‘โรบินฮู้ด’ชักธงรบ OTA ปีเสือ! ดิสรัปเกมซูเปอร์แอพ ‘กิน-เที่ยว-ส่ง-ช้อป’
เปิดศักราชใหม่ปี 2565 สมรภูมิการแข่งขันอันดุเดือดของวงการ “ซูเปอร์แอพ” (Super App) ในไทยยังคงน่าจับตา บรรดาแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น Grab, Shopee, Lazada, Line และ airasia Super App รวมถึงบริษัทสัญชาติไทย Robinhood ต่างรุกให้บริการครอบคลุม “กิน-เที่ยว-ช้อป-ส่ง”
ควบคู่กับการปูพรมเป็น “ธนาคาร” ให้บริการทางการเงิน!
เมื่อจับโฟกัสหมวด “ท่องเที่ยว” แม้ช่วงวิกฤติโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะทุบบรรยากาศการเดินทางและจับจ่ายทั่วโลก แต่ทันทีที่สถานการณ์คลี่คลายและด้วยศักยภาพในระยะยาวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผู้ประกอบการต่างเชื่อว่าแรงอัดอั้นที่สุมอกเหล่าทัวริสต์จะผลักดันให้กระแสการเดินทางกลับมาฟื้นตัว
ระหว่างรอการฟื้นตัวของดีมานด์ ฝั่งซัพพลายผู้ประกอบการท่องเที่ยวจำเป็นต้องเอาตัวรอด! ลอยคอฝ่าคลื่นยักษ์โควิด-19 ที่ยังคงถาโถมต่อเนื่อง โดยเฉพาะการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ทั่วโลกในขณะนี้ ปั่นป่วนโรดแมพ “เปิดประเทศ 1 พ.ย.2564” ของประเทศไทย
ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์ม “โรบินฮู้ด” (Robinhood) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) อยู่ภายใต้กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า บริษัทฯสานต่อพันธกิจในการสร้างโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม ด้วยคอนเซ็ปท์ “แอพเพื่อคนตัวเล็ก” หลังโรบินฮู้ดปักธงทำธุรกิจ Food จนมีฐานลูกค้ากว่า 2.4 ล้านคนในกรุงเทพฯและปริมณฑล และเตรียมขยายไปยังหัวเมืองใหญ่ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา และหัวหินในช่วงต้นปี 2565
ขณะเดียวกันได้เดินหน้ารุกขยายสู่ธุรกิจ Non-Food ประเดิมเจาะภาคการท่องเที่ยว เปิดตัว “โรบินฮู้ด ทราเวล” เมื่อปลายเดือน พ.ย.2564 ในฐานะ “Online Travel Agent” (OTA) สัญชาติไทย เพื่อแข่งกับบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่
ด้วยการชูแนวคิด “Zero Commission” ไม่เก็บค่าคอมมิชชันจากโรงแรม หวังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกและช่วย “ผู้ประกอบการโรงแรมไทย” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤติโควิด-19 มานาน ไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ตัวแทนขายห้องพักผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีการจ่ายค่าคอมมิชชันในการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์กว่า 15-30% และสามารถนำต้นทุนที่ลดลงส่งต่อเป็นส่วนลดให้นักท่องเที่ยว โดยจะเริ่มเปิดให้บริการจองโรงแรมในเดือน ก.พ.2565
“โรบินฮู้ด ทราเวล อยากเป็นดิสรัปเตอร์ (Disruptor) ในกลุ่มการแข่งขันหมวดท่องเที่ยวของซูเปอร์แอพ สร้างการเปลี่ยนแปลงและบทสนทนา (Conversation) เกี่ยวกับการเก็บค่าคอมมิชชันจากโรงแรม แม้ในแง่การตั้งราคาห้องพักบนแพลตฟอร์ม โรบินฮู้ดทราเวลจะแซงคู่แข่งเจ้าใหญ่ๆ ไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้โรงแรมอยู่ได้ในภาวะนิวนอร์มอล มีอำนาจต่อรองมากขึ้น ธุรกิจ OTA ต้องง้อโรงแรมมากขึ้น”
ส่วนบริการจองตั๋วเครื่องบิน กิจกรรมท่องเที่ยว รถเช่า และประกันภัย จะมีการจัดเก็บค่าคอมมิชชันไม่เกิน 10% เริ่มให้บริการในเดือน เม.ย.2565 เพื่อรวบรวมประสบการณ์การเดินทางแบบครบวงจรแก่นักท่องเที่ยว
“โมเดลการทำรายได้ของโรบินฮู้ดทราเวลจะมาจากค่าโฆษณาบนแพลตฟอร์ม รายได้ค่าคอมมิชชันจากกลุ่มที่ไม่ใช่โรงแรม (Non-hotel) และการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ เมื่อโรงแรมลืมตาอ้าปากได้ เขาก็จะนึกถึงเราเป็นอันดับแรกๆ หนุนการทำกำไรแก่บริษัทแม่อีกที ในยุคที่ซูเปอร์แอพทุกรายอยากเป็นธนาคาร เพื่อให้บริการทางการเงิน ขณะที่ธุรกิจธนาคารเองก็ต้องปรับโมเดลธุรกิจไปเป็นบริษัทเทคโนโลยีเช่นกัน”
สำหรับเป้าหมายในปี 2565 ของโรบินฮู้ด ทราเวล ตั้งเป้ามีผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวเข้าร่วมแพลตฟอร์มกว่า 30,000 รายทั่วประเทศ มีจำนวนลูกค้าผู้ใช้งานกว่า 200,000 ราย มีทริปเกิดขึ้นจากแพลตฟอร์มกว่า 300,000 ทริป สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท และสามารถช่วยผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายจากค่าคอมมิชชั่นได้กว่า 200 ล้านบาท
หนุนโรบินฮู้ด ทราเวลชิงส่วนแบ่งตลาด “ท่องเที่ยวภายในประเทศ” ได้ตามเป้าที่ 8-10% ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 3 ณ สิ้นปี 2565 จากภาพรวมส่วนแบ่งตลาดการจองห้องพักออนไลน์ในไทย อันดับ 1 คือ อโกด้า (Agoda) อันดับ 2 บุ๊กกิ้งดอทคอม (Booking.com) และอันดับ 3 การจองตรงกับโรงแรม จากนั้นโรบินฮู้ด ทราเวล จะขอเพิ่มส่วนแบ่งตลาดก้าวสู่อันดับ 2 ตามเป้าหมายระยะยาว 3-5 ปีนับจากนี้
“เป้าหมายของโรบินฮู้ดทราเวลเป็นไปได้ เพราะเมื่อดูจากธุรกิจ Food แล้ว โรบินฮู้ดสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดครองอันดับ 3 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลได้สำเร็จ และนอกจาก Food กับ Travel แล้ว โรบินฮู้ดยังเตรียมบุกทำตลาด Mart ในช่วงกลางปี 2565 ตามด้วยตลาด Express ส่งของแบบด่วนอีกด้วย โดยในปี 2565 โรบินฮู้ดคาดว่าจะมีรายได้รวมอยู่ที่ 600-800 ล้านบาท”
สำหรับแผนการใช้งบลงทุนและงบการตลาดในปี 2565 โรบินฮู้ดเตรียมใช้งบลงทุนด้านเทคโนโลยี 300 ล้านบาท ขณะที่งบการตลาดเฉพาะโรบินฮู้ดทราเวลอยู่ที่ 100 ล้านบาท ส่วนงบการตลาดของโรบินฮู้ดฝั่งธุรกิจ Food จะค่อนข้างสูงอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท เป็นไปตามเกมของสตาร์ทอัพที่ต้องมีการลงทุนสูงในช่วงแรก!
“ถ้าแนวคิด Zero Commission เวิร์คในยกแรก โรบินฮู้ดอยากไปปักธงทำตลาดซูเปอร์แอพทั้ง Food และ Travel ที่ประเทศหรือเมืองอื่นๆ ในเอเชียเพิ่ม เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ทำให้ในยกที่ 2 ของการแข่งขัน เราน่าจะสู้กับคู่แข่งรายใหญ่ เช่น อโกด้า ได้ ก่อนจะขึ้นชกในยกที่ 3 เพื่อสู้ในระดับภูมิภาคต่อไป”
สู่เป้าหมายการเป็น “ยูนิคอร์น” ตัวต่อไปของเมืองไทย!