กพช.ปรับแผนแอลเอ็นจี รับราคา-เอราวัณล่าช้า
กพช.วางแผนรับมือนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี พุ่ง เคาะ 5 แนวทางเปลี่ยนผ่านแหล่งเอราวัณล่าช้า กระทบการผลิตต่ำกว่าเป้า
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (กพช.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG (LNG Benchmark) สำหรับกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulated Market) สำหรับสัญญาระยะยาวและ/หรือสัญญาระยะกลางเป็น 3 รูปแบบ คือ 1.สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาน้ำมัน (Oil linked linear formula) 2. สมการในรูปแบบเส้นตรงที่อ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ (Gas linked linear formula) และ 3. สมการในรูปแบบ Hybrid ซึ่งอ้างอิงทั้งราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และมีจุดหักมุม (Hybrid oil gas linked formula with a kink point)
ทั้งนี้ จากราคาน้ำมันและราคาLNG ตลาดโลกยังผันผวน และในเดือนเม.ย.2565 จะมีการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานเพื่อให้สถานการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณ (G1/61) ล่าช้า ทำให้ไม่สามารถผลิตก๊าซฯได้ตามเงื่อนไขเพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ กพช. จึงมีมติให้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว( LNG) ปี 2565 จำนวน 4.5 ล้านตัน จากเดิม 1.7 ล้านตัน ถือว่าเพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวของปตท. ที่ปัจจุบัน มีอยู่ 5.2 ล้านตันต่อปี
“เบื้องต้นจะให้ ปตท.นำเข้ารวมทั้ง Shipper รายใหม่ที่สามารถนำเข้าได้ แต่ด้วยสถานการณ์ราคาตลาดจร LNG ที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าล่าสุดจะลดลงมาอยู่ในระดับ 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูแล้ว โดยขณะนี้ก็ยังไม่มี Shipper รายใหม่แจ้งความประสงค์จะนำเข้าเลย”
นายกุลิศ กล่าวว่า สำหรับแนวทางดำเนินการ คือ 1.จัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเต็ม รวมถึงจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซเพิ่มเติมจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพ ทั้งแหล่งก๊าซในอ่าวไทย และในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA) 2. เลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมหมดสัญญาวันที่ 31 ธ.ค.2564 เป็นวันที่ 31 ธ.ค. 2565 มีกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์
3. รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กลุ่มชีวมวล เพิ่มขึ้น 400 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันกลุ่ม SPP ชีวมวลมีกำลังการผลิตรวม 455 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นสัญญา Firm ที่ 20 ราย กำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ และ Non Firm ที่ 20 ราย กำลังผลิตรวม 305 เมกะวัตต์ จะทดแทนนำเข้า LNG ได้ 2 แสนตันต่อปี
4. ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ในโรงไฟฟ้าบางปะกงและโรงไฟฟ้าตะวันตก โดยมาตรการทั้งหมดขึ้นอยู่กับศักยภาพของระบบส่งที่รองรับและความเพียงพอของการจัดหาเชื้อเพลิงตามฤดูกาล
และ 5. รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในโครงการน้ำงึม 3 กำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์ เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าให้ไทยในปริมาณที่มากขึ้นและเร็วขึ้นกว่าแผนเดิม จากเดิมกำหนด COD กลางปี 2566 ก็อาจเป็นไตรมาส 4 ปี2565 แทน