นักวิชาการชี้ “หุ้น” ดีกว่า“คริปโทฯ” แนะให้ความรู้คู่กำกับสินทรัพย์เสี่ยง

นักวิชาการชี้ “หุ้น” ดีกว่า“คริปโทฯ” แนะให้ความรู้คู่กำกับสินทรัพย์เสี่ยง

นักวิชาการ "นิด้า" เทียบการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง ชี้หุ้นดีกว่าคริปโทฯเหตุมีกิจการ ปันผล มีสิทธิ์ออกเสียง ผันผวนน้อยกว่า ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลไม่มีปัจัยพื้นฐานรองรับ ชี้หน่วยงานกำกับต้องกล้าระบุชัดว่าธุรกรรมใดไม่ถูกตามกม. หนุนบาทดิจิทัลต่อยอดยกระดับพร้อมเพย์

ปรากฎการณ์การเข้ามาเก็งกำไรของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ทำให้ภาครัฐต้องเข้ามากำกับดูแลผ่านมาตรการบางอย่าง กรมสรรพากรได้เริ่มให้นักลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้กำไรจากการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ “คริปโทเคอร์เรนซี” มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกำไรที่ได้ 15% ขณะที่ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาแถลงไม่ยอมรับให้มีการใช้คริปโตฯในการชำระสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้นอกจากการกำกับดูแลแล้วจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ทางการเงิน การลงทุนควบคู่กันไปเพื่อให้นักลงทุนมีความเข้าใจความเสี่ยง และการเคลื่อนย้ายของเงินทุนมากขึ้น

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 บางกลุ่มอาชีพประสบปัญหาในการทำงาน มีรายได้ลดลง หรือแม้กระทั่งการปรับเลี่ยนรูปแบบในการทำงานทำให้มีเวลาว่างมากขึ้น ประกอบกับตลาดเงิน ตลาดทุนเป็นตลาดที่เคลื่อนไหวอยู่จึงมีคนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขของนักลงทุนที่เปิดบัญชีลงทุนหุ้นเพิ่มขึ้นประมาณ 5 แสนราย จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 1 ล้านราย ทำให้ในขณะนี้ประเทศไทยมีบัญชีผู้ลงทุนในหุ้นประมาณ 1.5 ล้านบัญชี

โดยนักลงทุนบางส่วนยังเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นหรือสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆเพื่อชดเชยกับภาวะดอกเบี้ยต่ำของธนาคารที่ต่ำในระบบธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ตามแม้การลงทุนในหุ้น และการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี  แม้จะมีความเสี่ยงเช่นกัน แต่สินทรัพย์ทั้งสองประเทศไม่เหมือนกัน โดยการลงทุนในหุ้นถือว่ามีข้อดีมากกว่า เพราะหุ้นคือการลงทุนในกิจการ การซื้อหุ้นเท่ากับซื้อสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของคือคือตราสารสิทธิที่ผู้ถือมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ์จะออกสิทธิ์ ออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น มีสิทธิ์ในการได้รับเงินปันผลจากการถือหุ้นนั้น หากกิจการมีผลประกอบการที่ดี มีกำไรมาก ผู้ถือหุ้นก็มีสิทธิ์ได้ทั้งผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา และเงินปันผลจากการดำเนินงานของกิจการ

ส่วนการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี เช่น บิทคอยน์ หรือเหรียญต่างๆ มีความผันผวนที่สูงมาก การลงทุนเป็นลักษณะของการเก็งกำไร (Speculation) โดยคาดการณ์ว่าจะมีราคาที่สูงขึ้นในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตามเมื่อสินทรัพย์เหล่านี้ไม่มีกิจการ และผลประกอบการที่อ้างอิงได้ชัดเจน ราคาการเคลื่อนไหว จึงเกิดขึ้นตามหลักดีมานต์ ซัพพาย รวมทั้งความโลภ และความกลัวของตลาดเท่านั้น

นายมนตรีกล่าวว่าเมื่อราคาของคริปโทเคอร์เรนซีมีความผันผวนมาก ดังนั้นเราจึงยังไม่เห็นการนำเอาคริปโทฯไปซื้อสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่มูลค่าสูงอย่างพวกสินค้าคงทน เช่น บ้าน หรือรถยนต์ จริงอยู่ที่มีข่าวเป็นกระแสอยู่บ้างว่าจะให้สามารถนำเอาเหรียญคริปโทฯต่างๆมาซื้อบ้าน หรือรถยนต์ได้ เนื่องจากหากบริษัทใดรับเงินคริปโตฯมาก็อาจจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงมาก หรือลดลงได้อีกหลายเท่าตัวจึงไม่มีใครที่ยอมให้ใช้สินทรัพย์เหล่านี้มาซื้อสินค้าที่มีราคาสูงมากในโลกความจริง  

สำหรับในการกำกับดูแลสินทรัพย์ที่เป็นคริปโทเคอร์เรนซีที่มีการเก็งกำไรสูงหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ละคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องมีการสื่อสารให้ชัดเจนว่าไม่สนับสนุนสินทรัพย์ประเภทนี้ โดยบอกไปเลยว่าการนำมาซื้อขายสินค้าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แทนที่จะบอกว่าไม่รับชำระเงินตามระบบชำระเงิน

“การกำกับดูแลต้องการการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ทางการเงิน และการประเมินและรับความเสี่ยงของประชาชนที่ต้องสามารถที่จะประเมินตนเองก่อนลงทุนได้ด้วย”

นายมนตรี กล่าวต่อว่าในส่วนของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประเทศไทยสามารถสนับสนุนต่อไปก็คือการทำสกุลเงินบาทดิจิทัล ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากการส่งเสริมเรื่องพร้อมเพย์ในประเทศ โดยบาทดิจิทัล เป็นการลดต้นทุนในการพิมพ์ธนบัตร การขนส่งเคลื่อนย้ายเงินทุน โดยนำเอาระบบบล็อกเชน เข้ามาเสริมระบบการชำระเงินในประเทศ ซึ่งบาทดิจิทัลเป็นทิศทางเดียวกับการพัฒนาการเงินในหลายประเทศ ที่มีสินทรัพย์และเศรษฐกิจของประเทศหนุนหลังอยู่ จึงเป็นทรัพย์สินที่มีตัวตน รัฐบาลสามารถเข้ามาสนับสนุนให้ประชาชนใช้งานในวงกว้างได้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ