OTO ผนึกพันธมิตร ปั้น “โชเซียลบูโร” ปูทางผุดคริปโทฯ
"วันทูวัน คอนแทคส์" ผนึกพันธมิตรพลิกโฉมธุรกิจใหม่ ลั่นปีนี้ “นิวเอสเคิร์ฟ” ใหญ่กว่า “คอลเซ็นเตอร์” พร้อมเปิดแพลตฟอร์ม "โซเชียลบูโร" ปลายม.ค. ปูทางสร้างคริปโทฯ เป็นของตัวเอง !!
ใช้เวลาไม่นานจบดีลเทคโอเวอร์ บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO ผู้ประกอบธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำตลาด และถือว่าเป็นเลือดในอกของ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART แต่ว่าเมื่อปลายปี 2563 กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ (ตระกูลวิไลลักษณ์) ตัดสินใจขายหุ้น OTO ล้างพอร์ตทั้งหมดให้กับนักลงทุน 3 ราย ได้แก่ นายบุญเอื้อ จิตรถนอม , นายสุทธิพจน์ อริยสุทธิวงศ์ และ นายณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ จำนวน 193.70 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 69.18% ในราคาหุ้นละ 2.40 บาท รวมมูลค่า 464.88 ล้านบาท
“คณาวุฒิ วรรทนธีรัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO ให้สัมภาษณ์พิเศษ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หลังจากบริษัทมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ , โครงสร้างผู้บริหาร และล่าสุดการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยคาดว่าในปี 2565 จะเห็นโฉมใหม่ของ OTO ที่กำลังค่อยๆ ลดคราบของธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ (ธุรกิจเดิม)
และเสริมด้วย “ธุรกิจใหม่” (New Business) โดยวางเป้าไว้ว่าปลายปี 2565 สัดส่วนรายได้ของธุรกิจใหม่มากว่าธุรกิจดั้งเดิม หลังช่วงที่ผ่านมาผลดำเนินงานธุรกิจดั้งเดิมแนวโน้มเป็น “ขาลง” ต่อเนื่อง จากเทคโนโลยีดิสรัป สะท้อนผ่านแผนธุรกิจ 5 ปี บริษัทตั้งเป้ารายได้ธุรกิจเดิมอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท แต่คาดว่าบริษัทไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายแน่นอน โดยคาดปี 2564 มีรายได้ธุรกิจเดิมแค่ระดับ 500 ล้านบาทเท่านั้น
ดังนั้น ปัจจุบันบริษัทกำลังมุ่งเดินไปสู่เส้นทางใหม่..!! พร้อมกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อแตกไลน์สู่ “ธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่” (New S-curve) โดยใช้จุดแข็งที่มีอยู่ของบริษัทที่ดีทั้ง Call Center และ Contact Center เพื่อรองรับการให้บริการลูกค้า ด้วยการวางเป้าหมายให้บริษัทลูกอย่าง บริษัท อินโน ฮับ จำกัด เป็นหัวหอกในการลงทุนใน New S-curve
สะท้อนผ่าน ให้บริษัท อินโน ฮับ (บริษัทลูก) ซื้อหุ้น 76% ใน บริษัท อินไซท์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (IMG) ซึ่งทำธุรกิจให้บริการเกี่ยวกับการผลิตสื่อโฆษณาในประเทศไทย และซื้อหุ้น บริษัท ฮินซิซึ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำธุรกิจด้านผลิตงานซิลค์สกรีนเนมเพลท ลาเบล สติ๊กเกอร์ และจัดหาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า
ล่าสุด อินโน ฮับ ได้เข้าทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น กับ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) หรือ IP ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อลงทุนร่วมกันในการประกอบธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงการให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรออนไลน์ หรือ ธุรกิจการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) โดย อินโน ฮับ จะถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนสัดส่วน 50%
“การร่วมทุนครั้งนี้เพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล ซึ่งเป็นธุรกิจที่นำเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้บริโภคและเภสัชกร สามารถพูดคุยกันได้แบบทันท่วงที (Real-time) เพื่อลดข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ ทำให้ได้รับความสะดวกสบาย และประหยัดเวลา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการเหมือนกับการมารับบริการที่ร้านขายยา”
ขณะที่ อีกก้าวสำคัญของ OTO คือการลงทุนใน บริษัท บล็อคเชน ไพรม์ โฮลดิ้ง จำกัด ด้วยการถือหุ้น 20% จากทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท เพื่อมุ่งสู่การเป็นบริษัทที่ปรึกษาและพัฒนาแพลตฟอร์ม Blockchain Solutions และนวัตกรรมพลิกโลกชั้นนำของเมืองไทย ซึ่ง บล็อคเชน ไพรม์ โฮลดิ้ง ประกอบกิจการพัฒนาแพลตฟอร์มโดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีวัตถุประสงค์สนับสนุนธุรกรรมลงทุน
โดยโปรเจคแรกคือ แพลตฟอร์ม “ธุรกิจโซเชียลบูโร” (Social Bureau) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรายงานและตรวจสอบประวัติอาชญากรรมบนบล็อกเชนแห่งแรกของโลก ภายใต้ความร่วมมือของบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของเมืองไทย เช่น บริษัท อีนิกเซอร์ จำกัด บริษัท อีรูไดท์ บริการวิศวกรรม จำกัด และบริษัท อะควาริโอ จำกัด
“เราพยายามมองหาธุรกิจอีกด้านที่เป็น New S-curve และมีความเหมะสม แต่ท้ายสุดธุรกิจใหม่ต้องมาสนับสนุนธุรกิจเดิมของเราด้วย รวมทั้งการเน้นหาพันธมิตรใหม่เสริมฐานลูกค้าเพิ่ม”
“ปองพล เอี่ยมวิจารณ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บล็อกเชน ไพรม์ โฮลดิ้ง จำกัด เล่าให้ฟังว่า สำหรับแพลตฟอร์มโซเชียลบูโรทำหน้าที่คล้ายๆ กับเครดิตบูโรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติทางการเงิน ส่วนโซเชียลบูโร คือ แพลตฟอร์มการใช้พลังของโซเชียลมีเดียในการตรวจสอบสถานะของบุคคลหรือผู้ต้องสงสัย หรือ ระบุตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งคาดว่าบริษัทจะเปิดให้ประชาชนเข้ามารายงานบนแพลตฟอร์มโซเชียลบูโรได้ช่วงปลายเดือนม.ค. 2565 นี้
โดยแพลตฟอร์มโซเชียลบูโรจะเปิดให้ประชาชนทั่วโลกเข้าใช้ฟรีได้ 30 ครั้งต่อ 30 วัน ซึ่งครั้งที่ 31 ผู้ใช้บริการจะเริ่มเสียเงินจำนวน 1 ดอลลาร์ต่อครั้ง ดังนั้น หากยิ่งมีคนเข้ามาใช้บริการบนแพลตฟอร์มโซเชียลบูโรของเรามากขึ้นบริษัทก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
“รายได้ของแพลตฟอร์มโซเชียลบูโรหลักๆ จะมาจากการตรวจสอบข้อมูล โดยกลุ่มลูกค้าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการตรวจสอบข้อมูลของคนที่มาสมัครงาน คนต้องการเดินทางไปต่างประเทศที่ต้องของวีซ่า คนที่ต้องการขอกู้เงิน บริษัทประกันภัยต่างๆ ที่ต้องการตรวจสอบผู้เคลมประกันว่าข้อมูลจริงหรือเท็จ เป็นต้น และมาจากรางวัลนำจับจากคนที่ต้องการให้ตรวจสอบของมูล”
โดยแพลตฟอร์มโซเชียลบูโรตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้ให้บริการด้านกระบวนการยุติธรรมแบบครบวงจร ด้วยการเป็นช่องทางให้ผู้เสียหายได้เข้ามาแจ้งข้อมูลอาชญากรรม โดยผู้แจ้งจะได้รับค่าตอบแทนเป็น “คริปโทเคอเรนซี่” ซึ่งจะมีการออกเหรียญคริปโทฯ ชื่อว่า “จันทรา” ในระบบนิเวศน์ของโซเชียลบูโรตอบแทน ซึ่งข้อมูลที่รายงานเข้ามาจะได้รับการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องและจัดลำดับความน่าเชื่อถือของข้อมูล
โดยชุมชนผู้ใช้งานด้วยกระบวนการ Proof-of-Stake และข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ได้รับรายงานจากผู้ใช้งานทั่วโลกจะถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วย AI ที่ชาญฉลาดเพื่อระบุตัวคนร้ายที่แท้จริง ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดของคู่ค้าก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมใดๆ ได้อีกด้วย
ท้ายสุด “คณาวุฒิ” บอกไว้ว่า การออกและจัดสรรวอร์แรนต์ที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (OTO-W1) ครั้งนี้ถือเป็นการสอดรับเตรียมความพร้อมเสริมความแข็งแกร่งฐานทุน และเพิ่มสภาพคล่องการเงิน เพื่อรองรับแผนการขยายไลน์ธุรกิจเข้าสู่ Commercial Technology อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการจับมือกับพันธมิตรผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านบล็อกเชน และเหรียญดิจิทัล เพื่อสร้างแพลตฟอร์ม 2-3 แพลตฟอร์มบนนิเวศของตัวเองอีกหลายโปรเจค