บาดแผลโควิด-19 กรีดลึก ปี 64 “หนี้เกษตรกร” พุ่ง 74%

บาดแผลโควิด-19 กรีดลึก ปี 64 “หนี้เกษตรกร” พุ่ง 74%

ปัญหาหนี้สินคือ จุดอ่อนที่ทำให้ภาคการเกษตรพัฒนาต่อไปได้ยาก ยิ่งปัจจุบันต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ต้นทุนยิ่งเพิ่ม แต่รายได้ลดลงคือ ปัญหาไม่รู้จักจบสิ้น ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิดระบาดส่งผลให้หนี้เกษตรกรเพิ่มขึ้นถึง 74 %

ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า  จากการสำรวจ หนี้สินครัวเรือนเกษตรกรในปี 2563/64 มีประมาณ 262,317 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น16.5% เมื่อเทียบกับหนี้สินครัวเรือนในปี 2562/63 แต่หากเทียบระยะเวลา 2 ปี หลังการระบาดของโควิด-19 หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้น 74% จากปี 2561 ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรมีหนี้สินเกษตรกรเฉลี่ย 150,636 บาทต่อครัวเรือน

บาดแผลโควิด-19 กรีดลึก ปี 64 “หนี้เกษตรกร” พุ่ง 74%

 “หนี้สินครัวเรือนของเกษตรกร ปรับเพิ่มขึ้น ตามภาวะหนี้สินครัวเรือนของประเทศ สาเหตุหลักมาจากการระบาดของโควิด-19 โดยหนี้สินส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายนอกภาคการเกษตร เนื่องจากอัตราค่าครองชีพในปี 2564 ปรับตัวขึ้นสูง

ในขณะที่หนี้ในภาคการเกษตรนั้นยังเป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์ ปุ๋ย อาหารสัตว์ และเกือบทั้งหมดเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในระบบที่มีระยะการกู้ยาว แต่ปี 65 คาดว่า สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจของโลกฟื้น จะเป็นผลดีกับภาคการเกษตรของไทยมากขึ้น”

 

ทั้งนี้หากแบ่งรายภูมิภาคพบว่า 

  • ภาคใต้มีหนี้สิน 285,357 บาทต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 87% จากปีก่อนหน้าที่มีหนี้สิน 152,828 บาทต่อครัวเรือน
  • ภาคกลางมีหนี้สิน 212,926 บาทต่อครัวเรือนลดลง 9% จากปีก่อนหน้าที่มีหนี้สิน 234,735 บาทต่อครัวเรือน
  • ภาคอีสานมีหนี้สิน 209,165 บาทต่อครัวเรือนลดลง 10% จากปีก่อนหน้าที่มีหนี้สิน 231,296 บาทต่อครัวเรือน
  • ภาคเหนือมีหนี้สิน 223,432 บาทต่อครัวเรือนลดลง 12% จากปีก่อนหน้าที่มีหนี้สิน 254,579 บาทต่อครัวเรือน

บาดแผลโควิด-19 กรีดลึก ปี 64 “หนี้เกษตรกร” พุ่ง 74%

โดยหนี้สินส่วนใหญ่ยังคงเป็นหนี้สินจากการกู้ยืมเพื่อการเกษตร ได้แก่ การซื้อปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์ ปุ๋ย ยา อาหารสัตว์ และเกือบทั้งหมดเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในระบบ และเป็นหนี้สินระยะยาว มากกว่า 5 ปีขึ้นไป

 

“ภาคใต้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินนอกการเกษตร เช่น ซื้อที่ดิน/ทรัพย์สินนอกการเกษตร ลงทุนในธุรกิจนอกการเกษตร การศึกษา และเพื่อการอุปโภคบริโภค”

 

จากผลการศึกษาจะพบว่า รายได้เงินสดจากหัตถกรรมของครัวเรือน หรือรายได้นอกภาคเกษตร เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของรายได้ของครัวเรือนเกษตร ดังนั้นภาครัฐจึงควรพัฒนาและส่งเสริมการผลิตนอกภาคเกษตรให้กับครัวเรือนเกษตรควบคู่ไปกับกิจกรรมการผลิตทางการเกษตร

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะเวลาที่ครัวเรือนเกษตรไม่ได้ทำการผลิตทางการเกษตรเพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเน้นการใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นในการประกอบอาชีพเสริม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเพิ่มการออม และความมั่งคั่งหรือทรัพย์สินสุทธิของครัวเรือนเกษตรไปพร้อมกัน

 

การศึกษาและการได้รับการอบรมของหัวหน้าครัวเรือนเกษตร เป็นปัจจัยที่สำคัญในการเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนเกษตร ภาครัฐจึงควรส่งเสริมการศึกษาและการฝึกอบรมในชนบทเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้ให้กับครัวเรือนเกษตร รวมทั้งเป็นการเพิ่มความมั่งคั่งหรือทรัพย์สินสุทธิให้กับครัวเรือนด้วย

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์