5 แบงก์เดินหน้ารุก ‘ดิจิทัลแบงกิ้ง’ ต่อยอดการเติบโต-ขยายฐานลูกค้า
การรุก “ดิจิทัลแบงกิ้ง”อย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 จึงถือเป็นโจทย์สำคัญ ที่ “สถาบันการเงิน”โฟกัส และกำหนดเป็นเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในระยะข้างหน้า
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง โดยเฉพาะเป็นตัวเร่งสำคัญ ให้ประชาชนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ “ดิจิทัล” และหันมาพึ่งพาดิจิทัลมากขึ้น
“ภาคธนาคาร”ก็เร่งเร่งทรานฟอร์มตัวเอง ไปสู่ดิจิทัลแบงกิ้งมากขึ้น หากเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 เพื่อให้ทันต่อความต้องการและเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น เพราะอนาคต “ดิจิทัล”จะถือเป็นช่องทางหลัก ในการให้บริการทางการเงิน และเข้ามาทดแทนการทำธุรกรรมแบบเดิมๆ ผ่านสาขา หรือที่ต้องใช้คนให้ค่อยๆหายไปในที่สุด
ดังนั้นการรุก “ดิจิทัลแบงกิ้ง”อย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 จึงถือเป็นโจทย์สำคัญ ที่ “สถาบันการเงิน”โฟกัส และกำหนดเป็นเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในระยะข้างหน้า
“ศุภนีวรรณ จูตระกูล” รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า K PLUS โมบายแอพพลิเคชัน ถือเป็นช่องทางดิจิทัลหลักของธนาคาร ที่ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลักของธนาคาร และมีผู้ใช้งานมากกว่า 17 ล้านราย
ทั้งนี้ จากแนวโน้มที่คนไทยมีไลฟ์สไตล์ที่อยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น ทั้ง Social Media, Online Shopping, Game และ Streaming ต่างๆ เป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ K PLUS พัฒนาเป็น Open Banking Platform เชื่อมโยงทุกมิติการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลกับพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคาร สร้าง Digital Lifestyle Ecosystem เต็มรูปแบบ เพื่อให้ธนาคารเข้าไปอยู่ในทุกที่ที่ลูกค้าต้องการ และทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบาย ได้ประสบการณ์การใช้งานแบบไร้รอยต่อ
ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินและยืนยันตัวตนเพื่อสมัครบริการต่างๆ จากแพลตฟอร์มของ Partner การนำคะแนนสะสมของ Partner มาใช้จ่ายซื้อสินค้าได้บน K+ market การโอนคะแนนสะสม K Point ไปเป็นคะแนนสะสมของ Partner ต่างๆ เป็นต้น
รวมถึงการใช้จ่ายด้วย K Point แทนเงินสดในบัญชีที่ลูกค้าสามารถ scan QR Code จ่ายเงินตามร้านค้าต่างๆ ได้ด้วย
ระยะข้างหน้า ธนาคารจะมีการพัฒนาระบบ Digital Lending ทั้งบริการสมัครสินเชื่อด้วยตัวเองผ่าน K PLUS และ LINE BK เพื่อช่วยให้ลูกค้าที่เป็นคนตัวเล็กเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น เป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ของธนาคารที่ต้องการสร้างความเท่าเทียมทางการเงิน หรือ Financial Inclusion ให้เกิดขึ้น ให้คนตัวเล็กมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายและสะดวกขึ้น ลดความเสี่ยงจากการต้องไปกู้นอกระบบ
“เป้าหมายของ K PLUS ต้องการตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกับพันธมิตรในหลากหลายธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น เพิ่มความหลากหลายของวิธีชำระเงินบน K PLUS ที่ไม่ใช่แค่เงินสดในบัญชีเท่านั้น รวมถึงเพิ่มทางเลือกในการสมัคร K PLUS ให้ง่ายยิ่งขึ้น มุ่งเน้นการขยายกลุ่มผู้ใช้งานไปยังกลุ่มคนตัวเล็กที่มีรายได้น้อย รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังศึกษาและเริ่มต้นทำงาน”
“ไพโรจน์ ชื่นครุฑ” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจปี 2565 ของธนาคาร ยังเน้นการเติบโตทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ที่ต้องอาศัยทั้งช่องทางหลัก ผ่านสาขา พันธ์มิตร รวมถึงช่องทางดิจิทัลในการขยายการเติบโตให้มากขึ้น
โดยมองว่า ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล แบงก์เองก็ต้องปรับตัวเองค่อนข้างมากไปสู่ทิศทางนี้ เพราะมองว่า ธนาคารไม่ควรอยู่แบบเดิม หรือเป็นธนาคารแบบดั่งเดิมไปเรื่อยๆ ทำให้ธนาคารกรุงศรีฯ รวมถึงธนาคารอื่นๆพยายามปรับบทบาท ไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น ในการตอบโจทย์ลูกค้า และบริการในยุคดิจิทัล
“การขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค เราจะไปทั้งสองส่วนคือ ทั้งไปผ่านดิจิทัล และใช้ความไฮเทคเข้าไป และอีกด้านคือการใช้ชาแนลแบบเดิมๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ไม่ใช่แค่แบงกิ้ง แต่ต้องสามารถทำอะไรหลายๆอย่างได้มากขึ้น กลยุทธ์สำคัญปีนี้ คือการสร้างแพลตฟอร์ม รวมถึงใช้ดิจิทัลแบงกิ้ง เพื่อให้แบงก์สามารถเข้าไปเจาะใน 4 อีโคซิสเต็ม เพื่อขยายฐาน และการเติบโตให้แบงก์ทั้งไทยและภูมิภาค”
“ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์” กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL)กล่าวว่า ธนาคารยังคงเดินยุทธ์ศาสตร์ในการรุกดิจิทัลแบงกิ้งอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่า ดิจิทัลแบงกิ้งจะเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจในระยะข้างหน้า และปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลแบงกิ้งมากขึ้น
ดังนั้นจะเห็นแบงก์ยกระดับช่องทางดิจิทัล และโมบายแบงกิ้งต่อเนื่อง ทั้ง การเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆผ่านโมบายแอพฯ ทั้งในส่วน ประกัน การลงทุน เวลธ์ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าบนดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะเห็นการเพิ่มฟีเจอร์เหล่านี้ราวไตรมาสแรกปีหน้า
“ช่องทางดิจิทัล เป็นช่องทางที่สำคัญ โดยเฉพาะโมบายแบงกิ้ง ที่จะกลายสภาพเป็นกึ่งสาขาไปเรื่อยๆ เหมือนเราเปิดสาขาใหม่ทุกวัน จากจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นช่องทางนี้จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าการโอนเงิน จ่ายบิล แต่จะทำได้หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2-3ปีข้างหน้า ที่จะทำหน้าที่เสริมบทบาทของสาขาได้มากขึ้น"
“มาณพ เสงี่ยมบุตร” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า หัวใจสำคัญ สำหรับการดำเนินธุรกิจปี 2565 คือ การรุกในส่วนของดิจิทัลแบงกิ้งอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนโครงสร้างใหม่ เอสซีบี เอกซ์ (SCBx) และดิจิทัลแบงกิ้งในส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ ผ่านโมบายแบงกิ้ง SCB EASY
โดยเฉพาะ ภายใต้โครงสร้าง ของ SCBx ทั้งการรุกในส่วนดิจิทัลแบงกิ้ง การให้สินเชื่อผ่านดิจิทัล การปล่อยสินเชื่อ อนุมัติสินเชื่อผ่านฐานข้อมูล หรือบิ๊กดาต้า และอีกกลุ่มเกี่ยวกับเทคโนโลยี และแพลตฟอร์ม ซึ่งจะเป็นตัวสำคัญที่จะหนุนการเติบโต และให้ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE)ในระดับสูง มากกว่า 20% หากเทียบกับธุรกิจเดิมของธนาคารที่ ROE ปัจจุบันไม่ถึง 10%
“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารพยายามปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อสู้กับดิจิทัลดิสรับชั่น ส่งผลให้ธนาคารตัดสินใจเดินหน้ายุทธ์ศาสตร์คู่ขนาน จึงตัดสินใจเดินยุทธศาสตร์คู่ขนาน คือ ทำทั้งระบบปิดและระบบเปิด เพราะเชื่อว่า โลกข้างหน้า จะเกิด 2มิติพร้อมๆกัน ที่มีทั้งคนที่อยู่ในโลกเก่า และคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล
โดยในส่วนดิจิทัล จะเห็นการขยายในส่วนดิจิทัลแบงกิ้งอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านโมบายแอพฯ Krungthai NEXT และภายใต้แพลตฟอร์มเปิดอย่าง แอพฯเป๋าตัง ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 33 ล้านคน ที่จะเห็นการต่อยอดอย่างต่อเนื่อง โดยยังมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายอยู่ใน 5 อีโควซิสเต็มหลัก
“เรายังเร่งขยายพลานุภาพของแพลตฟอร์มที่มีอยู่ในวันนี้ให้สมบูรณ์มากขึ้น รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วบนโลกใหม่ ที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติและปรับเปลี่ยนกรุงไทยไปอย่างสิ้นเชิง ภายใต้ยุทธศาสตร์เรือเร็วหรือ speedboat ในการออกไปหาแผ่นดินใหม่ๆธุรกิจใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายใต้โลกใหม่ แบงก์จะต้องปรับเปลี่ยน และฉกฉวยวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งกรุงไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยทุกคนมีจุดแข็งต่างกันจึงพยายามยึดโยงจุดแข็งของตัวเอง และใช้ “ดิสรัปชัน” ให้เป็นโอกาส”