"เอ็มบีเค" คิดใหม่ ทำใหม่ รอจังหวะ-โอกาสลงทุน
“เอ็ม บี เค” เจ้าของธุรกิจศูนย์การค้า "เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์" รวมทั้งอสังหาฯ การเงิน ฯลฯ ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากวิกฤติโควิด-19 ขณะที่อนาคตคาดเดาไม่ได้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายหรือสิ้นสุดลงอย่างไร แนวทางเคลื่อนธุรกิจจากนี้หลักยึดสำคัญนั่นคือปรับตัวให้เร็วทันเหตุการณ์
การขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้สภาวการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งห้วงเวลานี้ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน" ที่ต่างจับตาว่าจะลุกลามแค่ไหน เพราะเป็นตัวแปรสำคัญการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการเปิดรับ "นักท่องเที่ยวต่างชาติ" ที่เคยเป็นขุมทรัพย์ใหญ่ของภาคธุรกิจต่างๆ ขณะที่วิกฤติการณ์โควิด-19 เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา บรรดาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีฐานกำลังซื้อจาก "ทัวริสต์" จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ ลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเหล่านี้ลง!
หนึ่งในนั้นคือบิ๊กคอร์ปอย่าง "เอ็ม บี เค" เจ้าของธุรกิจหลากหลายครอบคลุมกิจการศูนย์การค้า ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนาม "เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์" ชอปปิงมอลล์ขนาดใหญ่ใจกลางมหานครกรุงเทพ เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ต้องแวะมาเยือนเมื่อมาถึงกรุงเทพฯ นอกจากนั้นยังมีธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว สนามกอล์ฟ อสังหาริมทรัพย์ อาหาร การเงิน ฯลฯ
สุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ เชื่อว่าการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเยือนประเทศไทยต้องใช้เวลา! จากที่เคยประเมินกันว่าปี 2565 น่าจะพอมองเห็นแสงสว่าง อาจต้องขยับออกไป
ทั้งนี้ เอ็ม บี เค วางแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจ มุ่งปรับกลยุทธ์รวดเร็วทันเหตุการณ์ให้ได้มากที่สุด เพื่อสามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต เมื่อโควิดคลี่คลาย เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของ เอ็ม บี เค ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
ในภาพรวมธุรกิจของ เอ็ม บี เค การลงทุนไม่ได้ระงับ! หากแต่ชะลอบางธุรกิจที่อาจไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ ขณะที่บางธุรกิจก็ยังคงเดินหน้า เช่น การปรับปรุงศูนย์การค้า โครงการอสังหาริมทรัพย์ได้ชะลอการลงทุน ยกเว้นโครงการที่พัฒนาไปแล้วอย่าง ที่อยู่อาศัย (บ้าน) รอบสนามกอล์ฟ ส่วนคอนโดมิเนียมเลื่อนการพัฒนาออกไปก่อน หรือโรงแรมในต่างจังหวัดหันมาเจาะตลาดคนไทยมากขึ้น
"เราต้องบริหารงานไปพร้อมกับโควิด รอไม่ได้ และคิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิมก็ไม่ได้เช่นกัน เอ็ม บี เค ไม่ปิดกั้นลงทุน มีอะไรน่าสนใจก็พิจารณา หรืออย่างการซื้อกิจการก็อยู่ในวิถีทางปกติของเราที่เคยทำอยู่แล้ว"
ในวันที่ลูกค้ายังไม่กลับมาเหมือนเดิม เศรษฐกิจยังคงชะลอตัว และสถานการณ์ตลาดยังมีความผันผวนสูง!! ก็ต้องทำใจว่ารายได้จะไม่เหมือนเดิม
แม้กระทั่งการขยายธุรกิจใหม่ ที่หลายคนเห็นว่าท่ามกลางวิกฤติมีโอกาส ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็ไม่ง่ายนักในการมองหาโอกาสใหม่!!
ดังนั้น แนวทางหรือแผนการลงทุนหลักต่างๆ เอ็ม บี เค จึงขอประเมินสถานการณ์อีก 1 ปี แน่นอนว่า ธุรกิจโรงแรมยังต้องรอ ขณะที่ธุรกิจที่สามารถไปได้ด้วยตัวเอง เช่น การเงิน สินเชื่อ มีการขยายตัวต่อเนื่องและจะถูกขยายมากขึ้น
สำหรับธุรกิจ "ศูนย์การค้า" มีการปรับกลยุทธ์ใหม่ และปรับมากกว่าทุกธุรกิจ
"จากที่เราเคย Enjoy กับชาวต่างชาติ อย่าง เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ มีผู้ใช้บริการเป็นชาวต่างชาติถึง 70% มีผลกระทบมากกว่าศูนย์การค้ารอบนอก ก็ต้องหันมาเจาะกำลังซื้อชาวไทยมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนบรรยากาศใหม่ เพิ่มสินค้าและบริการตรงใจลูกค้าคนไทยมากขึ้น"
โดย เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ลุคใหม่ หรือ New Episode จะมาสร้างประสบการณ์สุดขั้ว! ภายใต้คอนเซปต์ MBK MB COOL (MAX & BEYOND COOL) ปักหมุดเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตคูลๆ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้าคนไทยมากขึ้น บนทำเลยุทธศาสตร์ย่านธุรกิจและสถาบันการศึกษา
เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ มีสถานะเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ (CBD: Central Business District) ถือเป็นหนึ่งในเดสทิเนชั่นของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ต้องแวะมาเยือน
สุเวทย์ ขยายความต่อว่า "พื้นที่โดยรอบยังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการบริโภคของคนจากการลงทุนโครงการต่างๆ ของภาคเอกชน จำนวนประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสในการดึงดูดให้เข้ามาใช้บริการ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ โฉมใหม่ได้เติมแม็กเนตร้านอาหารและร้านค้าชั้นนำ บริการแบบครบวงจร เติมเต็มประสบการณ์ให้กับลูกค้าคนไทย สร้างแรงบันดาลใจในทุกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตได้ทุกช่วงเวลาตั้งแต่เช้าตรู่ กลางวัน ตอนเย็น และกลางคืนซึ่งเราต้องการขยายฐานลูกค้าคนไทย คนรุ่นใหม่วัยทำงานให้มากขึ้น"
แม่เหล็กใหม่ อาทิ ดอง ดอง ดองกิ แฟลกชิพสโตร์สาขาใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คอนเซปต์ Japan Brand Specialty Store
กลุ่มไอ.ซี.ซี. เตรียมเปิดตัวห้างสรรพสินค้า At First พื้นที่กว่า 2,800 ตร.ม. พบกับไลฟ์สไตล์ช้อปรูปแบบใหม่ของ His&Her และแบรนด์แฟชั่นหลากหลายแบรนด์ในเครือสหพัฒน์ อาทิ ลาคอสท์ กีลาโรช แอร์โรว์ วาโก้ แอล แด็กซ์
แบรนด์แห่งนวัตกรรมสุดล้ำ GQ อวดโฉมThe New Transformer of GQ คอนเซปต์สโตร์รูปแบบใหม่แห่งแรกในประเทศไทย
Dilok (ดิลก) ร้านจำหน่ายรองเท้ากีฬาแบรนด์ดังปรับโฉมร้านเป็น Dilok Basketball Storeเจาะผู้ชื่นชอบกีฬาบาสเกตบอลและตกแต่งร้านในคอนเซปต์ใหม่ STADIUM สร้างบรรยากาศให้รู้สึกเหมือนอยู่ในสนามการแข่งขัน (The Stadium)
ร้านยอดนิยมในออนไลน์ JBUYNOW เปิดตัวแฟลกชิพสโตร์ มีหน้าร้านเป็นแห่งแรก
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์การเรียนรู้ ในโซน Learning Hub รวบรวมสถาบันกวดวิชา สถาบันสอนภาษาไว้ในที่เดียวมากที่สุดถึง 25 แห่ง บนพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดกว่า 8,700 ตารางเมตร ใน 3 ชั้น ได้แก่ ชั้น 4 ,5 และ 6 นำโดยสุดยอดติวเตอร์ อาทิ OnDemand,โรงเรียนกวดวิชา อ.ปิง, We By The Brain, Sup’K Center, Excellent Education Center, Monkey Monkey Academic training Center,โรงเรียนสอนภาษาจีนเพียรอักษร พญาไทเป็นต้น และยังมีโคเวิร์กกิ้งสเปซ TTA Space by Draft Board พื้นที่สำหรับนั่งอ่านหนังสือหรือนั่งทำงานสุดชิคใจกลางกรุงเทพฯ ให้บริการ
เอ็ม บี เค ลุคใหม่ยังเปิดประสบการณ์ All Day Dining & Midnight Life Space ยกขบวนร้านคาเฟ่ ร้านอาหารสไตล์บาร์แอนด์บิสโทร บุฟเฟ่ต์นานาชาติ เปิดให้บริการมื้อเช้าตั้งแต่ 07.00 น. จนถึงรอบดึก! มุ่งสู่การเป็นจุดหมายปลายทางของนักกินและนักดื่ม หรือ ฟู้ด เดสติเนชั่น ไลฟ์สไตล์ ไดน์นิ่ง แฮงเอ้าท์ เดสติเนชั่น อาทิ บ้านคุณแม่, Shinkanzen Sushi, Tim Hortons, TAURUS BISTRO
นับเป็นการผสานสไตล์ URBAN STREET และ URBAN LIFESTYLE ทำให้ลูกค้ามองเห็นร้านค้าต่าง ๆ ได้จากด้านนอก สร้างบรรยากาศแบบ TERRACE RESTAURANT เจาะคนทำงานนั่งชิล ๆ นัดสังสรรค์ สัมผัสบรรยากาศร้านแบบเอาท์ดอร์วิวรถไฟฟ้าและเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงร้านมากขึ้น
สุเวทย์ กล่าวต่อถึงแผนธุรกิจปี 2565 ว่า บริษัทจัดสรรงบประมาณ 200-300 ล้านบาทลงทุนต่อเนื่องเน้น "ปรับปรุง" กิจการต่างๆ และการพัฒนาโครงการ หรือพื้นที่ต่อเนื่อง โดยช่วงไตรมาสแรกเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการโครงการมารีน่า ติดสนามกอล์ฟริเวอร์เดล ซึ่งจะเป็นท่าเทียบเรือ และศูนย์กีฬาทางน้ำต่างๆ บนที่ดินขนาด 77 ไร่ ซึ่งได้พัฒนาหรือใช้พื้นที่ไปแล้ว 35 ไร่ ด้วยงบลงทุน 30-40 ล้านบาท
พื้นที่อีกกว่า 30 ไร่ที่เหลือเตรียมพัฒนาเพื่อ "ต่อยอด" ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญจะเข้ามาดำเนินการ ร่วมกันบูมโปรเจคแห่งนี้!
"เราอยากให้ที่ดินแปลงนี้เป็นที่รู้จักของผู้คน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจต่อเนื่องไปอีก 10 ปีข้างหน้าและต่อๆ ไป"
อย่างไรก็ดี "เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์" โฉมใหม่นี้จะเสร็จสมบูรณ์ 100% ราวไตรมาส 2
ขณะเดียวกัน เอ็ม บี เค อยู่ระหว่างเจรจากลุ่มพรีเมียร์ เพื่อต่อสัญญาโครงการศูนย์การค้าพาราไดส์พาร์ค ซึ่งจะหมดสัญญาอีกราว 1 ปี 8 เดือน โดยมีแผนปรับปรุงแบบไมเนอร์เชนจ์รองรับกำลังซื้อและการเติบโตของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก
ผู้บริหาร เอ็ม บี เค ย้ำว่า แม้สถานการณ์โควิดจะเป็นปัจจัยเสี่ยงกระทบภาคธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง แต่ เอ็ม บี เค ยังมีความแข็งแรง! จากความหลากหลายของ 7 กลุ่มธุรกิจในพอร์ต โดยเฉพาะกลุ่มการเงินที่ยังสามารถเดินหน้าไปได้ด้วยดี มีการขยายสินเชื่อมากขึ้น ทำให้พอร์ตรายได้ขยับขึ้นสูงสุดเป็นกว่า 30% แซงหน้ากลุ่มศูนย์การค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด
"เรายังแข็งแรงอยู่ เพียงแต่เคยมีรายได้แยอะ กำไรก็น้อยลง!! หากสถานการณ์โอมิครอนไม่บานปลาย และการระบาดปรับตัวในทิศทางที่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2-3 ปีข้างหน้าการทำรายได้น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ"
อย่างไรก็ดี บทเรียนและการเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคโควิดในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา และความก้าวหน้าของ "วัคซีน" การได้รับวัคซีนครอบคลุมประชาชนและพื้นที่ต่างๆ ทำให้ความรู้สึกต่อสถานการณ์แพร่ระบาดในระลอกหลังๆ มีความกังวลน้อยกว่าช่วงแรกในปี 2563 ที่ขณะนั้นยังไม่มีวัคซีน และจับต้นชนปลายกันไม่ถูก
ดังนั้น จากนี้ไปน่าจะเป็นสเต็ปที่ทุกภาคส่วนต้องเรียนรู้และอยู่กับโควิด โดยไม่คิดว่าจะต้องรอให้โควิดหายไปจากโลก! แต่จะอยู่ด้วยกันไปได้อย่างไรมากกว่า
ขณะที่โจทย์ใหญ่ของรัฐบาล!! จะทำอย่างไรให้ "นักท่องเที่ยวมาแล้วปลอดภัย" เพราะการบริโภคภายในประเทศ ไม่เพียงพอเลี้ยงตัวเองได้ เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพากำลังซื้อ "ข้างนอก" ซึ่งทุกภาคส่วนล้วนรอเวลา...การเดินทางระหว่างประเทศ การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ นำสู่การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้กลับสู่การขยายตัวและเติบโตอย่างแข็งแรงอีกครั้ง