สกพอ.เร่งศูนย์จีโนม “อีอีซี” ดันโมเดลการแพทย์แม่นยำ

สกพอ.เร่งศูนย์จีโนม “อีอีซี” ดันโมเดลการแพทย์แม่นยำ

ศูนย์จีโนมิกส์พร้อมเริ่มดำเนินการเก็บตัวอย่าง 50,000 ราย ภายใน 5 ปี ลงฐานข้อมูลในไทย หวังผลักดันเข้าโครงการบัตรทอง ยกระดับบริการสาธารณสุขถ้วนหน้า เตรียมดึงลงทุนโรงพยาบาล อุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ระยะต่อไป

ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบการแพทย์จีโนมิกส์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะยกระดับให้ชุมชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข และแผนการขับเคลื่อนการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำ โดยเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ศูนย์บริการจีโนมิกส์ในอีอีซีและบริการที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบัน สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ลงนามในสัญญาจ้าง และสัญญาเช่าที่บริการถอดรหัสพันธุกรรม กับ กิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท จีโนมิกส์ อินเวชั่น จำกัด บริษัทเอไอดี จีโนมิกส์ จำกัด และบริษัท เซินเจิ้น เจ่าจือเด้า เทคโนโลยี จำกัด เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมประชาชน 50,000 ราย ในระยะเวลา 5 ปี 
 

รวมทั้งจัดเก็บเป็นข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยและเลือกการรักษาโรคที่ถูกต้อง เป็นต้นแบบในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้คนไทยทุกคน ได้รับการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ รักษาได้ตรงอาการไม่ป่วยหนัก และมีสุขภาพดีทั่วหน้าต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ แผนบูรณาการและพัฒนาจีโนมิกส์ในประเทศไทยที่ ครม.อนุมัติในครั้งนี้ครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2567 วงเงิน 4,570 ล้านบาท แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย

1.ศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อนุมัติให้จัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่เหมาะสม และพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ รวมถึงบริการและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าว โดยปี 2563 ได้มีการเตรียมการมาอย่างต่อเนื่องทั้งการกำหนดรายละเอียดทางด้านเทคนิค และวิธีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม 

2.ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) หรือไบโอแบงค์ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะเป็นผู้วิเคราะห์และจัดการข้อมูลที่ได้จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั่วจีโนมของประชากรไทย เพื่อสร้างธนาคารข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์ หรือ Data Bank 

นอกจากนี้ ความสำคัญของการพัฒนาการวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ จะมีประโยชน์โดยเฉพาะทางการแพทย์ ที่จะศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรม ค้นหาความผิดปกติบนจีโนมของประชากรไทยเพื่อเป็นฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิง ตลอดจนเพื่อการศึกษาไปข้างหน้าแบบระยะยาว และเพื่อการวิเคราะห์ สังเคราะห์หาปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องระหว่างยีนกับสุขภาพ หรือการเกิดโรคต่างๆ 

การถอดรหัสพันธุกรรมของคนไทยในแผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทยมุ่งเป้าใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็ง โรคที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและหายาก โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อ และกลุ่มเภสัชพันธุศาสตร์ ป้องกันการแพ้ยาและการเลือกใช้ยาที่เหมาะสม

สำหรับข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยาของไทยในการผลิตยาที่เหมาะสมกับประชากรในภูมิภาคอาเซียนที่มีความคล้ายคลึงกับของไทยและมีความแตกต่างจากประชากรในยุโรปหรือภูมิภาคอื่นของโลก 

รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อบริษัทยาต่างชาติในการนำยาที่เหมาะสมกับพันธุกรรมของประชากรในแต่ละกลุ่มคน โดยหากฐานข้อมูลนี้แล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยแต่ละคนที่เข้ามารับการรักษา เพราะประชากรแต่ละคนในภูมิภาคนี้จะข้อมูลทางนักธุกรรมต่างกันเพียงเล็กน้อยทำให้ค่าตรวจดีเอ็นเอในแต่ละคนมีราคาถูก แล้วนำมาเทียบกับฐานข้อมูลใหญ่ที่ไทยมี ก็จะสามารถออกแบบการรักษา การให้ยาอย่างเฉพาะเจาะจงแต่ละบุคคล ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูง

ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทยต้องการเพิ่มขีดความสมารถในการพึ่งพาตัวเอง ด้วยการวิจัย พัฒนา ผลิตและบริการ เพื่อลดการนำเข้า เพิ่มการส่งออก สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของภูมิภาค และเป็นฐานการผลิตเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทย

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินงานของศูนย์จีโนมิกส์ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่เรียบร้อยหมดแล้ว พร้อมเริ่มเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรก เพื่อเก็บลงฐานข้อมูลที่ สวทช. เป็น Data Bank ที่รวบรวมข้อมูลพันธุกรรมของคนไทย 50,000 ราย โดยในระยะต่อไปจะได้ใช้ประโยชน์ของข้อมูลดังกล่าวขยายผลการลงทุนด้านโรงพยาบาล อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนในรูปบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture)

“สิ่งสำคัญของการแพทย์จีโนมิกส์ คือ ข้อมูลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างซึ่งจะถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลประเทศไทย ซึ่งนำมาใช้ดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านสุขภาพและการแพทย์ โดยหลังจากนี้เราต้องการผลักดันให้การรักษาและบริการการแพทย์จีโนมิกส์เข้าไปอยู่ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือบัตรทอง เพื่อยกระดับบริการสาธารณสุขถ้วนหน้าแก่ประชาชนไทยทุกคน”

สำหรับข้อกำหนดในการจัดหาผู้มาทำหน้าที่ถอดรหัสพันธุกรรม จะมีตัวอย่าง DNA ที่ถูกเตรียมโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจะต้องดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งจะมีกาสุ่มตรวจโดย สวรส. โดยจะต้องใช้อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีระดับสากลในการถอดรหัสพันธุกรรมทั้ง 50,000 ตัวอย่าง ซึ่งจะต้องเป็นเทคโนโลยีที่เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิทยาศาสตร์ในระดับสากล และต้องมีบทความวิจัยที่ถูกตีพิมพ์และเผยแพร่เทคโนโลยีดังกล่าวมาไม่น้อยกว่า 10 ปี

นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทางชีวภาพ ความมั่นคงทางชีวภาพและการป้องกันการปนเปื้อนที่จะกระทบต่อผลลัพธ์จากการให้บริการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม โดยผู้รับจ้างไม่มีสิทธิในข้อมูลที่ได้จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม และข้อมูลจะต้องไม่ถูกคัดลอกหรือโอนย้ายไปที่อื่นนอกโครงการ