“OR-TIDLOR” กับปรากฏการณ์ “ตื่นหุ้น” แห่งปี 2564 !
รอบปี 2564 ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ “ตื่นหุ้น!” คงต้องยกให้สองไอพีโอ “OR-TIDLOR” ที่สร้างความ “ฟีเวอร์” สามารถทำให้คนพูดถึงกันทั่วบ้านทั่วเมืองในวงกว้าง ทั้งคนที่ "เล่นหุ้น" และ "ไม่ได้เล่นหุ้น" มาก่อน
หากเอ่ยถึงกระแส “‘ฟีเวอร์’ (Fever)” แห่งปี 2564 ของ "ตลาดหุ้นไทย" ! หนึ่งในความเคลื่อนไหวคงต้องมี “ความร้อนแรง” ของ “สองหุ้นไอพีโอ” อย่าง บมจ ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.ปตท. หรือ PTT จำนวน 75% และ บมจ. เงินติดล้อ หรือ TIDLOR ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา หรือ BAY จำนวน 30% เป็นขุมพลังใหญ่ทั้งเงินทุนและความน่าเชื่อถืออยู่เบื้องหลัง...
หากลองมาย้อนดูความ “ฮอตฮิต” ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนของหุ้นไอพีโอทั้ง 2 ตัว (OR-TIDLOR) นับตั้งแต่ “จุดสตาร์ท” ที่เลือกเข้าระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ด้วยการเสนอขายหุ้น IPO หรือหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ด้วยวิธีการกระจายหุ้นแบบ “Small Lot First” (ซื้อน้อยได้ก่อน) อาจจะหนึ่งใน “จุดเด่น” ของหุ้น OR-TIDLOR ตั้งแต่ครั้งแรก !
ปฏิกิริยาแรกที่เห็นตอนเป็นหุ้น IPO คือ “กระแสหุ้นถูกคนพูดถึงในวงกว้าง” และเมื่อมีคนมีส่วนร่วมจำนวนมาก สิ่งที่ตามคือความ “คึกคัก” เมื่อหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงขั้นช่วงเวลาตอนนั้นหุ้น OR ยังถูกขนานนามว่า “หุ้นไอพีโอมหาชน” แห่งปี 2564 ด้วยจำนวนผู้ที่ได้รับจัดสรรหุ้นจองมากสุดในประวัติศาสตร์กว่า 5.3 แสนราย ! โดยทำระบบออนไลน์ของ 3 แบงก์ใหญ่ล่มในวันแรกที่เปิดจอง
ขณะที่ หุ้น TIDLOR ตอนนั้นถือเป็นหุ้นอีกตัวที่สร้าง “ความหวัง” ให้นักลงทุนรายย่อย สะท้อนผ่านหุ้น TIDLOR สร้างปรากฎหลังปิดจองหุ้นมีทั้งความผิดหวังและสมหวังให้นักลงทุนรายย่อย แต่สัดส่วนคนผิดหวังค่อนข้างเยอะ ด้วยหลายคนเช็กรายชื่อแล้วไม่พบว่าได้รับหุ้นจองดังกล่าว เนื่องจากหุ้นมีจำนวนน้อย !
เมื่อความต้องการหุ้น OR-TIDLOR จำนวนมาก ส่งผลให้เข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวังสร้าง “กำไร” แบบกระเป๋าตุง !
สะท้อนผ่านก้าวแรกที่ท้ายชื่อบริษัทมีนามสกุล “จำกัดมหาชน” ติดอยู่ ถือว่าประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรก โดยหุ้น OR เทรดวันแรกราคาพุ่ง 47.20% มาอยู่ที่ 26.50 บาท จากราคาไอพีโอ 18 บาทและหุ้น TIDLOR เทรดวันแรกราคาพุ่ง 46.57% มาอยู่ที่ 53.50 บาทต่อหุ้น จากราคาจองซื้อ 36.50 บาทต่อหุ้น
ขณะที่ “ผลบวกทางอ้อม” ที่ได้รับคือ การที่แบรนด์ของบริษัทจะถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง และยิ่งทำให้คนรู้จักแบรนด์เพิ่มมากขึ้นไปอีกจากเดิม โดยไม่ต้องเสียเงินทำการตลาด สะท้อนการพูดถึงธุรกิจภายใต้แบรนด์ OR-TIDLOR เบื้องต้นถือว่าหุ้นทั้งสองตัวประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง ที่สามารถทำให้ถูกพูดถึงจำนวนมากตอนเป็นไอพีโอป้ายแดงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะหนึ่งในผลดีเชื่อมโยงต่อไปยังธุรกิจของตัวเองต่อไป
จากความสำเร็จในวันแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น ทว่า ณ ปัจจุบัน หุ้น OR-TIDLOR มี “ผลงาน” ที่สร้างความมั่งคั่ง ในธุรกิจในรอบปี 2564 ที่ผ่านมาเป็นเช่นไรบ้าง
หากดูจาก “ความมั่งคั่ง” ในแง่ของ “มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด” (Market Capitalization) ปัจจุบัน หุ้น OR มีมาร์เก็ตแคประดับ 327,000 ล้านบาท ส่วน หุ้น TIDLOR ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแคประดับ 84,642.94 ล้านบาท
ขณะที่ ผลประกอบการของ OR มีกำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 10,895.81 ล้านบาท ปี 2563 อยู่ที่ 8,791.07 ล้านบาท และงวด 9 เดือนปี 2564 อยู่ที่ 9,120.62 ล้านบาท ด้านรายได้อยู่ที่ 583,208.75 ล้านบาท 432,848.96 ล้านบาท และ 356,406.09 ล้านบาท
ส่วน TIDLOR มีกำไรสุทธิปี 2563-งวด 9 เดือนปี 2564 อยู่ที่ 2,416.14 ล้านบาท และ 2,373.52 ล้านบาท ส่วนรายได้อยู่ที่ 10,558.86 ล้านบาท และ 8,722.52 ล้านบาท
**ธุรกิจ “โออาร์” กำลังฟื้น !
“จิราพร ขาวสวัสดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานปี 2565 ตั้งเป้าขยายสาขาสถานีบริการน้ำมันไว้ที่ 110-120 สาขา จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2,000 สาขา ขณะที่ร้านคาเฟ่ อเมซอน จะขยายสาขาเพิ่มอีก 400-500 สาขา จากปัจจุบันมีประมาณ 3,500 สาขา เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายปี 2566 จะเพิ่มเป็น 5,000 สาขา ทั้งในและนอกปั๊ม
ขณะที่ ยอดการขายน้ำมันปี 2565 คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัว หลังจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และคาดว่ายอดขายน้ำมันของโออาร์ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ยอดขายน้ำมันอากาศยานปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 50% ของยอดขายน้ำมันอากาศยานปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19
นอกจากนี้ ปี 2565 จะขยายแผนการลงทุนในธุรกิจใหม่เพิ่มเติม โดยจะเปิดกว้างโดยการหาพันธมิตรร่วมลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อยหรือเอสเอ็มอี รวมถึงสตาร์ทอัพที่ตั้งเป้าสนับสนุน 15-20 ราย ใน 10 ปีต่อจากนี้ ซึ่งในปี 2564 ได้ร่วมทุนไปแล้ว 2 ราย
ขณะที่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในปี 2565 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังจากเปิดให้บริการศูนย์ธุรกิจค้าปลีกโออาร์ จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างเต็มประสิทธิภาพพร้อมกัน ทั้งศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี), โรงคั่วกาแฟ , โรงผงผสม, โรงงานเบอเกอรี่ ซึ่งโรงงานต่างๆ นั้น โออาร์ได้นำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้ลดต้นทุนด้านบุคลากร เพิ่มความแม่นยำในการจัดส่งสินค้าบริการได้สะดวกมากขึ้น ถือเป็นโรงงานอันดับต้นที่นำระบบทันสมัยมาใช้ โดยได้ลงทุนภายใต้งบประมาณ 6,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 200 ไร่ มีพนักงงานรวม 400 คน
นอกจากนี้ ปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพิ่มเป็น 300 แห่ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 97 แห่งทั้งภายในสถานีให้บริการน้ำมันและนอกสถานีบริการ หรือที่เรียกว่า OR SPACE ซึ่งจะเป็นพื้นที่ให้บริการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าโดยไร้บริการหัวจ่ายน้ำมัน และเป็นแหล่งรวมร้านค้าแบรนด์พันธมิตร
“แนวโน้มธุรกิจในปี 2565 คาดว่าจะเติบโตดีกว่าปี 2564 เพราะได้ปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศ โดยคาดหวังกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจจะกลับมาเพิ่มขึ้น ผู้คนเริ่มกลับมาเดินทางและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงปัจจัยหนุนคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2565 จะเคลื่อนไหวที่ 65.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล”
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส มองว่า สำหรับผลการดำเนินงานของ OR ได้ “ผ่านจุดต่ำสุด” ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 ไปแล้ว โดยมองว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2564 ของ OR จะเป็นจุดเริ่มต้นในการฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน มีสาเหตุหลัก จากการเข้าสู่ช่วงฤดูท่องเที่ยว ประกอบกับ รัฐบาลยกเลิกการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย ประเมินว่า ปริมาณการขายน้ำมันของ OR ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ซึ่งจะช่วยชดเชยกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตร ในประเทศที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน หลังภาครัฐขอความร่วมมือช่วงพยุงราคาน้ำมันดีเซลในท้องตลาด ประกอบกับ ธุรกิจ Non-Oil มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตามการบริโภคของประชาชนฟื้นตัว ตามภาวะเศรษฐกิจ
โดยประเมินกำไรสุทธิปี 2565 ของ OR ไว้ที่ 1.38 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหนุนจากการเดินทางในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ตามการแพร่ระบาดโควิด-19 คลายตัวลง ประกอบกับ ธุรกิจต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นด้วยเช่นกัน สะท้อนจากการเปิดสาขาปั๊มน้ำมันในประเทศกัมพูชาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 346 สถานี
เช่นเดียวกับธุรกิจ Non-Oil ต่างประเทศ ที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นด้วยเช่นกัน โดยล่าสุด OR มีสาขาร้านคาเฟ่อเมซอน ในประเทศกัมพูชา ทั้งหมด 284 สาขา และยังมีแนวโน้มขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ตามการบริโภคในประเทศกัมพูชาฟื้นตัว และยอดขายที่เพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อน
ขณะที่ บล. ทรีนีตี้ ประเมินว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2564 ของ OR มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย เนื่องจากมองว่า ปริมาณการขายน้ำมันของ OR ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนอย่างมีนัยสำคัญ ตามการเดินทางที่ฟื้นตัวขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์ ซึ่งน่าจะชดเชยการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ในช่วงไตรมาสก่อนได้ ส่งผลให้กำไรสุทธิปี 2564 จะอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 25% จากปีก่อน
**ลุ้นผลงานทั้งปี TIDLOR ตามเป้า
“ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. เงินติดล้อ หรือ TIDLOR เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ มีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังจากที่รัฐบาลประกาศพิจารณาผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสภาพคล่องเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือรองรับการลงทุนเพื่อรับโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นผู้ประกอบอาชีพค้าขายและผู้ประกอบการรายย่อย
ส่วนธุรกิจนายหน้าประกันภัยมีแนวโน้มที่ดี หลังจากเมื่อต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ผ่อนประกันรถยนต์ 0% เป็นระยะเวลาสูงสุด 10 เดือนขยายจากเดิม 6 เดือน เพื่อช่วยลูกค้าลดภาระและสำรองเงินเพื่อการใช้จ่ายหรือรองรับการดำเนินธุรกิจ ถือว่าได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีลูกค้าสนใจซื้อประกันภัยรถยนต์เพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดียิ่งขึ้นจากการที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศและเตรียมผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ และสนับสนุนให้เกิดความต้องการใช้รถในการเดินทางและประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อความต้องการซื้อประกันภัย
“ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้บริษัทยังคงเดินหน้าขยายสาขาในทำเลที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง นอกจากการใช้จุดแข็งด้านเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มศักยภาพด้านการให้บริการและเข้าถึงสินเชื่อของลูกค้า คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเปิดสาขาใหม่รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 200 สาขา และมีสาขาทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1,300 สาขา หลังจากในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมาเปิดไปแล้ว 184 สาขา และมีสาขาทั่วประเทศอยู่ที่ 1,260 สาขา”
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ระบุว่า สำหรับการเติบโตของรายได้ยังคาดจะถูกหนุนโดยโปรโมชั่นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถบรรทุก (สินเชื่อมูลค่าสูง) ท่ามกลางการเข้าสู่ high season ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564-ไตรมาส 1 ปี 2565 แม้ว่าผลตอบแทนจะต่ำกว่าผลิตภัณฑ์อื่นเนื่องจากเป็นสินเชื่อขนาดใหญ่ ความต้องการสินเชื่อรถเก๋งยังคงแข็งแกร่ง พร้อมด้วยความต้องการประกันภัยที่เพิ่มขึ้นตามมาตรการคลายล็อกดาวน์
ขณะที่ผลตอบแทนสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ผ่านบัตร (จำนวนบัตร 2.18 แสนใบในช่วง 3Q21) อยู่ที่ 23.0% และผลตอบแทนสำหรับรถเก๋งอยู่ที่ 20% ส่วนผลตอบแทนสำหรับรถบรรทุกที่ต่ำลงไปอีก ทำให้การเติบโตของกลุ่มสินเชื่อมูลค่าสูงอาจฉุดอัตราผลตอบแทนในปัจจุบัน (สินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์คิดเป็น 12% ของสินเชื่อรวมในช่วง 3Q21)
โดย TIDLOR มอง OPEX ไตรมาส 4 ปี 2564 อาจเพิ่มขึ้น (หรือ cost-to-income ratio) เนื่องจากมีการเพิ่มโปรโมชั่นเพื่อช่วยสนับสนุนสินเชื่อและของประกันภัยในช่วงไฮซีซั่น อย่างไรก็ cost-to-income ratio ยังต่ำกว่าช่วง 2020A ซึ่งเรามองเป็นบวกเนื่องจากค่าการตลาดที่สูงขึ้นมักจะตามด้วยการเติบโตของสินเชื่อในไตรมาสต่อๆ ไป
ทั้งนี้ บริษัทเน้นเร่งขยายสาขา โดยต้นทุนต่อสาขาเปิดใหม่ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากบริษัทได้ปรับลด จำนวนพนักงานต่อสาขาเหลือกะละ 2 คน ปัจจุบันมีสาขาเปิดใหม่ในปีนี้ 184 สาขา (มีแผนจะเปิดสาขาใหม่ 500 สาขาภายในปี 2023) ทั้งนี้ ตั้งเป้าสาขาทั้งหมดในปี 2564 อยู่ที่ 1,286 สาขา เพิ่มขึ้นจาก 1,076 สาขาในปี 2565