‘หุ้นถ่านหิน’พุ่งแรงรับปีใหม่ หลังอินโดฯ ระงับส่งออก

‘หุ้นถ่านหิน’พุ่งแรงรับปีใหม่ หลังอินโดฯ ระงับส่งออก

“หุ้นถ่านหิน” ออกสตาร์ทปีใหม่อย่างคึกคัก ปรับตัวขึ้นมากันยกกลุ่ม รับอานิสงส์ราคาถ่านหินตลาดโลกที่กำลังใส่เกียร์เดินหน้าเข้าสู่ช่วงขาขึ้นรอบใหม่ เลยดันหุ้นถ่านหินพุ่งแรงตั้งแต่ต้นปี

‘หุ้นถ่านหิน’พุ่งแรงรับปีใหม่ หลังอินโดฯ ระงับส่งออก โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (7 ม.ค.) ราคาถ่านหิน Newcastle Coal Futures ทำระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน จ่อทะลุแนวต้านสำคัญที่ 200 ดอลลาร์ต่อตัน ส่งผลให้หุ้นถ่านหินดีดตัวขึ้นมาอย่างพร้อมเพรียง

นำโดยพี่ใหญ่ประจำกลุ่ม บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU บวกมา 3 วันติด ล่าสุดปิดที่ 11.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท หรือ 1.82% เทียบกับราคาปิดปี 2564 ที่ 10.60 บาท

ตามด้วยพี่รอง บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หรือ LANNA ปิด 17 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาท หรือ 3.66% จากราคาปิดปี 2564 ที่ 15.20 บาท ส่วนบริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน) หรือ AGE ปิด 3.28 บาท เพิ่มขึ้น 0.02 บาท หรือ 0.61% จากราคาปิดปี 2564 ที่ 3.14 บาท

และน้องเล็ก บริษัท ไทย แคปปิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TCC ปิด 1.23 บาท เพิ่มขึ้น 0.01 บาท หรือ 0.82% เทียบกับราคาปิดปี 2564 ที่ 1.17 บาท

 

โดยราคาถ่านหินเริ่มปรับตัวขึ้นอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ตามดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว และมาพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงเมื่อต้นปี หลังรัฐบาลอินโดนีเซียหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกถ่านหินรายใหญ่ของโลก ประกาศระงับส่งออกถ่านหินเป็นเวลา 1 เดือน ในเดือนม.ค. นี้ เนื่องจากกังวลว่าจะมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการใช้ผลิตไฟฟ้าในประเทศ

ขณะที่ในฝั่งภาคเอกชน สมาคมเหมืองถ่านหินของอินโดนีเซียได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากกังวลว่าหากระงับส่งออกถ่านหินจะทำให้ประเทศสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตถ่านหินที่ไม่สามารถส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้ตามสัญญา

ซึ่งตอนแรกทางบริษัทผู้ผลิตถ่านหินนัดหารือเรื่องนี้กับรัฐบาลอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่ต้องถูกเลื่อนออกไปก่อน ซึ่งต้องรอติดตามว่าจะกลับมาพิจารณาเมื่อไหร่ ขณะเดียวกันในเมื่อยังไม่มีการยกเลิกคำสั่ง ผู้ผลิตถ่านหินในอินโดนีเซียต้องยังระงับการส่งออกต่อไป

สำหรับผู้ประกอบการไทยแทบทุกบริษัทเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย โดย BANPU อินโดนีเซียถือเป็นฐานการผลิตและแหล่งรายได้หลักของบริษัท ปัจจุบันมีเหมืองถ่านหินอยู่ 5 เหมือง บนเกาะกาลิมันตัน ปริมาณถ่านหินสำรวจพบ ณ สิ้นปี 2563 รวมกว่า 1,294 ล้านตัน และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 1 เหมือง ปริมาณถ่านหินสำรวจพบ ณ สิ้นปี 2563 รวมกว่า 142 ล้านตัน

ส่วน LANNA เข้าไปร่วมทุนทำเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียมาหลายสิบปีแล้ว โดยจะนำเข้าถ่านหินจากเหมืองร่วมทุนมาจำหน่ายให้กับลูกค้าในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง เป็นต้น

เช่นเดียวกับ AGE มีการนำเข้าถ่านหินจากเหมืองชั้นนำในประเทศอินโดนีเซียมาจำหน่ายให้กับลูกค้าในประเทศและส่งไปขายยังประเทศอื่นๆ

ด้านบล.เคทีบีเอสที ระบุว่า หากอินโดนีเซียยกเลิกคำสั่งระงับการส่งออกถ่านหิน บริษัทที่มีฐานการผลิตในอินโดนีเซียจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากจะไม่ต้องถูกบังคับขายถ่านหินให้กับตลาดภายในประเทศซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาส่งออก

อย่างไรก็ดี จากการสอบถามไปทาง BANPU บริษัทแจ้งว่าบริษัทลูกในอินโดนีเซียได้ปฏิบัติตามภาระผูกพันในตลาดภายในประเทศ (DMO) ซึ่งกำหนดให้บริษัทขายถ่านหินให้ตลาดภายในประเทศอย่างน้อย 25% ของการผลิตอยู่แล้ว

ทำให้ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าผลกระทบต่อ BANPU น่าจะมีจำกัด โดยยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 และ 2565 ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท และ 1.27 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่แนวโน้มกำไรในไตรมาส 4 ปี 2564 ยังสดใสมาจากราคาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่แข็งแกร่ง โดย BANPU ยังเป็น Top Pick ของกลุ่ม แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 15 บาท