ตลท.กางแผน 3 ปี สร้างตลาดทุนแห่งอนาคต พร้อมเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลไตรมาส 2/65
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแผนปี 65-67 “เชื่อมโยงตลาดทุน มุ่งสร้างโอกาสใหม่” เดินหน้าสร้างตลาดทุนปัจจุบันควบคู่กับโลกอนาคต เตรียมเปิด "ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย" หรือ TDX ไตรมาส 2/65 พร้อมเปิด LiVE Exchange แหล่งระดมทุน SMEs ภายในไตรมาส 1/65
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) วางกรอบกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2565-2567) ภายใต้แนวคิด “เชื่อมโยงตลาดทุน มุ่งสร้างโอกาสใหม่” เดินหน้าสร้างตลาดทุนปัจจุบันควบคู่กับโลกอนาคต เชื่อมมิติการลงทุนและมิติความยั่งยืนของภาคธุรกิจและสังคมให้เติบโตไปพร้อมกัน
เตรียมเปิด “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย” (Thai Digital Assets Exchange: TDX) ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และ “ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์” (LiVE Exchange) สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ได้ร่วมเป็นเจ้าของ
พร้อมเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลาง สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ตอบรับวิถีใหม่ของผู้ประกอบการในตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกันยังมุ่งเป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจสอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงและขยายไปยังอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ เพิ่มโอกาสการลงทุนด้วยผลิตภัณฑ์เชื่อมโยงตลาดทุนโลกเพื่อให้ผู้ลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง
ด้านสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งส่งเสริมทักษะทางการเงินของคนไทย เสริมสร้างคุณภาพชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นในชีวิตวิถีใหม่ ขับเคลื่อนความยั่งยืนด้วยการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล) ร่วมขยายความรู้ไปสู่สังคมมากขึ้น พร้อมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการดูแลสิ่งแวดล้อม
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์ความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขณะที่โลกยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ ยึดมั่นวิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” มุ่งพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน พร้อมปรับตัวและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
โดยแผนกลยุทธ์ 3 ปีต่อจากนี้ (2565-2567) จะขยายสู่การเชื่อมโยงการลงทุนโลกปัจจุบันควบคู่ไปกับโลกอนาคต ให้เป็นแหล่งรวมการลงทุนของประเทศ พร้อมส่งเสริมทักษะทางการเงินของคนไทยเพื่อคุณภาพชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นภายใต้ชีวิตวิถีใหม่
รวมถึงสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนของประเทศ ผ่านกลยุทธ์ 3 ด้าน 1) เชื่อมโยงโอกาสทุกภาคส่วน 2) พัฒนานวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนไว้วางใจ และ 3) ส่งเสริมความยั่งยืนด้านการเงินเพื่อคนไทย
1) เชื่อมโยงโอกาสทุกภาคส่วน ด้วยการส่งเสริมการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นจดทะเบียนใหม่แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) ของบริษัทที่มีศักยภาพและการเติบโตสูง และการจดทะเบียนของบริษัทจากต่างประเทศ มุ่งพัฒนาแหล่งระดมทุนสำหรับธุรกิจเพื่อสังคม เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ
ด้วยการต่อยอดจาก LiVE Platform ไปสู่ LiVE Exchange โดยคาดว่าจะเปิดซื้อขายภายในไตรมาส 1 ปี 2565 พร้อมยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนโดยการบ่มเพาะให้เป็น ESG Investment Stars สนับสนุนให้บริษัทขนาดกลางและเล็ก นำแนวคิดด้าน ESG มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มจำนวนบริษัทที่อยู่ในดัชนีความยั่งยืนระดับโลก ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในตลาดทุน เพิ่มการเข้าถึงการลงทุนที่ง่ายขึ้นด้วยกระบวนการเปิดบัญชีที่มีประสิทธิภาพ
พร้อมทั้งส่งเสริมผู้ลงทุนบุคคลใช้เทคโนโลยีช่วยในการซื้อขาย ตอบโจทย์ผู้ลงทุนรุ่นใหม่ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใช้เงินลงทุนขั้นต่ำน้อย รวมทั้งเชื่อมโยงโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ อาทิ ETF DR DW และ Fractional Product ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ซื้อขายได้ต้นไตรมาส 3 ของปีนี้
2) พัฒนานวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนไว้วางใจ โดยการขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพื่อสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ ยกระดับการบริหารจัดการผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนแบบครบวงจรผ่านรูปแบบดิจิทัล พร้อมพัฒนา ESG Data Platform เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลสำหรับการลงทุนในหุ้นยั่งยืน
รวมถึงเตรียมพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่เพื่อเชื่อมต่อการซื้อขายจากสินทรัพย์ในปัจจุบันไปสู่สินทรัพย์ดิจิทัล โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDX) ภายในไตรมาส 2 ปี 2565
3) ส่งเสริมความยั่งยืนด้านการเงินเพื่อคนไทย ผ่านการส่งเสริมและการศึกษาด้าน ESG โดยการเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG ผ่านการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา รวมทั้งองค์กรต่างๆ เพื่อเผยแพร่หลักสูตรที่เป็นมาตรฐานด้าน ESG ส่งเสริมทักษะทางการเงินให้เป็นส่วนหนึ่งในทักษะชีวิตของคนไทยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นภายใต้ชีวิตวิถีใหม่
อาทิ โครงการ Happy Money เพิ่มจำนวนพันธมิตรในการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศผ่านโครงการ Climate Care Platforms รวมถึงเพิ่มศักยภาพธุรกิจเพื่อสังคม และสนับสนุนธรรมาภิบาลด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของตลาดทุนไทย
“เพื่อให้การพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ในอนาคตมีความยืดหยุ่น สนับสนุนการแข่งขันในโลกการลงทุนยุคดิจิทัล
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างคล่องตัว และเปิดโอกาสให้มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรได้อย่างเต็มที่ เชื่อว่าจะสามารถสร้างโลกการลงทุนปัจจุบันควบคู่ไปกับโลกอนาคตได้อย่างไร้รอยต่อ ตอบโจทย์ทั้งผู้ออกหลักทรัพย์ ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน พร้อมเดินหน้าดูแลคนไทยผ่านความเปลี่ยนแปลงและเติบโตไปพร้อมกัน”
สรุปพัฒนาการสำคัญและความสำเร็จปี 2564
สร้างการเติบโตให้กับตลาดทุน
- มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของหลักทรัพย์ IPO ที่ 4.54 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 7 ในเอเชีย และอันดับ 18 ของโลก
- สภาพคล่องสูงสุดในอาเซียน ตั้งแต่ปี 2555 โดยปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 9.39 หมื่นล้านบาท
- จำนวนบัญชีหุ้นเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบัญชี หรือเพิ่มขึ้น 40% จากสิ้นปีก่อนหน้า ปัจจุบันมีบัญชีซื้อขายหุ้นกว่า 5 ล้านบัญชี
- มีเกณฑ์รองรับ IPO สำหรับ New Economy ตอบโจทย์การระดมทุนของรัฐในอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายรัฐ
- ได้รางวัล “ตลาดหลักทรัพย์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2564” (Best Stock Exchange Southeast Asia 2021) จากGlobal Banking and Finance Review และรางวัล “ESQR’s Quality Achievements Award 2021” จากสถาบัน European Society for Quality Research (ESQR) สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นที่ยอมรับในระดับสากลในฐานะตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย
ส่งเสริมความคล่องตัวให้กับภาคธุรกิจ
- พัฒนาระบบซื้อขาย LiVE Exchange เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนของเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ
- เชื่อมโยงสินค้าและบริการในตลาดโลก เช่น DR Linkage ไทย-สิงคโปร์, DW on DJSI, NASDAQ-100 Index และ Hang Seng Tech Index และอ้างอิงหุ้นในตลาดฮ่องกง
- พัฒนาบริการ Streaming Fund+ ซื้อขายกองทุนรวมและสร้างแผนการลงทุน
- FundConnext มีธุรกรรมซื้อขายกองทุนรวมมากกว่า 33,000 รายการต่อวัน เพิ่มขึ้นกว่า 1.6 เท่า จากปี 2563
- พัฒนาบริการ Digital Access Platform (DAP) โดยเป็น “NDID Proxy” ของตลาดทุน พร้อมเดินหน้าเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานทางการ
สนับสนุนความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสีย
- 24 บริษัทจดทะเบียนไทยได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) สูงสุดในอาเซียนเป็นปีที่ 8 และ 11 บริษัทไทย ติดอันดับ Gold class ของ S&P Global สูงสุดของโลก
- ขยายพันธมิตรพัฒนาหลักสูตรผู้ประกอบการ เช่น NIA ปัญญาภิวัฒน์ และ Expara Thailand
- สร้างการเรียนรู้ทางการเงินสำหรับคนไทยผ่านโครงการ Happy Money, AOM YOUNG และ INVESTORY Mobile Exhibition on Schools
- เดินหน้าลดโลกร้อน Climate Care Platforms โดยมีบริษัทเข้าร่วมมากกว่า 300 บริษัท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาคารให้เป็นศูนย์ (carbon neutral)
- ออกมาตรการลดผลกระทบจาก COVID-19 ให้กับผู้มีส่วนได้เสีย