"ภูเก็ต" เร่งคุมเข้ม "โอมิครอน" เพิ่ม 1 พันห้องพักรองรับทัวริสต์ติดเชื้อ
“ภูเก็ต” เดินหน้าเครื่องยนต์ท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจควบตั้งรับ “โอมิครอน” ย้ำไม่ปิด “แซนด์บ็อกซ์” เร่งคุมสถานการณ์วงจำกัด พร้อมเพิ่ม Hotel Isolation ให้ได้ 1,000 ห้องพักรับผู้ติดเชื้อ “เอกชน” ตั้งคอลเซ็นเตอร์ช่วยเหลือทัวริสต์
สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” อย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ประเทศไทยและทั่วโลกกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า จังหวัดภูเก็ตมีความพร้อมรับมือการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในฐานะเมืองด่านหน้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อดูแลควบคุมผู้ติดเชื้อทั้งในพื้นที่และผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ภูเก็ตมุ่งขับเคลื่อนการดำเนินการ 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังไปได้ด้วยดี หลังจากประชาชนในภูเก็ตได้รับความเดือดร้อน ขาดรายได้ตลอดช่วง 2 ปีของวิกฤติโควิด ส่วนที่สอง คือ การควบคุมโรคที่กำลังเร่งแก้ปัญหาให้อยู่ในวงจำกัดที่ควบคุมได้
"เปรียบเหมือนมือข้างหนึ่งต้องรบกับเชื้อโรค และมืออีกข้างต้องทำมาหากิน"
“ในเชิงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ติดเชื้อโควิด-19 เวลานี้สูงตามสัดส่วนที่เดินทางเข้ามา เพียงแต่ว่าในการรักษาพยาบาลช่วงที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนเป็นหลัก เชื่อมกับประกันสุขภาพที่ทำมา โดยทางจังหวัดภูเก็ตต้องจัดหาสถานที่ให้เพียงพอกับการดูแลนักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อ”
ก่อนหน้านี้ที่มีการเปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ตั้งแต่ 1 ก.ค.2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าภูเก็ตเฉลี่ย 400-500 คนต่อวัน แต่หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าภูเก็ตเฉลี่ย 3,000-5,000 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า ดังนั้นการติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
เดินหน้าเศรษฐกิจไม่ปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในภูเก็ต ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อวันที่ 5 ม.ค.จะสูงขึ้นเป็น 227 ราย โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากระบบ Test & Go 10 ราย และภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 46 ราย แต่ทางผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ภูเก็ตก็ไม่ได้มีใครมาขอร้องว่าให้ปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจภูเก็ตยังไปได้และอยากให้เดินหน้าต่อ ปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ โดยทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและควบคุมการระบาด
อย่างกลุ่มสถานที่ที่อาจถูกมองว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อ เช่น กลุ่มสถานประกอบการร้านอาหารที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยามค่ำคืน วานนี้ (6 ม.ค.) สถานประกอบการในซอยบางลา หาดป่าตอง ก็ได้หยุดให้บริการเพื่อทำความสะอาดครั้งใหญ่ (บิ๊กคลีนนิ่ง) และแต่ละแห่งได้มีมาตรการดูแลพนักงาน เช่น ตรวจ ATK เป็นระยะ โดยทางจังหวัดภูเก็ตได้เน้นย้ำไปว่าพนักงานบริการด่านหน้าจะต้องไม่ติดเชื้อจากลูกค้า ขณะเดียวกันจะต้องไม่นำเชื้อไปแพร่แก่คนในครอบครัว
“ในช่วง 2 ปีแรกที่เจอการระบาดของโควิด-19 คนตระหนกกันมาก แต่พอขึ้นปีที่ 3 พบว่าความตระหนกลดลงไปมาก อย่างในภูเก็ตมีการฉีดวัคซีนไปจำนวนมาก เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และมีความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยได้ดำเนินการฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันแก่ประชากรในภูเก็ตไปแล้วมากกว่า 50% และภายในเดือน ม.ค.-ก.พ.2565 จะเร่งฉีดวัคซีนที่มีในมืออีกจำนวน 1.5 แสนโดส”
ประกอบกับจังหวัดภูเก็ตเองเคยมีประสบการณ์รับมือการระบาดซ้ำของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้วในช่วงแรกๆ ของการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ก็สามารถกดยอดผู้ติดเชื้อให้ลดลงได้ แม้จะไม่ถึงศูนย์ แต่ก็อยู่ที่ระดับ 20 คนต่อวัน พอเกิดการระบาดซ้ำในปัจจุบัน ก็ได้ออกมาตรการและเตรียมความพร้อมสู้กับสงครามยืดเยื้อนี้ต่อไป เร่งกดยอดผู้ติดเชื้อให้ได้อีกครั้ง
ระงับTest&Goอานิสงส์ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
จากสถิตินักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1-4 ม.ค.2565 พบว่ามีประมาณ 1.3 หมื่นคน หรือเฉลี่ยวันละ 3,000-4,000 คน โดยตั้งแต่รัฐบาลปรับมาตรการระงับการลงทะเบียนระบบ Test & Go เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แทนการเข้ากักตัวที่โรงแรมในกรุงเทพฯ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จึงได้อานิสงส์จากจุดนี้ ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเองก็มั่นใจในมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลก
“อย่างไรก็ตาม มีบางช่วงที่เห็นการชะลอการเดินทางเข้าภูเก็ต เพราะนักท่องเที่ยวรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมอย่างไร สรุปแล้วจะมีการเลื่อนระงับการลงทะเบียน Test & Go ไปถึงเมื่อไร เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวรอให้นโยบายภาครัฐนิ่งเพื่อตัดสินใจเดินทางอีกที”
ตั้งเป้าหา Hotel Isolation 1,000 ห้อง
นายณรงค์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางจังหวัดภูเก็ตได้รับรอง Hotel Isolation หรือโรงแรมที่มีความพร้อมให้นักท่องเที่ยวของโรงแรมที่ติดเชื้อโควิด-19 กักตัวต่อในห้องพักโดยไม่ต้องย้ายออกไปโรงพยาบาลหรือฮอสพิเทล (Hospitel) จำนวน 66 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการรับรองฮอสพิเทลเพิ่มเติมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ติดเชื้ออีกด้วย
“จังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งจัดหาสถานที่เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากต่างประเทศเพิ่มเติมด้วยการเจรจากับโรงแรมต่างๆ ในภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายการหา Hotel Isolation และ Hospitel ลอตแรกอยู่ที่ 500 ห้องพัก และล็อตต่อไปตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1,000 ห้องพัก”
นอกจากนี้ ภาคเอกชนภูเก็ตยังได้จัดตั้งคอลเซ็นเตอร์เพื่อช่วยเหลือและตอบข้อสงสัยต่างๆ แก่ชาวต่างชาติ เช่น ปัญหาเรื่องการขอไทยแลนด์พาส ไม่สามารถเดินทางเข้าภูเก็ตได้ รวมถึงเรื่องประกันสุขภาพ ต้องเข้ารับการรักษาโควิด-19 ที่ไหน
ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่มีปัญหาค่าใช้จ่ายเรื่องประกันสุขภาพไม่ครอบคลุม เช่น ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ทางบริษัทประกันไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เพราะไม่อยู่ในเงื่อนไข ก็ต้องจัดหาโรงพยาบาลเอกชนที่นักท่องเที่ยวสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตัวเองไหว ส่วนนักท่องเที่ยวบางรายที่ไม่ยอมจ่ายเองก็ต้องให้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามซึ่งปัจจุบันใน จ.ภูเก็ต มี 2 แห่ง ได้แก่ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต