พลิกธุรกิจ “กำไร!” งานด่วน... หญิงเก่ง IND
ภารกิจด่วน ! หญิงเก่ง “ดร.พรลภัส ณ ลำพูน” เร่งพลิกฟื้นธุรกิจ “อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป” กลับเป็นกำไร หลังโควิด-19 ทำขาดทุน เผยจ่อประมูลงานเมกะโปรเจคเพียบ สอดรับปีนี้รัฐแล็งดึงงานระบบรางกระตุ้นลงทุน !
มารับตำแหน่ง “รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” ในช่วงที่ธุรกิจของ บมจ. อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป หรือ IND อยู่ใน “จุดต่ำสุด” แล้ว ! ประโยคเด็ดของ “ดร.พรลภัส ณ ลำพูน” ลูกสาวคนโตในจำนวนพี่-น้อง 3 คน (พี่ชาย 1 คน และน้องชาย 1 คน) ของ “ดร. ชัยณรงค์ ณ ลำพูน” ผู้ถือหุ้นใหญ่ IND จำนวน 29.41% (ตัวเลข ณ วันที่ 16 มี.ค.2564)
“จุดเริ่มต้น” ธุรกิจของ “อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป” เมื่อราว 38 ปีก่อน หรือ ในเดือนก.ย. 2526 โดยมีกลุ่มผู้ก่อตั้งจำนวน 7 ท่าน โดยมี “ดร.ชัยณรงค์ ณ ลำพูน” เป็นวิศวกรผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรม เป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งก่อตั้งด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1,00,000,000 บาท เพื่อดำเนินกิจการด้านการให้คำปรึกษาทางวิศวกรรม เกี่ยวกับงานออกแบบเบื้องต้น และออกแบบรายละเอียด รวมทั้งงานบริหารงานโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง
ต่อมาปี 2554 ได้เพิ่มขอบข่ายงานบริการให้ครอบคลุมถึงงานออกแบบพร้อมก่อสร้าง (Design-Build) ให้แก่กลุ่มลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
หากจะพูดถึง “อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป” คงต้องบอกว่า เป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภารกิจสำคัญในการทำงานร่วมผลักดันการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในประเทศไทยหลากหลายโครงการ อาทิ ระบบขนส่งมวลชน การท่าอากาศยาน ระบบทางด่วน คลังน้ำมัน เป็นต้น
โครงการที่ “ท้าทาย” ความสามารถของวิศวกรที่ปรึกษาไทย มีทั้งโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งบริษัทได้รับสัญญาจากการท่าอากาศยานเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ให้ทำ Master Plan และออกแบบคอนเซ็ปต์ต่างๆ ควบคุมการก่อสร้าง สัญญาระยะเวลา 7 ปีครึ่ง มูลค่า 900 กว่าล้าน ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่ภูมิใจมาก
โครงการที่มีความท้าทายไม่แพ้กันลำดับถัดมาคือ การควบคุมงานก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก (สายสีน้ำเงิน) เมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา การเจาะอุโมงค์ตั้งแต่สถานีรถไฟหัวลำโพง 18 สถานี ใต้ถนนรัชดาภิเษกมาโผล่ที่จตุจักร เป็นความท้าทายวิศวกรที่ปรึกษาไทยและต่างประเทศที่ร่วมทำงานนี้จนบรรลุเป้าหมายได้ ต่อจากนั้นก็มารับงานด้านงานก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินนี้อีกกว่า 7 ปี
มาวันนี้ !! ลูกสาวคนโตของ “ดร. ชัยณรงค์ ณ ลำพูน” (พ่อ) อย่าง “ดร.พรลภัส ณ ลำพูน” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป หรือ IND หญิงเก่งที่เข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัว เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2526 ธุรกิจไม่เคยขาดทุนมาก่อน ! สะท้อนผ่านผลประกอบการงวด 9 เดือน ปี 2564 พลิกขาดทุนสุทธิ 19.06 ล้านบาท
“เป็นครั้งแรกที่ผลดำเนินงานขาดทุน แม้เจอวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ต้มยำกุ้งปี 2540 วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์) เป็นต้น”
โดย ณ ปัจจุบันธุรกิจของ IND แบ่งการให้บริการของบริษัทออกเป็น 3 ประเภท 1. งานออกแบบเบื้องต้น และออกแบบรายละเอียด (Conceptual Design & Detailed Design) 2. งานบริหารงานโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง (Project Management & Construction Supervision) และ 3. งานออกแบบพร้อมก่อสร้าง (Design-Build)
ทว่า ครั้งนี้ “วิกฤติโควิด-19” เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบหนักสุด หรือเรียกว่าอาจจะเป็นจุดต่ำสุดของธุรกิจแล้ว เนื่องจากทุกวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา ภาครัฐไม่เคยชะลอหรือหยุดงบลงทุนโครงการขนาดใหญ่เฉกเช่นครั้งนี้ แต่ครั้งนี้รัฐบาลต้องนำเงินงบประมาณทั้งหมดไปใช้จ่ายใน “จุดที่สำคัญที่สุดก่อน” ของประเทศก่อน
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของ IND เป็นธุรกิจที่ดีมาก เนื่องจากจะเติบโตสอดคล้องไปกับการลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) ของรัฐ ดังนั้น ความเสี่ยงของธุรกิจจะมีไม่มาก จะมีก็แค่ความล่าช้าของโครงการเท่านั้น ซึ่งบริษัทถือเป็นธุรกิจต้นน้ำ โดยที่ผ่านมาทำให้ประเมินได้ว่าในแต่ละปีรัฐบาลจะมีแผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ออกมามากน้อยระดับไหน
อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 คาดว่ารัฐบาลจะถึง “โครงการระบบราง” ออกมาประมูลต่อเนื่อง หลังจากช่วงปี 2563-2564 ชะลอการลงทุนและดึงงบลงทุนไปช่วยระบบสาธารณสุขของประเทศก่อน อย่าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ , โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ,โครงการทางหลวงระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)
เธอ บอกต่อว่า ปี 2565 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปี 2564 เนื่องจากประเมินประมาณงานที่จะออกมาประมูลในปีนี้จะอยู่ในระดับสูง หลังจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (63-64) รัฐบาลชะลอการลงทุนออกไป ดังนั้น เชื่อว่าในปีนี้โครงการต่างๆ ที่ชะลอออกไปจะถูกดึงกลับมาลงทุนในปีนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับ แนวโน้มผลประกอบการปี 2564 ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะพลิกเป็นกำไรสุทธิได้หรือเปล่า แต่ทิศทางผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2564 คาดว่าจะออกมาอยู่ในทิศทางบวก เมื่อเทียบกับทุกไตรมาสที่ผ่านมา โดยพิจารณาจากงานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) ประมาณ 2.24 พันล้านบาท ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาบริษัทเข้าร่วมประมูลโครงการออกแบบและก่อสร้างเพิ่มอีก 2-3 โครงการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท
โดยที่ผ่านมาโครงการที่ IND เข้าร่วมประมูลมีโอกาสที่จะคว้างานมาได้ราว 80% ทั้งนี้จากการที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้เห็นสัญญาณบวกที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทที่มีโอกาสในการเข้าร่วมประ มูลงานใหม่ๆ
ล่าสุด IND ได้รับงานโครงการออกแบบและก่อสร้างระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา กับ บริษัท โกลเบิลแอโร่แอสโซซิเอทส์ จำกัด โดยมีมูลค่าสัญญาประมาณ 2,118 ล้านบาทจึงทำให้เชื่อว่าผลการดำเนินงานทั้งปีจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 576.81 ล้านบาท
รวมทั้ง บริษัทได้รับการพิจารณาดำเนินโครงการจากสนามบินอู่ตะเภาสะท้อนให้เห็นถึงความไว้วางใจในศักยภาพของ IND ซึ่งจะช่วยหนุนให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตอย่างมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 4 เชื่อว่าจะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี 2564 อย่างไรก็ตามบริษัทมีความพร้อมในทุก ๆ ด้านที่จะรับงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อต่อยอดให้ธุรกิจที่ดำเนินการอยู่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต
ท้ายสุด “พรลภัส” บอกไว้ว่า ตั้งแต่ไตรมาส 4 ที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกของธุรกิจแล้ว หลังจากรัฐมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทำให้หน่วยเริ่มกลับมาทำงานได้บ้างแล้ว สะท้อนผ่านภาครัฐยังเร่งเดินหน้าโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานออกมา ทำให้บริษัทมีโอกาสเข้าร่วมประมูลโครงการต่างๆ มากขึ้นอีกด้วย