“ทางหลวง” เร่ง “เอ็มอาร์แมพ” โคราช - อุบลราชธานี 2 แสนล้าน
กรมทางหลวง ลุยนโยบาย MR-MAP เร่งเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น นำร่องเส้นทางกาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) - อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6) เชื่อมประตูการค้าชายแดน คาดใช้งบประมาณรวมสร้างมอเตอร์เวย์และทางรถไฟกว่า 2 แสนล้านบาท
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆนำไปสู่รูปแบบการพัฒนาที่ต้องเปลี่ยนหลักคิดไปจากเดิม MR-MAP (Motorways-Rails) หรือ โครงข่ายทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมืองกับระบบราง เป็นแผนแม่บทพัฒนามอเตอร์เวย์บูรณาการคู่ไปกับรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง ตั้งแต่เหนือจรดใต้(N-S Corridors) และตะวันออกจรดตะวันตก (E-W Corridors)และเชื่อมกับเส้นราง (Rails) จะรองรับรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และรถไฟสายใหม่ ที่จะทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ ปี2566-2580 ซึ่งจะเป็นการสร้างเส้นทางคมนาคมในมิติใหม่
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาMR-MAP ว่า ขณะนี้ ทล.อยู่ระหว่างเร่งทบทวนข้อมูลเพื่อจัดทำแผนแม่บท MR – MAP ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยเป้าหมายของกระทรวงคมนาคม ระยะแรกจะนำร่องให้เกิดใน 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี (แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี เส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง และเส้นทาง MR10 เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ทล.เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนและเอกชน รวมไปถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว 2 ครั้ง ในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย อาทิ จังหวัดอุบลราชธานี ปราจีนบุรี ระนอง นครราชสีมา ปทุมธานี และชุมพร โดยความเห็นส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบาย MR-MAP ต้องการให้สร้างทางพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟคู่ไปพร้อมกัน เพื่อลดปัญหาเวนคืนพื้นที่
ขณะที่แผนแม่บทพัฒนา MR-MAP ปัจจุบัน ทล.ได้ศึกษาเส้นทางนำร่องที่มีศักยภาพ คือ แนวเส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 6) ซึ่งจะมีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และสิ้นสุดโครงการบริเวณสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 6 อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี
โดยมีระยะทางมอเตอร์เวย์และระบบราง 451 กิโลเมตร แบ่งเป็น มอเตอร์เวย์เดี่ยว 71 กิโลเมตร มอเตอร์เวย์ขนานทางระถไฟสายใหม่ 166 กิโลเมตร และมอเตอร์เวย์ขนานทางรถไฟสายเก่า 214 กิโลเมตร โดยแนวเส้นทางโครงการจะผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด 23 อำเภอ ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
สำหรับ MR 5 ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี จะมีด่านเก็บค่าผ่านทางรวม 9 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 9 แห่ง พื้นที่บริการ Service Center 5 แห่ง และ Service Area 4 แห่ง อีกทั้งยังมีพื้นที่บริการสิ่งอำนวยความสะดวก Rest Stop 8 แห่ง โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่าหากมีการเปิดให้บริการตามแผนในปี 2568 จะมีปริมาณจราจร 21,500 คันต่อวัน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสูงสุดในปี 2593 จำนวน 52,00 คันต่อวัน
รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ขณะนี้ ทล.ได้ประมาณราคาของแนวเส้นทางเบื้องต้น การลงทุน MR5 ช่วงนครราชสีมา - อุบลราชธานี และช่วงอุบลราชธานี - สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 6 จะใช้วงเงินรวมกว่า 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนมอเตอร์เวย์รวมค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ช่วงนครราชสีมา - อุบลราชธานี 1.63 แสนล้านบาท และช่วงอุบลราชธานี – สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 6 อีกประมาณ 9.4 พันล้านบาท
นอกจากนี้ยังจะมีวงเงินการก่อสร้างทางรถไฟราว 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้แบ่งออกเป็น ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1.7 พันล้านบาท และราคาค่าก่อสร้างทางรถไฟ 2.6 หมื่นล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี หากมีการเร่งรัดพัฒนาเส้นทางนี้ จะเป็นส่วนสนับสนุนเชื่อมโยงประตูการค้าระหว่างประเทศ จากด่านช่องเม็ก เมืองปาเซ และสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 6 เป็นเส้นทางเชื่อมโยงไปที่ท่าเรือเว้ และท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม
อีกทั้งจะกลายเป็นเส้นทางเชื่อมโครงข่ายรถไฟระหว่างประเทศตามแผนงานของสมาคมรถไฟของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMRA) กระตุ้นเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการท่องเที่ยวทั้งในและระหว่างประเทศ รวมไปถึงเป็นเส้นทางที่จะลดระยะเวลาในการเดินทางข้ามภูมิภาคได้จากเดิม 5 ชั่วโมง 30 นาที เหลือเพียง 3 ชั่วโมง