50 Masters “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ผู้นำ ส.อ.ท.สร้างอุตสาหกรรมยั่งยืน
องค์กรธุรกิจเข้ามามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาตลอด รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ส.อ.ท.เคยเข้าสู่บรรยากาศความขัดแย้งภายในองค์กร โดย “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ที่ขึ้นมารับหน้าที่ประธาน ส.อ.ท.ในปี 2557 เพื่อลดความขัดแย้งขององค์กร
"สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธาน ส.อ.ท.ในวัย 62 ปี ที่รับตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.สมัยที่ 4 เผยว่า จะทำหน้าที่ประธาน ส.อ.ท.สมัยสุดท้าย
“การอยู่นานๆ ไม่มีใครชอบหรอก ถึงแม้คุณจะทำดีแค่ไหนก็ตาม อีกอย่างคือควรจะเปิดโอกาสให้คนอื่นขึ้นมารับหน้าที่ตรงนี้ เพราะถึงเราเก่งแค่ไหนมุมมองความสำเร็จเราก็จะเป็นแบบเดิม โอกาสที่จะเกิดอะไรใหม่ๆ ยาก เราจะตามไม่ทัน เรียนรู้ไม่ทันคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะกลายเป็นคนส่วนใหญ่แล้ว”
ก่อนที่จะมาทำหน้าที่ประธาน ส.อ.ท.ได้บริหารธุรกิจต่อเนื่องมาอย่างมีเป้าหมาย โดยการทำให้ธุรกิจเป็นที่ยอมรับและทำให้ลูกค้าเชื่อใจและเชื่อมั่นในธุรกิจ โดยดำเนินธุรกิจบนแนวคิดของการสร้าง “ความเชื่อใจ” และที่สำคัญ “นวัตกรรม” ซึ่งธุรกิจที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด เช่น Security printing สิ่งพิมพ์ลดการปลอมแปลง
สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นและความเชื่อใจจากคน สิ่งที่ตามมาคือเมื่อเราพูดทุกคนก็พร้อมร่วมมือกัน เช่นเดียวกับวันนี้ที่ผู้บริหาร ส.อ.ท. เชื่อใจกันว่าเป้าหมายที่ทำทั้งหมดนี้จะเป็นไปในทิศทางที่ดีและเกิดผลประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยสิ่งที่ทำในฐานะประธาน ส.อ.ท.คือการแสดงให้คนอื่นเห็นว่ามีจุดยืนในความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และการสร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นปรัชญาในการทำธุรกิจมาตลอดชีวิต
แต่ถ้าจะให้พูดถึงสิ่งหนึ่งที่ยอมไม่ได้ในการทำงาน คือ การทุจริตและการผิดคำพูดที่สัญญาไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีการผิดคำพูดในบางครั้งเราต้องยืดหยุ่น ประนีประนอม ถอยคนละก้าว และปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ผมไม่ได้เป็นคนที่ต้องการปะทะ แต่จะทำก็ต่อเมื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมเกิดความเสียหาย จึงเป็นหน้าที่ให้ต้องก้าวออกมาพูดให้รัฐบาลเกิดความเข้าใจว่าเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไม่ควรปล่อยให้ได้รับความเสียหาย เช่น การผลักดันให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ การเร่งจัดหาให้ประชาชนอย่างเพียงพอเพราะเมื่อวัคซีนมาช้าทำให้ภาคอุตสาหกรรมเสียหายถึง 200,000 ล้านบาท จากการต้องปิดประเทศ
เรื่องของการบริหาร “คน” การจะให้คนเก่งมาทำงานกับเราต้องรับฟังด้วย ให้กลุ่มนี้มีโอกาสเสนอความเห็น ซึ่งแต่ละคนมีความสามารถต่างกัน แล้วเราจะมีวิธีนำคนเก่งมาร่วมงานกันทำงานได้อย่างไร จึงมีหลักคิดว่าต้องมีความยืดหยุ่น ความเข้าใจ การให้อภัยและประนีประนอม โดยการสร้างเป้าหมายร่วมกัน ด้วยความตั้งใจว่าเราจะทำให้เกิดผลสำเร็จและมองให้ออกว่าปัญหาต่อไปที่เราจะแก้คืออะไร
ยกตัวอย่าง ช่วง 3 ปีก่อน เราคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมจะต้องเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเทคโนโลยี (Technology Transformation) แล้วสิ่งที่ ส.อ.ท.เตรียมพร้อมคือ การจัดอบรมให้ความรู้ โดยการเชิญวิทยากรระดับโลกมาบอกเล่าวิทยาการใหม่ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงผลักดันการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานต่างๆ
ต่อมาในยุคโควิด-19 ปัญหาที่พบคือ วิกฤติโควิด-19 กระทบภาคอุตสาหกรรมมาก จึงมีโจทย์สำคัญว่าจะช่วยสมาชิกเราอย่างไร
ส.อ.ท.ทำหน้าที่เป็นผู้สะท้อนปัญหาให้รัฐบาลเห็นและร่วมกันทำงานอย่างไรให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น โดย ส.อ.ท.ตั้งคณะทำงานด้านการบริการ 6 ด้าน จากประสบการณ์ของการทำธุรกิจเพื่อดูแลช่วยเหลือสมาชิกอย่างตรงจุด ได้แก่
1.การตลาด 2.การเงินที่รวบรวมข้อมูลการปล่อยกู้ของธนาคาร 3.การจัดอบรมพัฒนาทักษะและความรู้ใหม่
4.การสร้างนวัตกรรมมีการจัดตั้งการทุนเพื่อนวัตกรรม 5.ด้านประสิทธิภาพผลิตอย่างไรให้ลดต้นทุนและคุ้มค่า 6.ด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นอย่างมาก เพราะอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีภาพลักษณ์เป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมจึงต้องดำเนินตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model)
ณ ตอนนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวส่งผลให้ราคาน้ำมันแพง ประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อเพื่อให้เศรษฐกิจเราดีขึ้น ผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงจะทุเลาลง โดยการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ฟื้นการท่องเที่ยวให้คนกลับเข้ามา ทำให้ประชาชนกลับมามีรายได้ โดยที่รัฐต้องทำมากกว่าการแจกเงิน เพราะสุดท้ายจะไม่เหลือให้แจก
ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่เป็นห่วงที่สุดต้องบอกว่าเป็นภาคบริการด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด รวมทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับการค้าในประเทศที่กำลังซื้อในประเทศหายไป เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ หนัง เครื่องนุ่งห่ม อัญมณี งานหัตถกรรม
นอกจากนั้น ประเทศเพื่อน เช่น เวียดนาม มีมูลค่าการส่งออกแซงไทยแล้ว แต่ไทยยังมีข้อได้เปรียบด้านสาธารณูปโภคที่ดีกว่า ความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทำให้ต่างชาติยังอยากที่มาลงทุนในไทย และไทยไม่มีเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ ไม่เจอมรสุมหรือภัยธรรมชาติรุนแรง
สิ่งที่ไทยต้องทำคือ การอัพสกิลทักษะใหม่ ชูการสร้างนวัตกรรม เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม รวมถึงรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำ เพราะเป็นประเทศเกษตรกรรมทำให้น้ำมีส่งผลมากต่อการผลิต จะแล้งไม่ได้และท่วมนานไม่ได้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เงินมหาศาลหลักแสนล้านเพื่อพัฒนาระบบการจัดการน้ำทั้งประเทศ แต่ก็ต้องลงทุนเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาวที่คุ้มค่า
ส.อ.ท.เตรียมงานใหญ่ FTI Expo โดยงานจะจัดขึ้นในเดือน ก.พ.2565 ที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน ซึ่งจะมีการนำเสนอ Future Industry โชว์เทคโนโลยีใหม่ บอกเล่าให้ทุกคนรู้ว่าต่อไปอุตสาหกรรมจะขับเคลื่อนในทิศทางไหน
สำหรับอนาคตของอุตสาหกรรมจะดำเนินตาม BCG Model และการทำเกษตรแปรรูป อาทิ อาหาร เครื่องสำอาง สมุนไพร ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยทำได้ดี แม้อาจจะไม่ได้ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจดูสวยหรู แต่จะทำให้รายได้ต่อหัวของประชาชนเพิ่มขึ้น (GDP per Capita) เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนไทยอย่างเหนียวแน่นกว่าบริษัทที่ผลิตสินค้าส่งออกรายใหญ่ อาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์
อีกเรื่องที่ต้องใส่ใจคือ การส่งเสริมนวัตกรรม โดย ส.อ.ท.ทำข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อช่วยคิดค้นไอเดียใหม่และร่วมมือกับมหาวิทยาลัย โดยการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่อ SME ซึ่งจะรวมทุนจากภาครัฐและเอกชนใน 3 ปี มีทุน 1,000 ล้านบาท
รวมทั้งกำลังหารือกระทรวงการคลังให้เอกชนผู้ร่วมทุนใช้หักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า หากสำเร็จตั้งเป้ามีทุนเพิ่ม 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นกองทุนที่ลดข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME โดยเอกชนรายใหญ่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงน้อง สนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างสตาร์ทอัพยูนิคอร์นรายใหม่ของไทย แล้วเมื่อสร้างผลงานได้ดีผลในระยะยาวจะทำให้เกิดการระดมทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่สนใจ
“เราต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี เอไอ หุ่นยนต์ การใช้จ่ายออนไลน์ แอปพลิเคชั่นกระเป๋าตังค์ ใช้สิ่งเหล้านี้เพื่อต่อยอดธุรกิจรายได้สูง โดยจะต้องไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีแต่นำมาใช้ทำมาหากิน ซึ่งในอนาคตจะมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาอีกเยอะ ถ้ารู้ทัน ปรับตัวเก่ง จะมีรายได้สูงขึ้นแน่นอน ด้านธุรกิจจะเดินไปได้ดีต้องพัฒนาตัวเอง เรียนความรู้ใหม่ และศึกษาการทำตลาดในออนไลน์”