลงทุน
นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ และในฐานะโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำหรับการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ICO) ปัจจุบันมีบริษัทเข้ามาขอคำปรึกษาเบื้องต้น (Pre-consult) แล้ว 19 บริษัท (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ต.ค.2564)
เบื้องต้นคาดว่าจะทยอยเห็นความชัดเจนในปี 2565 โดยบริษัทที่เข้ามาขอคำปรึกษามีทั้ง ICO ที่มีอสังหาริมทรัพย์หรือกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์เป็นทรัพย์สินอ้างอิง (Real Estate-backed ICO) และ ICO ที่ไม่มีอสังหาริมทรัพย์หรือกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์อ้างอิง
สำหรับการระดมทุนในปี 2564 เมื่อ 29 ก.ค. 2564 สำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล สิริ ฮับ (SiriHub Token) ถือเป็นโทเคนดิจิทัลรายแรกที่ได้รับการอนุญาตเสนอขายในประเทศไทย โดยโทเคนดิจิทัลดังกล่าวเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ที่อ้างอิงกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (Asset-backed) ออกโดยบริษัท เอสพีวี 77 จำกัด
โดยวัตถุประสงค์การระดมทุนมูลค่ารวม 2,400 ล้านบาท เพื่อลงทุนให้ได้มาซึ่งกระแสรายรับจากกลุ่มอาคารสำนักงาน สิริ แคมปัส (Siri Campus) ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์อ้างอิงในการระดมทุนนี้ โดยเสนอขายโทเคนดิจิทัลในตลาดแรกผ่าน บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด (XSpring Digital) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal)
ก่อนจะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกับ บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด (ERX) ซึ่งได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากกระทรวงการคลัง ภายใต้การกำกับดูแลโดย ก.ล.ต.
เมื่อสอบถามถึงการดูแลผู้ลงทุน กรณีเหรียญสมเด็จดิจิทัล หรือ สมเด็จคอยน์ (SDC) ที่เสนอขายกว่า 66 ล้านเหรียญ ตามจำนวนประชากรไทยปี 2563 รวมถึงสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้นั้น นางสาวจอมขวัญ กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยสำนักงาน ก.ล.ต. จะต้องพิจารณาว่าเหรียญดังกล่าว เข้าข่ายเป็นเหรียญสินทรัพย์ดิจิทัล 4 ประเภทหรือไม่
ได้แก่ 1. เหรียญที่ออกโดยไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจนหรือไม่มีสิ่งใดรองรับโดยมีราคาขึ้นอยู่กับกระแสในโลกโซเชียล (Meme Token) 2. เหรียญที่ออกโดยมีลักษณะเกิดจากกระแสความชื่นชอบส่วนบุคคล (Fan Token)
3. โทเคนดิจิทัลที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือให้สิทธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือที่เฉพาะเจาะจง โดยไม่สามารถใช้โทเคนดิจิทัลประเภทและชนิดเดียวกันและจำนวนเท่ากันแทนกันได้ (Non-Fungible Token)
4. โทเคนดิจิทัลที่ออกโดยผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเองหรือบุคคลซึ่งมีความเกี่ยวข้องเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน
ทั้งนี้ เหรียญที่เข้าข่าย 4 ประเภทดังกล่าว ห้ามไม่ให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำมาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่ ตามข้อ 39/1 ของประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล