กฟผ. ปรับรับท้าทาย "เทคโนโลยีดิสรัปชั่น"
กฟผ.เปิดแผนปี 65ปรับองค์กรรับเทคโนโลยีดิสรัปชั่น-ผลกระทบโควิด-19 ชี้เป็นบทพิสูจน์สู่การพัฒนาเดินหน้าพัฒนาระบบไฟฟ้าแห่งอนาคต
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เปิดเผยว่า ผลกระทบจากโควิดตลอด 2 ปีที่ผ่านมาผนวกกับเทคโนโลยีดิสรัปชัน แม้จะมีผลกระทบด้านต่างๆ แต่ก็ทำให้องค์กรมีการพัฒนาตัวเอง โดยปี 2565 กฟผ.จะปรับเป็น fully digital services ถือเป็นสังคมไร้การสัมผัส นำ smartมาตอบโจทย์ความสะดวกสบายผ่านแอพพลิเคชั่น
นอกจากนี้จะผลักดันต่อเรื่องของการทำสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) กำหนดทำให้ประเทศไทยมีสถานีชาร์จไฟฟ้ารองรับการใช้งานได้ในระยะทางไกลขึ้นตลอดเส้นทางภาคใต้ถึงภาคเหนือและภาคตะวันออกถึงภาคตะวันตก เพราะหากร่วมกันพัฒนาสถานีชาร์จแบบเร็วและอยู่ตามแนวเส้นทางคมนาคมจะช่วยให้จำนวนผู้ตัดสินใจใช้รถอีวีมีมากขึ้น
“นโยบายของกฟผ. คือตามเทคโนโลยี พร้อมทั้งศึกษาทดลองใช้ โดยร่วมกับหลายบริษัท เพื่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รวมถึงศึกษาระบบการกำจัดแบตเตอรี่ไปด้วย โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่ในรถยนต์ว่าเมื่อใช้ไปแล้วประสิทธิภาพลดลงเหลือ 70-80% จะทำอย่างไรเพื่อเอามาประกอบและใช้ร่วมกับระบบส่งไฟฟ้าได้ เป็นต้น”
นอกจากนี้ กฟผ.ได้ตั้งเป้าจะเป็น Green Energy ดังนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะต้องลดบทบาทลง และจะมีการลงทุนพลังงานทดแทนมากขึ้น เช่น โซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาด 45 เมกะวัตต์ ที่เป็นโปรเจกต์แรกที่ประสบความสำเร็จ
ปัจจุบัน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ พีดีพี 2018 ได้กำหนดปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากระบบโซลาร์ลอยน้ำไว้ที่ประมาณ 2,750 เมกะวัตต์ แต่ศักยภาพที่มีอยู่ สามารถทำได้เป็นหมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้น กฟผ.จะสามารถโก กรีน ด้วยระบบโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่สามารถใช้กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro Power) ควบระบบแบตเตอรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบนี้จะเป็นอนาคตของประเทศด้วย
ในส่วนของ ไฮโดรเจน ที่มองว่าเป็นพลังงานในอนาคต แม้ในเชิงพาณิชย์ขณะนี้อาจยังไม่เหมาะสม แต่ กฟผ.ก็จะยังติดตามดูเทคโนโลยีนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งดูแนวโน้มของพลังงานทดแทน เชื่อว่าพลังงานไฮโดรเจนเป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ รวมทั้งแบตเตอรี่ หรือ ตัวคาร์บอนแคปเจอร์ ด้วย
ทั้งนี้ หากในอนาคตสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือ ไฮโดรเจนได้มากขึ้น ก็จะเป็นไทยเป็นอิสระจากการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันราคานำเข้าพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้นกระทบต้นทุนการผลิตไฟฟ้า
กฟผ.มีความเชี่ยวชาญเรื่องโรงไฟฟ้าแบบ conventional ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งในอนาคตจะต้องลดบทบาทลง ดังนั้น จึงเตรียมแผนอีก 29 ปีข้างหน้า (ปี2050) จะต้องเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ carbon neutrality ถือเป็นความท้าทาย ทั้งนี้ การขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่พลังงานสะอาด การนำระบบบริหารจัดการด้านสมาร์ทดิจิทัลมาใช้ถือเป็นปัจจัยสำคัญ แต่การลงทุนก็จะสูงด้วย ดังนั้น กฟผ.จะเน้นร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อลดการลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเดียวกัน อย่าง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)