แนะ! รายจ่ายรถยนต์แบบไหน ใช้ประโยชน์ทางภาษีได้บ้าง
ทราบหรือไม่ว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ "รถยนต์ที่ใช้ในกิจการ" สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ไม่ต่างจากค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของกิจการ แต่กิจการควรเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
การทำธุรกิจให้ลุล่วงได้นั้น ใครว่า “รถยนต์” ไม่สำคัญ เพราะถ้าหากทุกคนยังคงต้องเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อไปพบปะติดต่อลูกค้า หรือการขนส่งสินค้าของกิจการ รวมถึงสวัสดิการที่มีให้กับพนักงาน อย่างเช่นการใช้รถรับ-ส่งพนักงาน ล้วนแต่จำเป็นต้องใช้รถยนต์เพื่อเดินทางทั้งสิ้น
ดังนั้น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์ที่ใช้ในกิจการ ย่อมสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ไม่ต่างจากค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของกิจการ ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้หลายรูปแบบ แต่กิจการควรเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการกำลังมองหาลู่ทางนำค่าใช้จ่ายมาหักรายจ่ายทางภาษี อยู่ อย่ามองข้ามรถยนต์ที่กิจการใช้ โดยเรามีแนวทางการนำค่าใช้จ่ายรถยนต์ มาใช้ประโยชน์ทางภาษีแบบถูกวิธีมาฝากกัน
- คำนิยามของรถยนต์แต่ละประเภท
ก่อนอื่นต้องแยกประเภทของรถยนต์ที่ใช้ในกิจการกันก่อน เพราะรถยนต์แต่ละประเภทจะนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้แตกต่างกัน ซึ่งถ้าหากเป็น "รถยนต์นั่ง" หรือ "รถยนต์โดยสาร" ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ให้พิจารณาจากนิยามความหมายตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ดังนี้
- รถยนต์นั่ง คือ รถเก๋งหรือรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย และให้หมายความรวมถึงรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น รถยนต์ที่มีหลังคาติดต่อเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะถาวร ด้านข้างหรือด้านหลังคนขับ มีประตูหรือหน้าต่างและมีที่นั่ง
- รถยนต์โดยสาร คือ รถยนต์หรือรถตู้ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับขนส่งคนจำนวนมาก รวมทั้งรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน
- รถยนต์กระบะ คือ รถยนต์ที่มีที่นั่งด้านหน้าตอนเดียวสำหรับคนขับ และตอนหลังเป็นกระบะบรรทุก ซึ่งเปิดโล่งจนถึงท้ายรถโดยไม่มีหลังคา
- ซื้อรถยนต์ในนามกิจการ
หากผู้ประกอบการเลือกที่จะซื้อรถยนต์ในนามกิจการ เพื่อนำมาใช้ในกิจการ ข้อพิจารณาทางภาษีเรื่องแรกที่ต้องนึกถึงก่อนคือ รถยนต์ที่ซื้อนั้นเป็นรถประเภทไหน เข้าข่ายอยู่ในรถยนต์ที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือมากกว่า 10 คน เป็นรถยนต์นั่ง รถกระบะ หรือรถยนต์โดยสาร เป็นต้น แล้วจึงนำไปจำแนกการนำไปใช้ประโยชน์ทางภาษี ซึ่งแบ่งได้ดังนี้
- ค่าใช้จ่าย เมื่อซื้อรถยนต์ในนามกิจการ สามารถนำค่าใช้จ่ายและต้นทุนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการซื้อรถยนต์นั่งทั่วไป มาเป็นรายจ่ายหรือต้นทุนของสินทรัพย์ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีได้ แต่ห้ามนำมูลค่าต้นทุนในส่วนที่เกินหนึ่งล้านมาคำนวณกำไรสุทธิ
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม หากกิจการซื้อรถยนต์ที่นั่งเกิน 10 คน หรือรถกระบะที่เข้าเกณฑ์ จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้(เคลมภาษีซื้อได้) แต่ถ้าไม่เข้าตามเกณฑ์นี้ ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อรถยนต์นั่ง และการเช่า หรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่ายางรถยนต์ ค่าน้ำมันรถ ค่าอะไหล่ ค่าบำรุงรักษาซ่อมแซม จะถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม
- ค่าเสื่อมราคา สำหรับค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ ตามกฎหมายสามารถหักค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น โดยหักค่าเสื่อมราคาต่อปีสูงสุดได้ปีละ 200,000 บาท โดยจะต้องแบ่งหักเป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 5 ปี
ทั้งนี้ รถยนต์ที่ซื้อเป็นเงินสดราคาเกิน 1 ล้านบาท ในส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท จะต้องนำมาบวกกลับในการคำนวณภาษีนิติบุคคลประจำปีของกิจการเนื่องจากไม่สามารถบันทึกค่าใช้จ่ายส่วนเกินได้
- เช่าซื้อ VS ลีสซิ่ง ซื้อรถยนต์แบบไหนลดหย่อนภาษีได้มากกว่า
หลังจากที่กิจการตัดสินใจซื้อรถยนต์ในนามกิจการ เป็นรถยนต์นั่ง ซึ่งปกติมักจะเป็นรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่งรูปแบบการซื้อก็มีผลต่อการนำมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีด้วยเช่นกัน โดยส่วนใหญ่นอกเหนือจากซื้อ “เงินสด” แล้ว การซื้อด้วยเงินผ่อน ซึ่งมีให้เลือกอยู่ 2 แบบ ก็มีความแตกต่างกัน และนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เหมือนกันคือ
1.เช่าซื้อ คือ สัญญาเช่าซื้อ สินทรัพย์ลักษณะนี้แม้จะยังไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ถือเป็นสินทรัพย์ของธุรกิจตั้งแต่เริ่ม เมื่อผ่อนชำระหนี้ครบตามที่กำหนด ผู้ให้เช่าจะโอนกรรมสิทธิ์มาให้ผู้เช่าซื้อโดยอัตโนมัติ
สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีในส่วนของค่าเสื่อมราคาได้ตั้งแต่เริ่มผ่อนชำระ โดยกิจการบันทึกเป็นค่าเสื่อมค่าใช้จ่ายสำหรับการเช่าซื้อ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องจึงเป็นค่าเสื่อมราคาต่อปีรวมดอกเบี้ย เมื่อคำนวณแล้วจะต้องไม่เกินราคาที่จะต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
หรือให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท (ค่าเสื่อมสูงสุด 200,000 บาทต่อปี)
วิธีการนี้จะนำไปลดหย่อนภาษีจะได้น้อยกว่าแบบลิสซิ่ง คือได้น้อยกว่าค่าเช่ารายเดือน จึงเหมาะสำหรับธุรกิจ SME รายเล็กที่ยังมีภาระหนี้และภาระภาษีไม่มากนัก
2.ลีสซิ่ง คือ สัญญาเช่า จึงไม่ถือเป็นสินทรัพย์ของกิจการ (เป็นลักษณะการเช่า) เมื่อจ่ายค่าเช่าครบตามที่กำหนดในสัญญา กิจการมีสิทธิเลือกว่าจะซื้อหรือส่งคืนผู้ให้เช่า ทำให้การนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีจะอยู่ในลักษณะค่าเช่ารายเดือน ซึ่งนำไปลดหย่อนภาษีได้มากกว่าแบบเช่าซื้อ แต่ก็มีกำหนดเพดาน โดยค่าเช่าต้องไม่เกิน 36,000 บาทต่อเดือน หรือ 432,000 บาทต่อปี
และเนื่องจากลีสซิ่งถือเป็นการเช่า เมื่อจ่ายเงินค่าเช่าจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% แต่เมื่อกิจการตัดสินใจซื้อรถยนต์ ก็สามารถคิดค่าเสื่อมได้อีก
รวมถึงค่าเช่ารายเดือนถือเป็นค่าใช้จ่าย 100% สามารถนำไปหักภาษีได้เต็มจำนวน ซึ่งเหมาะกับธุรกิจที่มีกำไรสูงและต้องการลดกำไรเพื่อให้เสียภาษีน้อยลงจำนวนมาก
- เช่ารถยนต์
ในกรณีที่กิจการตัดสินใจเลือกใช้วิธีเช่ารถยนต์เพื่อใช้ในกิจการแทนการซื้อ การนำค่าใช้จ่ายจากการเช่ารถยนต์มาใช้ประโยชน์ทางภาษีนั้น สามารถทำได้หลายรูปแบบ และใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ต่างกันดังนี้
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ค่าใช้จ่าย) กิจการผู้เช่ารถยนต์สามารถนำค่าเช่ารถยนต์มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของกิจการ เพื่อเสียภาษีนิติบุคคลได้ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1) ค่าเช่าประเภทรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่นั่งไม่เกิน 10 คน สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 36,000 บาท/เดือน
2) ค่าเช่าประเภทรถยนต์เชิงพาณิชย์ คือรถยนต์ที่ใช้เพื่อดำเนินการทางการค้า เช่น การขนส่งสินค้า การขนส่งวัสดุ วัตถุดิบ และอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิต จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เป็นรถยนต์ที่ใช้เพื่อการเช่า หรือใช้เพื่องานรับจ้าง ทั้งรับจ้างรับส่งผู้โดยสาร และรับจ้างอื่นๆ สามารถนำค่าเช่ารถยนต์นี้มาหักเป็นรายจ่ายได้ไม่จำกัดจำนวน
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม หากเป็นรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน จะถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ แต่ถ้าหากเป็นรถยนต์เชิงพาณิชย์ ไม่ถือเป็นภาษีต้องห้าม สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
ส่วนค่าใช้จ่ายเครดิตภาษีซื้อ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุงดูแลรถ ค่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ค่าเบี้ยประกันภัยรถ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษี ได้เฉพาะกับรถกระบะเชิงพาณิชย์ จักรยานยนต์ หรือรถยนต์ที่นั่งเกิน 10 คนเท่านั้น ซึ่งต้องนำมาใช้กับรถของกิจการหรือรถที่ได้ทำสัญญาเช่าใช้หรือยินยอมให้ใช้ และบันทึกเลขทะเบียนรถในใบกำกับภาษีด้วย
บทสรุป “รายจ่ายรถยนต์” ที่ใช้ในกิจการ แบบไหนหักภาษีได้
- รถยนต์นั่งไม่เกิน 10 คน เช่น รถเก๋ง หากซื้อเงินสดในนามกิจการ สามารถหักค่าเสื่อมราคาได้ในส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท หากผ่อนชำระสำหรับรถยนต์ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทควรเลือกเช่าซื้อ แต่ถ้ารถยนต์ราคาเกิน 1 ล้านบาทควรเลือกลีสซิ่ง เนื่องจากกรณีเช่าสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 36,000 บาท/เดือน
รถยนต์ที่นั่งเกิน 10 คน เช่น รถกระบะ รถตู้ รถแบคโฮ หากซื้อในนามกิจการ สามารถหักค่าเสื่อมได้เต็มจำนวนตามมูลค่าสินทรัพย์ กรณีเช่าสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 36,000 บาท/เดือน
-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่