โอมิครอน กดดันเศรษฐกิจไทย นักวิชาการ มองจีดีพีปี 65 โตได้แค่ 3%
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ ที่เป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจจะกระทบกับการส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยวเป็นอีกปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ที่นักวิชาการจากนิด้ามองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้เพียง3%
ปี 2565 เป็นปีที่ได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง หลังจากที่เผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในส่วนของประเทศไทยหน่วยงานที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจอย่างสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะขยายตัว 3.5 - 4.5% ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ประมาณ 3.4%
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่าง “โอมิครอน” อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ต่ำกว่าที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ไว้
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 3% เป็นการฟื้นตัวจากปี 2563 ที่เศรษฐกิจติดลบ 6.1% และในปี 2564 ที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ประมาณ 1%
ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัด และความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเมื่อเกิดสายพันธุ์โอมิครอนขึ้นจะกระทบเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยทั้งในเรื่องการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนซึ่งเป็นส่วนที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเกี่ยวพันและพึ่งพาต่างชาติอยู่มากถึง 72% โดยมีผลกระทบในแต่ละส่วนดังนี้
1.การส่งออก ในปี 2565 การส่งออกของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 3% จากปี 2564 ที่การส่งออกขยายตัวได้ 13 – 14% โดยในปีนี้แม้เศรษฐกิจโลกจะเริ่มเติบโตลดลงจากในปี 2564 ที่ขยายตัวได้ถึง 5.5% มาอยู่ที่ระดับ 4 – 4.5% เท่านั้น โดยโอมิครอนที่ระบาดหนักในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่และคู่ค้าที่สำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ สหภาพยุโรป ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆลดลงซึ่งจะกระทบกับการส่งออกสินค้าของไทยโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 1 – 2 ของปีนี้
ขณะที่ค่าเงินบาทในปีนี้มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯที่จะมีการปรับขึ้น 3 ครั้งจะส่งผลให้ไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในบางส่วน โดยส่วนหนึ่งเป็นการปรับตามแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐฯและธนาคารกลางขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อไทยปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือมีสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดภาวะเงินทุนไหลเข้าทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการส่งออก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศที่จะขยับขึ้นไปที่ระดับประมาณ 2 – 2.5% ก็จะทำให้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นซึ่งไม่เอื้อต่อการส่งออก
2.การท่องเที่ยว ภาคการท่องเที่ยวในปี 2565 จะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอนจะทำให้เกิดการจำกัดการเดินทาง โดยในส่วนของประเทศไทยกว่าจะกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อาจจะเป็นช่วงปลายของไตรมาสที่ 2 หรือช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่หลายประเทศก็ยังไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศ เช่น กรณีของประเทศจีนเห็นได้ชัดเจนว่าไม่ให้คนออกนอกประเทศ
ทั้งนี้หากนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ประมาณ 5 – 6 ล้านคน คาดว่าจะมีการใช้จ่ายประมาณ 3 แสนล้านบาทซึ่งถือว่ายังไม่มากเมื่อเทียบกับรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวในอดีต ดังนั้นการท่องเที่ยวจึงยังคงต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวของคนในประเทศ ดังนั้นในช่วงที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี รัฐบาลมีการกระจายวัคซีนได้ตามแผนก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีโครงการ มาตรการในการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอยในประเทศในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูง
3.การลงทุน ผลกระทบที่เกิดขึ้นของโอมิครอนที่เกิดกับการลงทุนจะมีส่วนที่กระทบอย่างมากคือการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งแม้จะมีการขอรับคำส่งเสริมการลงทุนจำนวนมาก แต่เมื่อสถานการณ์ไม่แน่นอนนักลงทุนจะชะลอการลงทุนออกไปก่อน ทำให้การลงทุนจริงเกิดขึ้นน้อยเห็นได้จากตัวเลขการลงทุนทางตรง (FDI) ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปรับตัวลดลง ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนในประเทศเมื่อเกิดการะบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่การลงทุนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาขาอุปโภค - บริโภค จะได้รับผลกระทบมีการชะลอการลงทุนออกไปก่อน ดังนั้นการลงทุนหลักๆในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จะเป็นการลงทุนของภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต้องมีการลงไปติดตามเร่งรัดให้เกิดการลงทุนจริงเพื่อให้มีเม็ดเงินในส่วนนี้หมุนไปยังระบบเศรษฐกิจของประเทศ
“ในปีหน้าการส่งออกจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติไม่ได้เติบโตในระดับสองหลักเหมือนในปี 2564 เนื่องจากฐานไม่ได้ต่ำเหมือนกับในปีที่ผ่านมา เมื่อประกอบกับการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีปัญหาทั้งตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่สูง ที่เป็นปัญหาอุปสรรค ทำให้การส่งการส่งออกปีหน้าจะขยายตัวได้แค่ประมาณ 3 % เท่ากับว่าช่วยจีดีพีได้ประมาณ 0.75% ไม่ถึง 1% เมื่อรวมการส่งออกและการท่องเที่ยวจะทำให้จีดีพีขยายตัวประมาณ 1 % ดังนั้นอีก 2% จะมาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐซึ่งต้องเร่งรัดทำให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้”
นายมนตรีกล่าวต่อว่า ปี 2565 ภาครัฐควรจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการที่สามารถจ้างประชาชนมาทำงาน ซึ่งตามทฤษฎีของจอห์น เมนาร์ด เคนส์นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี ทำให้โครงการของภาครัฐดำเนินการได้แล้วเสร็จ มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากการจ้างงานขนาดใหญ่ ซึ่งมีข้อดีมากกว่าการใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินให้ประชาชนไปใช้จ่ายซึ่งการช่วยเหลือเยียวยาในลักษณะดังกล่าวควรจะลดน้อยลงไปเนื่องจากวงเงินกู้เหลือจำกัด และผลที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจจากโครงการที่เป็นการแจกเงินก็ลดลงตามลำดับ เห็นได้จากโครงการคนละครึ่งที่เริ่มมีการใช้จ่ายของประชาชนที่ร่วมโครงการลดลง จนมีวงเงินเหลือในระยะที่ 3 ไปสำหรับทำโครงการในระยะที่ 4
ทั้งนี้มองว่า โครงการช่วยเหลือเยียวยา ต่างๆของภาครัฐต้องคำนึงถึงผลทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในระยะต่อไป เช่น การลดความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มทักษะอาชีพที่จะเป็นต่อการประกอบอาชีพในระยะยาว เพื่อให้การใช้เงินที่เป็นเงินกู้มาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพให้มากที่สุด