ธปท.หวัง โอมิครอน จบก่อนครึ่งปีแรก หนุนเศรษฐกิจฟื้น

ธปท.หวัง โอมิครอน จบก่อนครึ่งปีแรก หนุนเศรษฐกิจฟื้น

ธปท.ชี้เศรษฐกิจทั้งปี 63 มีลุ้นปิดปีดีกว่าคาด จากเดิมคาดจีดีพีขยายตัว 0.9% หลังท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาดีกว่าคาด ส่งสัญญาณจับตา โอมิครอนใกล้ชิด หวังจบก่อนครึี่งปีแรก 65 หนุนเศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่อง

        ปิดปี 2563 อย่างเป็นทางการภายใต้ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงเป็นผลกระทบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมา ต้องอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังและจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการช่วยเหลือจากภาคการเงินการคลังต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบโควิด-19

   ในด้านการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แม้ข้อมูลจริงจะยังไม่ครบทั้งปี แต่จากคาดการณ์เบื้องต้นบนข้อมูลเร็วประเมินโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ธ.ค.2564 ยังทยอยเติบโตต่อเนื่องจากเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา
 

    "ชญาวดี ชัยอนันต์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. กล่าวว่า หากดูแนวโน้มเศรษฐกิจเดือน ธ.ค.2564 กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงทยอยดีขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ต้องติดตามการระบาดของ “โอมิครอน” อย่างใกล้ชิด รวมถึงซัพพลายดีสรัปชันที่ยังคงไม่หายไป รวมถึงราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง

     แต่โดยสรุปแล้วประเมินว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.9% เพราะมองผลกระทบจากโอมิครอนจะยังอยู่ในไตรมาสแรกปี 2565 มากกว่า ซึ่งแม้ ธปท.จะมีข้อมูลเพียง 20 วันของเดือน ธ.ค.นี้ แต่ภายใต้การเปิดประเทศต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 ถึง ธ.ค.2564 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยปีนี้ อาจมากกว่าที่ประเมิน

      สำหรับผลกระทบจาก “โอมิครอน” นั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เคยประมาณการว่าจะกระทบต่อภาพเศรษฐกิจไทย ในครึ่งปีแรก 2565 มากกว่า แต่โดยปกติในช่วงครึ่งปีแรก นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้มากอยู่แล้ว ซึ่งหลักๆจะมาในครึ่งปีหลังของทุกปีมากกว่า 

      ดังนั้นในเชิงผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจไม่ได้กระทบมากนัก อีกทั้งการฉีดวัคซีนมากขึ้นของคนในประเทศจะช่วยลดความรุนแรงจากการระบาดได้

      แต่ในด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีผลกระทบแน่นอน ดังนั้นผลกระทบเหล่านี้ ธปท.ได้นำไปรวมอยู่ในประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565 แล้ว ทำให้ ธปท.มีการปรับลดจีดีพีเป็น 3.4% จาก 3.9% ในการประชุม กนง.ครั้งที่ผ่านมา

       “จากที่ประเมินเศรษฐกิจเดือน ธ.ค.นี้ การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังมีต่อเนื่อง โดยจากการสอบถามผู้ประกอบการทั้งภาคการผลิต การค้า การบริโภค การส่งออก การบริการต่างๆ โดยเฉพาะโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่งสินค้า ผู้โดยสารต่างๆยังปรับตัวได้ดี แต่ต้องติดตามสถานการณ์โอมิครอน รวมถึงปัญหาซัพพลายดิสรัปชั่น การขาดแคลนวัตถุดิบ และปัญหาราคาพลังงานที่ยังอยู่ระดับสูงด้วย”

         ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้ประกอบการจากผลกระทบโอมิครอน พบว่าหลักๆแล้วกังวล 2-3 ประเด็น ทั้งมีความเป็นห่วงกำลังซื้อของประชาชนที่เปราะบาง อาจส่งผลต่อการประกอบธุรกิจในอนาคต และความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดว่าจะเข้มขึ้นหรือไม่

      รวมถึงคำสั่งซื้อในต่างประเทศจะลดลงหรือไม่ หากการระบาดมากขึ้น

         ส่วนด้านการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายใต้การอยู่ท่ามกลางวัฏจักรขาขึ้นของดอกเบี้ยโลก ซึ่ง ธปท.มองว่าประเทศไทยมีความแตกต่างจากประเทศอุตสาหกรรมหลักในด้านการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ขณะที่ต่างประเทศเศรษฐกิจสามารถกลับไปฟื้นตัวได้เท่ากับก่อนโควิดก่อนไทยแล้ว

       กนง.จะให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก โดยอยากให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้แบบไม่สะดุดก่อน ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ย อาจต้องดูสถานการณ์ของเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเป็นหลักก่อน ดังนั้นหากคนอื่นๆขึ้นดอกเบี้ย เราอาจไม่จำเป็นที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน

      หากกลับมาดูภาพข้อมูลเศรษฐกิจจริงที่ออกมาในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ทุกเครื่องชี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยทุกด้านปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

      ขณะที่ภาครัฐถือว่ามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในเดือนนี้ จากแรงส่งของมาตรการทางการคลัง ทั้งผ่าน บัตรสวัสดิการรัฐ มาตรการท่องเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องได้

      สำหรับรายละเอียดของเศรษฐกิจเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าด้านการส่งออก มีการฟื้นตัวขึ้นเกือบทุกหมวดจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า ประกอบกับการผลิตกลับมาดำเนินการได้ปกติ หลังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด

     ด้านภาคการท่องเที่ยว ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อ 1พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวเดือนนี้เข้ามา 91,255 คน จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 2 หมื่นคน

     ส่วนเครื่องชี้วัดภาคเอกชนหลังสถานการณ์ การระบาดในประเทศ  และการฉีดวัคซีนดีขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและรายได้ของครัวเรือนฟื้นตัว

     ประกอบกับมาตรการภาครัฐในรูปแบบเงินโอนยังช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนให้กลับมาเพิ่มขึ้น

       เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนก็เพิ่ม  ขึ้น ทั้งด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ทยอยฟื้นตัว

      “โดยรวมทั้งการระบาดในประเทศและการฉีดวัคซีนปรับดีขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และรายได้ของครัวเรือนฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการภาครัฐในรูปแบบเงินโอนยังช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น”

       ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ราคาในหมวดพลังงานยังอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

     ด้าน เสถียรภาพในตลาดเงิน ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเล็กน้อย เนื่องจากดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลน้อยลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลมากขึ้น

      ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาท ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้นหากเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้น จากการเปิดรับนักท่องเที่ยว

      แต่ปลายเดือนค่าเงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย จากผลกระทบของโอมิครอน ส่งผลให้ธ.ค.ที่ผ่านมา ค่าเงินบาท อ่อนค่าต่อเนื่อง ทั้งจากผลกระทบโอมิครอน และการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง